อัณฑะบิดตัว ภาวะอันตรายที่ผู้ชายควรรู้
อัณฑะบิดขั้วหรืออัณฑะบิดตัว เป็นภาวะฉุกเฉินทางเพศชายที่พบได้บ่อยในวัยรุ่นและเด็กชาย เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
ลัดคิวหมอรามาฯ รายการวาไรตี้รับชมได้ทุกเพศ ทุกวัย มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบที่ถูกต้องและชัดเจน วันนี้พบกับ อ. พญ.อัญญพร สุทัศน์วรวุฒิ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว และ รศ. นพ.ชินเขต เกษสุวรรณ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มาร่วมให้ความรู้และคำแนะนำ
🚩ภาวะอัณฑะบิดตัว คืออะไร
อัณฑะบิดขั้ว หรืออัณฑะบิดตัว เป็นภาวะฉุกเฉิน เกิดขึ้นเมื่อหลอดนำอสุจิบิดตัว และไปหยุดการไหลเวียนของเลือด ทำให้อัณฑะขาเกิดอาการปวดฉับพลันและบวม
ภาวะอัณฑะบิดขั้ว สามารถเกิดขึ้นได้กับชายทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กชายอายุระหว่าง 12 ถึง 18 ปี ซึ่งอาจเกิดจากการออกกำลังกายอย่างหักโหม เกิดขึ้นขณะนอนหลับ หรือหลังจากถุงอัณฑะได้รับบาดเจ็บ และหลายกรณี ไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดภาวะนี้ได้
อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ค่อยพบเจอบ่อย และเป็นภาวะฉุกเฉินจริง ๆ เพราะถ้าเราไม่รีบรักษาหรือผ่าตัดแก้ไข อาจจะต้องตัดอัณฑะทิ้ง
ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นเด็กชายที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเด็ก ๆ มีทั้งกิจกรรมกีฬา และการเติบโตที่ยังไม่สมบูรณ์ จึงเป็นช่วงอายุที่เกิดได้เยอะที่สุด
🚩ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอัณฑะบิดขั้ว
- เพศชายอายุประมาณ 12 - 18 ปี
- ชายที่มีตำแหน่งของอัณฑะผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด
- มีประวัติการเกิดภาวะนี้ในครอบครัว
- มีประวัติการเจ็บอัณฑะที่มักเกิดหลังออกกำลังกายแบบเป็นๆ หายๆ บ่อยครั้ง
🚩อาการอัณฑะบิดขั้ว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดเจ็บอัณฑะ หรือถุงอัณฑะ
- อัณฑะ หรือ ถุงอัณฑะโต หรือบวมขึ้น
🔸อาจพบอาการอื่นร่วมได้ เช่น
- มีไข้ต่ำ ๆ
- ปวด เจ็บท้อง หรือท้องน้อย
- ปวดเจ็บเวลาปัสสาวะ
- อัณฑะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าปกติ
เมื่อมีอาการปวดอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง หรือมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็ว หรือภายใน 6 ชั่วโมง ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัด เปิดถุงอัณฑะ และคลายที่บิดตัว ส่วนอีกข้างหนึ่งก็ต้องเปิดเช่นกัน และเย็บล็อกไว้ เพื่อป้องกันการบิดตัวในอนาคต
สาเหตุที่ต้องรีบผ่าตัดแก้ไขภายใน 6 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วง Golden Period เนื่องจากเมื่อเกิดภาวะอัณฑะบิดตัว จะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะในส่วนนั้นได้ ทำให้ขาดเลือด และอาจต้องตัดทิ้งไป ซึ่งผู้ป่วยก็สามารถมีบุตรได้จากอัณฑะอีกข้างที่เหลืออยู่ แต่อาจจะทำให้ความมั่นใจลดลง
อย่างไรก็ตาม กรณีการเจ็บป่วยอัณฑะบิดตัวพบเจอได้น้อยราย และส่วนใหญ่เป็นเด็กที่กำลังเติบโต หรือวัยรุ่น ที่ร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลง ขณะที่มีการเล่นกีฬา ออกกำลังกายที่หักโหมซึ่งอาจเกิดภาวะอัณฑะบิดตัวได้มากกว่าช่วงวัยอื่น
🚩อัณฑะบิดขั้ว กับการดูแลตนเอง
- กินยาตามแพทย์สั่ง
- งดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลหาย
- กินอาหารครบ 5 หมู่
- ห้ามยกของหนัก 7 - 10 วัน
- รักษาสุขอนามัย
- ห้ามเล่นกีฬา ออกกำลังกายหักโหม
ดังนั้นผู้ปกครองต้องคอยสังเกตุเด็กหากมีอาการปวดอัณฑะ จะต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจเช็คการไหลเวียนของเลือดไปยังอัณฑะ ซึ่งจะบ่งชี้ได้ว่ามีอาการอัณฑะบิดตัวหรือไม่
รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/-qRcJnqxJRM?si=7QBswFbTFKtRpcgr