19 พฤษภาคม 2567
459

สุขภาพหู ดูแลให้ปลอดภัย

พูดถึงหู นับว่าเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าในการได้ยิน แต่จะรู้หรือไม่ว่า นอกจากการได้ยินแล้ว หูยังช่วยให้เราสามารถทรงตัว และเคลื่อนไหวทรงตัวได้อย่างปกติอีกด้วย ซึ่งหากเกิดความผิดปกติภายในหูก็อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้าน ๆ ว่าบ้านหมุนนั่นเอง

“เวียนหัวบ้านหมุน” นั้น จริง ๆ แล้วไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งรอบตัวหมุนไป จนทำให้รู้สึกเวียนหัวและคลื่นไส้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว อาจเป็นสัญญาณของโรคสำคัญ 2 โรค ได้แก่ โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด และ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน 

ทั้ง 2 โรคนี้นั้น มีรายละเอียดของโรคที่แตกต่างกัน จึงจะพาไปทำความเข้าใจในแต่ละโรคและทำการป้องกันรักษาดูแลตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นโรคที่เกิดจาก ภาวะของน้ำในระบบหูชั้นในที่มีปริมาณมากผิดปกติ จนไปรบกวนระบบการทรงตัว และส่งผลกระทบต่อระบบประสาทหู

อาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

  • เวียนหัวบ้านหมุนตลอดเวลา ตั้งแต่ 20 นาที – หลายชั่วโมง
  • อาการเวียนหัวจะเป็นหนักมาก คือเวียนหัวทั้งวัน ผู้ป่วยมักนอนนิ่ง ไม่ขยับตัว
  • มีอาการหูอื้อ หรือได้ยินน้อยลง
  • ได้ยินเสียงดังในหู เช่น เสียงหึ่งๆ วิ้งๆ แต่ไม่ใช่เสียงจังหวะการเต้นของหัวใจ

สาเหตุของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมที่มากเกินไป 
  • การดื่มเบียร์ สุรา กาแฟ เป็นประจำ 
  • พันธุกรรม

การตรวจวินิจฉัยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

  • การซักประวัติ 
  • การตรวจระบบประสาทการทรงตัว 
  • การตรวจการได้ยิน 
  • การตรวจรังสีวินิจฉัย 
  • การเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะเพื่อวินิจฉัย แยกจากโรคอื่น ๆ

การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน 

  • ลดอาหารเค็ม
  • การให้ยาขับโซเดียมที่ทานแล้วช่วยขับปัสสาวะลดอาการคั่งของน้ำในหูชั้นใน
  • การให้ยาลดอาการวิงเวียน
  • การให้ยาขยายหลอดเลือดไปเลี้ยงหูชั้นใน
  • การฉีดยาเพื่อทำลายระบบการทรงตัวของหูชั้นใน
  • การผ่าตัด

โรคตะกอนหินปูในหูชั้นในหลุด เป็นโรคที่เกิดจากการที่ตะกอนหินปูนในหูชั้นใน ซึ่งอยู่ในบริเวณส่วนที่เป็นวงแหวนที่รับรู้เรื่องการทรงตัวนั้นหลุดออกมาจากกระเปาะ 

อาการของโรคตะกอนหินปูในหูชั้นในหลุด

  • รู้สึกเวียนหัวทันทีเมื่อเคลื่อนไหวและเวียนลดลงเมื่ออยู่นิ่ง
  • เวียนหัวไม่นานประมาณ 1 – 5 นาที
  • ดวงตาดำสองข้างกระตุก ไปในทิศทางเดียวกัน 
  • เห็นภาพสั่น
  • การได้ยินเป็นปกติ ไม่มีหูอื้อ หรือเสียงดังในหู

สาเหตุของโรคตะกอนหินปูในหูชั้นในหลุด

  • ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ทราบสาเหตุ 
  • ความเสื่อมตามวัย
  • การได้รับอุบัติเหตุถูกกระแทกทางศีรษะ 
  • การเคลื่อนไหวศีรษะผิดจังหวะ 
  • การเล่นเครื่องเล่นที่มีการเหวี่ยงรุนแรง 
  • โรคของหูชั้นใน

การตรวจวินิจฉัยโรคตะกอนหินปูในหูชั้นในหลุด

  • การซักประวัติ  
  • การตรวจร่างกาย  โดยให้ผู้ป่วยล้มตัวลงนอนอย่างเร็วในท่าตะแคงศีรษะ และห้อยศีรษะลงเล็กน้อย (Dix-Hallpike maneuver)  
  • การตรวจการได้ยิน 
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) 

การรักษาโรคตะกอนหินปูในหูชั้นในหลุด 

  • การทำให้ตะกอนหินปูนที่หลุดออกมากลับเข้าไปที่เดิมให้ได้
  • การกินยาแก้เวียนศีรษะ หรือยาแก้อาเจียน
  • การกายภาพศีรษะ เป็นการให้ผู้ป่วยขยับศีรษะในท่าเฉพาะเพื่อให้หินปูนกลับเข้าไปอยู่ที่เดิมตามปกติ
  • การพิจารณาใส่เฝือกอ่อนที่คอเพื่อจำกัดการขยับตัว
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการขยับศีรษะไปมา
  • การนอนตะแคงในด้านที่ไม่ค่อยมีอาการเวียนศีรษะ
  • การบริหารและฝึกระบบประสาททรงตัว

เมื่อเกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุให้แน่ชัดและทำการรักษาให้ถูกต้อง ในกรณีที่เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนขึ้น ผู้ป่วยควรหาที่ยึดเกาะ แล้วนั่งลงกับพื้นทันที เพื่อป้องกันการลื่นล้มโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ หากอาการที่ผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยความปรารถนาดีจาก “ทันข่าวสุขภาพ”

รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/ycD-EY7wQcA?si=yN8lag-btovWnLZW



ติดต่อโฆษณา!