สธ.ยันยังไม่พบ “โรคแอนแทรกซ์” ในไทย ป้องกันเข้มหลังพบชาวลาวป่วย 54 ราย
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) รายงานพบผู้ป่วย 54 ราย และพบสัตว์ป่วยตาย ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม กระทรวงสาธารณสุข กำชับหน่วยงานควบคุมโรคติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังโรค “แอนแทรกซ์”ในคนอย่างใกล้ชิด เผยไทยไม่พบผู้ป่วย ตั้งแต่ปี 2544
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยหลังมีรายงานการเกิดโรคใน สปป.ลาว ได้กำชับให้กรมควบคุมโรคประสานหน่วยงานในพื้นที่เพิ่มการเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและสัตว์ โดยเฉพาะด่านช่องทางเข้าออกที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว หากพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคแอนแทรกช์ จะมีการสอบสวนโรคและรายงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทันที
สำหรับประชาชน หากพบโค-กระบือป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สำคัญห้ามสัมผัสเคลื่อนย้ายซาก หรือชำแหละเพื่อการบริโภคโดยเด็ดขาด และหากมีประวัติสัมผัสสัตว์ป่วยแล้วมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
จากการติดตามข้อมูลของ สปป.ลาว พบว่ามีการออกประกาศแนวทางควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ทั้งห้ามซื้อขายและเคลื่อนย้ายสัตว์เข้าออกภายในเมืองโดยเด็ดขาด ห้ามโรงฆ่าสัตว์ชำแหละโค-กระบือในเมือง ห้ามประกอบอาหารจากสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ
นอกจากนี้ให้เจ้าของกักขังสัตว์เลี้ยงของตนเพื่อติดตามอาการ หากสัตว์ป่วยซึม ไม่กินอาหาร ขาบวม ท้องโต ให้แยกออกจากฝูงแล้วทำการรักษา และให้ติดตามเฝ้าระวังสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด หากเกิดโรคให้รายงานสัตวแพทย์ในพื้นที่” นพ.โอภาส ระบุ
▪️ อันตรายจากโรคแอนแทรกซ์
สำหรับโรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันจากเชื้อ Bacillus Anthracis เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดหลังสัมผัสเชื้อขณะชำแหละสัตว์ป่วย หรือสัมผัสซากสัตว์ที่ป่วยตาย โดยเฉพาะวัว ควาย หรือสัตว์กินหญ้า อาการป่วยแบ่งเป็น 3 ระบบตามการสัมผัสเชื้อ คือ
1. อาการทางผิวหนัง จะมีแผลลักษณะคล้ายบุหรี่จี้บริเวณที่สัมผัสเชื้อ คือแผลเป็นสีดำ และขอบบวมแดง
2. อาการระบบทางเดินอาหาร จากการรับประทานเนื้อสัตว์ป่วยตายดิบๆ หรือปรุงไม่สุก ทำให้มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องอย่างรุนแรง มีอัตราป่วยตาย 50 - 60%
3. อาการระบบทางเดินหายใจ จากการหายใจเอาสปอร์เชื้อเข้าไป ทำให้มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ ปอดอักเสบ และเสียชีวิตได้ อัตราการป่วยตายสูงถึง 80 - 90% แต่มีความเสี่ยงน้อยมากที่จะแพร่โรคจากคนสู่คน