อยู่อย่างไร ให้ปลอดภัย ในหน้าร้อน
สำหรับฤดูร้อนปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอุณหภูมิสูงสุดสำหรับฤดูร้อนจะสูงถึง 44.5 องศาเซลเซียส ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนมากอาจจะทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบรุนแรงได้ โดยเฉพาะอันตรายจาก ฮีทสโตรกหรือลมแดดที่จะพบบ่อยมากขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นมากจนทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้
สาเหตุของฮีตสโตรก
- อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้น
- ออกกําลังกายหรือใช้แรงมากขณะที่อยู่ในสภาพอากาศร้อน
- สวมเสื้อผ้าที่ไม่ระบายอากาศ ทำให้เหงื่อไม่สามารถระเหยออก อุณหภูมิร่างกายจึงสูงขึ้น
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งจะไปรบกวนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
อาการของฮีตสโตรก
- อุณหภูมิร่างกายที่วัดจากภายในร่างกาย สูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- พฤติกรรมหรือสภาพจิตใจเปลี่ยนไป เช่น สับสนเฉียบพลัน หงุดหงิดฉุนเฉียว พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ ชัก หรือโคม่า
- ผิวหนังจะแห้งและร้อน
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ผิวหนังแดงขึ้น
- หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบถี่
- ปวดหัวตุบ ๆ
การปฐมพยาบาลฮีตสโตรก
- กรณีที่มีภาวะความรู้สึกตัวผิดปกติไป ให้คลำชีพจรดูว่าการหายใจผิดปกติหรือเปล่า ถ้ามีการหายใจที่ผิดปกติต้องทำ CPR และโทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว
- การแช่น้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิและลดความเสี่ยงที่อวัยวะจะได้รับความเสียหายหรือเสียชีวิต
- เทคนิคการระบายความร้อนลดอุณหภูมิ ด้วยการพ่นละอองน้ำเย็นลงบนร่างกายขณะที่เป่าลมจากพัดลมเพื่อทำให้เกิดการระเหยที่เร็วขึ้นและทำให้ผิวเย็นลง
- การใช้ผ้าห่อน้ำแข็งห่มตัวและประคบน้ำแข็งลงบนคอ หลัง รักแร้ และขาหนีบ
- แพทย์อาจให้รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อให้ผู้ป่วยหยุดสั่นจากการลดอุณหภูมิร่างกายโดยวิธีข้างต้น เพราะการที่ร่างกายสั่นจะทำให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้การรักษาที่ทำไปแล้วนั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร
การป้องกันการเกิดฮีตสโตรก
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่บริเวณอากาศร้อนจนเกินไป โดยเฉพาะหากเกิน 40 องศาเซลเซียส
- ปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป ทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมงหรือถี่กว่านั้นหากเหงื่อออกหรือว่ายน้ำ
- สวมหมวกปีกกว้างและแว่นกันแดด
- สวมเสื้อผ้าที่เนื้อผ้าเบาบาง ระบายอากาศได้ดีและไม่รัดจนเกินไป
- ดื่มน้ำบ่อย ๆ
- งดทํากิจกรรมหนัก ๆ หรือออกกําลังกายในสภาพอากาศร้อน
- ไม่ปล่อยให้เด็กหรือสัตว์เลี้ยงอยู่ในรถที่จอดทิ้งไว้ในที่ที่อากาศร้อนเพราะอุณหภูมิในรถจะเพิ่มขึ้นเร็วมาก
- ระมัดระวังหากกําลังรับประทานยาบางชนิดหรือมีโรคประจำตัวที่อาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด
นอกจากนี้ในช่วงฤดูร้อนมักจะเป็นช่วงที่พ่อแม่ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปพักผ่อนตากอากาศ ซึ่งอาจจะมีกิจกรรมคลายร้อนอย่างการว่ายน้ำเข้ามาเป็นกิจกรรมสร้างสีสัน อย่างไรก็ดีอุบัติเหตุที่มักจะพบบ่อยในการว่ายน้ำคือ จมน้ำ
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยจมน้ำ
- รีบนําผู้ที่จมน้ำออกจากที่เกิดเหตุและให้อยู่ในที่ปลอดภัย
- จัดท่าให้นอนหงายราบบนพื้นที่มีความแข็ง
- หากเคยได้รับการฝึกช่วยชีวิตผู้จมน้ำมาแล้วและผู้ให้การช่วยเหลือมีความแข็งแรง การช่วยหายใจเริ่มได้ตั้งแต่อยู่ในน้ำและให้รีบพาขึ้นจากน้ำอย่างรวดเร็ว
- ในขณะเดียวกัน ให้ผู้อื่นรีบโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือและขอรถพยาบาลที่หมายเลข 1669 โดยแจ้งสถานการณ์ สถานที่เกิดเหตุและหมายเลขติดต่อกลับ
การป้องกันการจมน้ำ
- การไม่ว่ายน้ำคนเดียว
- การสวมชูชีพทุกครั้งระหว่างที่อยู่ในน้ำ
- การทํารั้วกั้นสระน้ำ
ในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิจะสูงขึ้นมาก การดูแลร่างกายจึงเป็นสิ่งจำเป็น เราควรดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่ที่อากาศร้อนจัด ส่วนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็ต้องมีความระมัดระวัง ถ้ามีอาการที่ผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยความปรารถนาดีจาก “ทันข่าวสุขภาพ”
รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/cH3OaATG5Nc?si=7q437UIepwSq39Wl