04 พฤษภาคม 2567
1,081
ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัญหากวนใจที่ไม่ควรละเลย
หากคุณต้องตื่นขึนมากลางดึกเพื่อปัสสาวะมากกว่าหนึ่งครั้งต่อคืน อาจเป็นสัญญาณบอกอาการว่า คุณเป็นโรคปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ซึ่งเป็นอาการกวนใจ ทำให้นอนหลับไม่เพียงพอ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันในเช้าวันถัดไป จนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ
โดยทั่วไปร่างกายจะผลิตปัสสาวะออกมาน้อยในช่วงกลางคืน ทำให้เรานอนหลับได้ต่อเนื่อง 6 - 8 ชั่วโมง แต่อาการนี้สามารถพบได้ ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งเกิดได้หลายปัจจัย แต่มักจะพบมากในผู้ชายสูงอายุ ทั้งพฤติกรรมก่อนนอน และปัญหาสุขภาพต่างๆ
ผศ. พญ.ศิริสุชา โสภณคณาภรณ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และ รศ. นพ.ชินเขต เกษสุวรรณ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มาร่วมแชร์ความรู้และคำแนะนำในการป้องกัน และรักษาโรคปัสสาวะบ่อยกลางคืน
🚩 สาเหตุปัสสาวะบ่อยเกิดขึ้นอย่างไร
โรคปัสสาวะบ่อย เกิดได้จากหลายเหตุแตกต่างกันไป สำหรับผู้ชายอาจมีสาเหตุจากต่อมลูกหมากโต หรือภาวะเบาจืด บางคนเป็นโรคหัวใจ ส่วนผู้หญิงจะมาจากโรคต่อมปัสสาวะไว ติดเชื้อกระเพาะปัสสาวะ ทั้งคู่เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องตื่นมาตอนกลางคืนเพื่อปัสสาวะรบกวนการนอนในช่วงกลางคืน
นอกจากนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการปวดปัสสาวะบ่อย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคไต โรคนิ่ว หรือติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ทั้งนี้ต้องติดตามด้วยว่ามีภาวะปัสสาวะเยอะมานานหรือยัง
🚩 ปัสสาวะบ่อยแค่ไหน ถือเป็นโรคปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
ใน 24 ชั่วโมง ถ้าเราปัสสาวะมากกว่า 8 ครั้ง หรือตอนกลางคืนลุกขึ้นมาปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป จะถือได้ว่ามี “ภาวะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน”ส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอจนอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบสาเหตุของการปัสสาวะบ่อย ก็ต้องไปรักษาที่มาหรือต้นตอของโรค นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน โรคไต หรือติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
🚩 อาการแบบไหนที่ต้องไปพบแพทย์
- ปัสสาวะลำบาก เจ็บขณะปัสสาวะ
- เจ็บหรือมีก้อนบริเวณท้องน้อย
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ปัสสาวะมีเลือดปน หรือสีขุ่น
- มีไข้ร่วมด้วย ซึ่งอาจจะสาเหตุจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
การตรวจหาสาเหตุ ทำได้ไม่ยากนัก เช่น การตรวจปัสสาวะ ซึ่งผลที่ออกมา จะบอกเราได้ว่า มีสาเหตุมาจากโรคบางชนิดหรือไม่ เช่น อาจเป็นโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ
🚩 ปัสสาวะบ่อยรับมืออย่างไร
- จำกัดการดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ก่อนนอน 2 - 4 ชั่วโมง
- จัดห้องนอนให้เอื้อต่อการนอนหลับ
- เข้านอน และตื่นนอนให้เป็นวลา
- หลีกเลี่ยงการดูโทรศัพท์มือถือ หรือ คอมพิวเตอร์ก่อนนอน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- จดบันทึกการดื่มน้ำ และการปัสสาวะในแต่ละวัน
🚩 วิธีการรักษา
แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกกลั้นปัสสาวะ โดยให้ทิ้งช่วงห่างขึ้น และรับยาช่วยบรรเทาอาการ ซึ่งคนปกติโดยทั่วไปจะปัสสาวะประมาณ 8 ครั้งต่อวัน ทั้งนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าปกติ ถ้าในกรณีที่พบว่าเป็นติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต แพทย์จะให้ยารักษาโรคตามอาการควบคู่กันไป