คนภาคเหนือป่วยมะเร็งปอด ทางเดินหายใจพุ่ง พบฝุ่นจิ๋ว PM2.5 กระตุ้นยอดป่วย
หลายจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะ เชียงใหม่ ลำปาง ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตฝุ่นจิ๋ว PM2.5 กระตุ้นอัตราการป่วยโรค หอบ หืด โรคทางเดินหายเพิ่มขึ้น โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งปอดเพิ่มขึ้น ระยะยาวส่งผลภูมิคุ้มกันลดลง
▪️ สาเหตุ การเกิดฝุ่นตลบเมืองเชียงใหม่
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เผยค่าฝุ่นได้เพิ่มสูงขึ้นตลอดเดือนมี.ค และ เม.ย. จากการเผาป่าที่ยังไม่ลดลง วันที่ 2-3 เม.ย.มีการเผา 561 จุด และ 565 จุดตามลำดับ ฝ่ายดับไฟก็ระดมช่วยกันเต็มที่
ขณะที่การเผาในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งในช่วงวันที่ 1 - 6 เมษายน ประเทศเพื่อนบ้านมีการเผาถึง 6,000 - 7,000 จุด เป็นควันที่ลอยมากระทบพื้นที่เชียงใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้
▪️ อันตรายจาก PM2.5
ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก มีผลต่อปอด หัวใจ สมอง ไต และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
ทั้งนี้ PM 2.5 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกัน และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม เพราะ PM 2.5 ทำเกิดการอักเสบทั่วร่างกายได้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ PM2.5 ทุก 10 ไมโครกรัม ส่งผลให้อัตราการตายของผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 10% รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่ตามมา
▪️ อัตราการป่วยมะเร็งปอด โรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น
นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยพบผู้ป่วยมะเร็งปอด และฌรคติด้ชื้อทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นในภาคเหนือ
โดยพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใหม่เฉลี่ยปีละ 2,487 ราย/ปี หรือประมาณวันละ 7 ราย และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ยปีละ 1,800 ราย/ปี หรือประมาณวันละ 5 ราย
ทั้งนี้ 80% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุ มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดที่สูงในภาคเหนือมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญหลายประการ
ทั้งนี้มะเร็งปอดเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ควันบุหรี่ การสัมผัสก๊าซเรดอน การสัมผัสแร่ใยหิน การสัมผัสรังสี ควันธูป และมลภาวะทางอากาศต่างๆ ซึ่งฝุ่น PM 2.5 จัดอยู่ในส่วนนี้
อ้างอิงข้อมูลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (ข้อมูลปี 2566 และปี 2567) พบว่าผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด ภูมิแพ้ เลือดกำเดา โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่าในปีนี้ เมื่อเทียบกับ 2566
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ระบุว่า ได้รับผู้ป่วยซับซ้อนไว้รักษาด้วย ขณะนี้เตียงผู้ป่วยของศูนย์หัวใจและเตียงของศูนย์สมอง ขณะนี้เกือบจะเต็มศักยภาพแล้ว แต่ยังพอรับมือได้อยู่
นอกจากนี้พบว่าอัตราของผู้ป่วยมะเร็งปอดในภาคเหนือยังคงสูงกว่าภาคอื่น ๆ อาจจะมาสาเหตุ PM 2.5 ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดมากขึ้น และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีน
นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า PM 2.5 มีผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาพของประชาชน
โรคที่จะมีผลในระยะสั้น มีอยู่ 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 2.กลุ่มโรคตาอักเสบ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 4.กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด
ขณะที่ในระยะยาว จะมีผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะมะเร็งปอด หากไม่สามารถที่จะปกป้องตนเองได้
▪️ มาตรการช่วยเหลือประชาชน
ติดตามเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุ 0 - 5 ปี สตรีตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เคาะประตูให้ความรู้ แจกหน้ากากสู้ฝุ่น PM 2.5 ในชุมชน ติดตามการเยี่ยมบ้านกลุ่มเสี่ยงในชุมชนด้วยทีม 3 หมอ จำนวน 11,720 ราย แจกหน้ากาก ทั้งหมด 153,557 ชิ้น รวมทั้งการจัดกิจกรรม Big Cleaning Day ล้างทำความสะอาดถนน รดน้ำต้นไม้
หากต้องอยู่ในสถานที่มีฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยสูงแนะประชาชนควรใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นขนาดที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอนได้ เช่น หน้ากาก N95 หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และหากมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว