06 เมษายน 2567
1,608

ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ความผิดปกติของลูกน้อยที่รักษาได้

ลัดคิวหมอรามาฯ จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจกับ ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ความผิดปกติของลูกน้อยที่รักษาได้ กับ ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ อ. พญ.กนกพรรณ ชูโชติถาวร สาขาวิชาพัฒนาการและพฤติกรรม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ชโรงพยาบาลรามาธิบดี 


▪️ รู้จักภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้

ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ มักถูกเรียกสั้น ๆ ว่าโรคแอลดี หรือ Learning Disorder คือความบกพร่องในการเรียนรู้ในเด็กที่มีสติปัญญาฉลาดในเกณฑ์ปกติหรือฉลาดเหนือกว่าเด็กอื่น แต่การเรียนรู้ในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลาย ๆ ด้านช้ากว่าเพื่อนที่อยู่ในวัยเดียวกัน โดยที่การบกพร่องในการเรียนรู้ มิได้เกิดจากความเกียจคร้าน หรือปัญหาทางอารมณ์ แต่อย่างใด ในเด็กไทยพบได้ร้อยละ 6 - 10 ของเด็กวัยเรียน

การค้นหาเด็กแอลดีมีความสำคัญมาก ต้องอาศัยความเข้าใจจากผู้ปกครอง พ่อแม่ แพทย์ ครู ต้องให้ความร่วมมือกันทั้ง 3 ฝ่าย นอกจากจะต้องทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนมากขึ้น ยังทำให้เด็กอยากไปโรงเรียนมากขึ้นด้วย ที่สำคัญที่สุด คือเด็กจะรู้สึกมั่นใจ เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น 


▪️ ภาวะพร่องทางการเรียนรู้ มีลักษณะอย่างไร 

เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก ว่ามีเส้นแบ่งอย่างไรที่จะชี้ว่า เด็กคนนี้เป็นโรคแอลดีหรือไม่ เพราะไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่มีวิธีชี้วัดอย่างหนึ่งที่จะบ่งบอกได้ว่าเด็กเป็นโรคแอลดี คือ การเรียนรู้ช้า 2 ชั้นปีการศึกษา จะถือว่าผิดปกติ 

ในทางการแพทย์จะมองว่าทักษะการเรียนรู้ หรือสติปัญญาห่างจากด้านอื่น ๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ เช่นเรียนรู้ด้านอื่น ๆ ได้ดีมาก แต่ไม่สามารถเรียนรู้บางอย่างได้ เช่น การเขียน ไม่สามารถทำได้ มีความแตกต่างที่ชัดเจน เทียบกับตัวเอง

เมื่อพบว่าเด็กไม่สามารถเรียนรู้ในระดับเดียวกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งครูอาจจะสังเกตได้ตั้งแต่เด็กเรียนอยู่วัยอนุบาล ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้โตขึ้นจนถึงระดับประถมศึกษา ก็สามารถหาทางแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้ 

โดยวิธีการค่อย ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ และวินิจฉัยเมื่อโตขึ้นในแต่ละช่วงวัย เช่น จะขึ้น ป.1 แล้วแต่ยังไม่สามารถอ่านได้ พ่อแม่ และคุณครู ก็ต้องหาวิธีการสอนอาจจะต้องเริ่มตั้งแต่ให้รู้จักสระ พยัญชนะ จากระดับง่าย ๆ เมื่อโตขึ้นก็จะยากขึ้น ก็อาจจะต้องพึ่งคุณครู 

เมื่อไหร่ต้องมาโรงพยาบาล ? เป็นคำถามยอดฮิตเสมอ ซึ่งจะต้องดูว่า เมื่อพ่อแม่ฝึกมาระยะหนึ่งแล้ว ทำเต็มที่แล้ว แต่เด็กยังไม่สามารถทำได้ หรือยังช้าอยู่มาก ก็อาจจะต้องนำเด็กมาพบผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาล เพื่อวินิจฉัยกันอย่างจริงจัง

 20240406-b-01.jpg 


▪️ ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้มีกี่ชนิด

👉 ด้านการอ่านสะกดคำ 

• อ่านสะกดคำไม่คล่อง
• อ่านช้า อ่านผิด จับใจความไม่ได้

👉 ด้านการเขียน 

• เขียนไม่ได้ แบ่งวรรคตอนผิด 
• เขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง ลายมือบกพร่อง

👉ด้านคณิตศาสตร์ 

• ไม่เข้าใจจำนวน ไม่เข้าใจหลักการคำนวณ
• แก้โจทย์ปัญหาคณิตศาสตร์ไม่ได้ 

ซึ่งทักษะด้านการเรียนรู้เหล่านี้ เป็นพื้นฐานสำคัญด้านวิชาการ ที่เด็กจำเป็นเรียนรู้ตามวัยเพื่อต่อยอดการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และใช้ชี้วัดความสามารถกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่โรงเรียน เมื่อเด็กมีความบกพร่องด้านใด ก็จะมองเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเทียบกับเพื่อนในวัยเดียวกัน 


20240406-b-02.jpg


▪️ สาเหตุภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ 

- พันธุกรรม
- สิ่งแวดล้อม
- การทำงานของสมอง 

ซึ่งเป็นปัจจัย 3 อย่างที่สัมพันธ์กัน เมื่อเด็กไม่ถนัด ก็อาจจะทำให้ตามเพื่อนไม่ทันในบางเรื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการฝึกในอนุบาล พอถึงช่วงวัยประถม ก็ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ใกล้เคียงกลุ่มเพื่อนมากขึ้น 

ปัญหาของความบกพร่องทางการเรียนรู้นี้ อาจจะมาส่วนของสมองที่ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ช้า หรือไม่อาจแยกแยะ การผสมเสียงพยัญชนะ สระ เพื่ออ่านคำได้ การฝึกอาจจะเป็นรายบุคคล หรือกลุ่มย่อย จะได้ผลกว่า 

อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับการเข้าสังคม อาจมีความถนัดด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ นอกจากนี้เทคโนโลยีในปัจจุบันก็สามารถช่วยในการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น เด็กที่มีปัญหาด้านการเขียน การสะกดคำ สามารถค้นคว้าทางอินเตอร์เนต และในการใช้ชีวิตประจำวันก็แทบไม่มีการเขียนเพื่อการสื่อสาร แต่ใช้การพิมพ์ หรือค้นคว้าข้อมูลจากคอมพิวเตอร์แทน เมื่อเติบโตขึ้นปัญหาเหล่านี้ก็จะลดลง เด็กบางคนที่เก่งคณิตศาสตร์ ก็สามารถเรียนรู้ ได้ตามปกติ บางคนเรียนแพทย์ก็มี 

20240406-b-03.jpg

▪️ การช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ 

- อธิบาย ให้เด็กและครอบครัว เขาใจปัญหาอย่างถูกต้อง
- ช่วยเหลือ ทางการเรียน ได้แก่ แผนการเรียนรายบุคคล หรือ ปรับการประเมินผลให้เหมาะสม
- สนับสนุนจุดแข็งแรงและข้อดีอื่น ๆ นอกจากการศึกษา 
- วินิจฉัย ตรวจสอบปัญหาอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมกันและให้ความช่วยเหลือ 


▪️ การสังเกตภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ 

- ในวัยอนุบาล การอ่าน เขียน สะกดคำ จะเริ่มจากการที่เด็กไม่ชอบคำคล้องจอง จะไม่เข้าใจ แยกแยะเสียง ผสมเสียงไม่ค่อยได้ 
- วัยประถม ดูจากเกณฑ์การเรียน ทั้งภาษา และคณิตศาสตร์ 

คุณครูที่โรงเรียน สามารถช่วยเหลือเด็กได้เป็นอย่างดี หากมีความเข้าใจเด็กที่เป็นแอลดี จะทำให้เด็กค่อย ๆ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ  จนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเพื่อน ๆ  ได้ พ่อแม่ จะต้องช่วยฝึกฝนไปพร้อม ๆ กัน 

คนเราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกด้าน เมื่อเด็กโตขึ้น เขาสามารถต่อยอดจากความสามารถที่ถนัด ที่เป็นจุดเด่น โดยไม่มีอุปสรรคในการใช้ชีวิตจากจุดด้อยในช่วงปฐมวัย 

โรคแอลดี ไม่มียารักษาโดยตรง ยกเว้นมีภาวะอื่นแทรกซ้อน เช่น สมาธิสั้น แพทย์ก็จะจัดยาควบคุมสมาธิ เพื่อให้เด็กมีสมาธิในการเรียนรู้มากขึ้น




รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/cEs5NLLoKfE?si=KcPxbvyk5amtPxhP



ติดต่อโฆษณา!