14 เมษายน 2567
1,375

รู้ทัน อันตราย “โรคปอดอักเสบ”


โรคปอดอักเสบเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยปกติแล้วโรคปอดอักเสบมักจะเกิดจากการที่ปอดติดเชื้อ อาจเกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งก็จะมีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนเสียชีวิตได้

 โดยในบทความนี้จะพูดถึงโรคปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส โดยเชื้อนิวโมคอคคัสนี้ มีชื่อเต็มว่า Streptococcus pneumoniae ปกติเราจะสามารถพบเชื้อนี้ได้ทั่วไปในโพรงจมูกและลำคอทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ง่าย คล้ายไข้หวัด และทำให้เกิดโรคได้ในทุกกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่ถ้าร่างกายแข็งแรงก็จะไม่แสดงอาการแต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อนี้สามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงขึ้นได้ ทั้งนี้เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ และทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตำแหน่งอื่น ๆ ได้อีก ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ และการติดเชื้อแบบรุกราน หรือ ไอพีดี (IPD, Invasive Pneumococcal Disease) ซึ่งหมายถึงภาวะที่เชื้อสามารถรุกรานผ่านเนื้อเยื่อชั้นต่าง ๆ เข้าไปในกระแสเลือดทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนกระจนช็อกและเสียชีวิตได้

 

สาเหตุ

  • การได้รับเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสจากภายนอกผ่านการไอหรือจาม หรือผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ
  • การติดเชื้อเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงและทำให้เกิดโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสที่อยู่ในร่างกายอยู่แล้ว

 

อาการ

  • ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาเจียน
  • ไอมีเสมหะจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีลักษณะ ขุ่น ข้น เขียว
  • เจ็บหน้าอกเวลาไอหรือหายใจ
  • หายใจหอบเหนื่อย
  • คอแข็ง ชักเกร็ง
  • อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

 

การตรวจ

  • การซักประวัติ สอบถามอาการ
  • การตรวจร่างกาย เช่น ฟังเสียงปอด และเอกซเรย์ปอด
  • ตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือด เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
  • ตรวจวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อดูประสิทธิภาพของปอด
  • ตรวจและเพาะเชื้อจากเสมหะและเลือด เพื่อหาชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค

 

แนวทางการรักษา

  • การใช้ยาปฏิชีวนะ โดยผู้ป่วยควรได้รับยาการให้ยาปฏิชีวนะเร็วที่สุด หลังได้รับการวินิจฉัยว่าสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียภายใน 4 – 6 ชั่วโมง 
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ดูแลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ, ดูแลให้ได้รับสารน้ำและอาหารที่มีเกลือแร่เพียงพอและเหมาะสม, อาจพิจารณาให้ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ ตามคำแนะนำของแพทย์
  • รักษาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในกรณีของกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงมาก เช่น ภาวะหายใจล้มเหลว

 

การป้องกัน

  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม
  • รักษาสุขอนามัย ป้องกันการสัมผัสหรือการได้รับเชื้อ
  • ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังการหยิบจับสิ่งของ

 

คำแนะนำการรับวัคซีนป้องกันโรคนิวโมคอคคัส

  • แนะนำการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) เสริมในเด็กอายุ 2-15 เดือน
  • แนะนำการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) หรือชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV23) ในผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป
  • แนะนำกาารับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) หรือชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV23) ในผู้ที่มีอายุ 2-64 ปี ในบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อ เช่น คนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์/มะเร็ง/ปลูกถ่ายอวัยวะ) และ ผู้ที่มีโรคประจำตัว (โรคหัวใจ/โรคปอด/โรคไต/เบาหวาน/สูบบุหรี่/ดื่มสุรา/น้ำไขสันหลังรั่ว)

 

การเป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสถ้าไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้นการได้รับวัคซีนป้องกันจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ ถ้ามีอาการที่ผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยความปรารถนาดีจาก “ทันข่าวทันโรค


รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/ENBezMd9Hho?si=02uHzGHjIFQ5xm0E

ติดต่อโฆษณา!