ปวดก้น สัญญาณเตือนสุขภาพที่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้
ปวดก้น คืออาการปวดบริเวณก้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณก้นมากเกินไป การได้รับบาดเจ็บ หรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง ซึ่งอาการปวดก้นส่วนใหญ่อาจดีขึ้นได้ด้วยการดูแลตัวเอง
หากมีอาการปวดก้นรุนแรง หรือไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยก้นเป็นบริเวณที่ประกอบไปด้วย ไขมัน กระดูก กล้ามเนื้อต่าง ๆ มีหน้าที่รองรับน้ำหนักขณะนั่ง หรือช่วยในการเคลื่อนไหว อาการปวดก้นที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้ นั่ง ยืน หรือ เดินไม่สะดวก ดังนั้นการทราบสาเหตุของอาการปวดก้น อาจช่วยให้รู้วิธีการรักษาอย่างเหมาะสม และช่วยให้อาการปวดก้นดีขึ้นได้
ลัดคิวหมอรามาฯ รายการวาไรตี้ด้านสุขภาพที่รับชมได้ทุกเพศ ทุกวัย หากมีคำถามด้านสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบที่ถูกต้องและชัดเจน สำหรับอาการ “ปวดก้น” เป็นสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพอย่างไร มีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง และจะมีวิธีการรักษาอย่างไร ผศ. พญ.ศิริสุชา โสภณคณาภรณ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และ ผศ. นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญา ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาร่วมให้ความรู้ คำแนะนำ รวมทั้งวิธีการป้องกันและการรักษา
🚩สาเหตุอาการปวดก้น
บริเวณก้นประกอบด้วย ผิวหนัง ชั้นไขมัน กล้ามเนื้อ เส้นประสาท กระดูก และข้อต่อต่าง ๆ แต่ละโครงสร้างสามารถทำให้เกิดอาการปวดได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของแต่ละบุคคลและการใช้งาน
ทั้งนี้อาการก้นจะรบกวนชีวิตประจำวันค่อนข้างเยอะ เพราะในแต่ละวันเราต้อง นั่ง ยืน นอน เป็นเวลานาน บางคนไม่ปวดแค่ก้น แต่ปวดส่วนอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยบอกสาเหตุได้ว่า ต้นเหตุการปวดก้นมาจากสาเหตุใด
กล้ามเนื้อที่ก้นก็เป็นโครงสร้างหนึ่งที่เกิดอาการปวดได้ โดยภายในกล้ามเนื้อนั้นมีเส้นประสาทอยู่ อาการปวดก้นในบางคนเกิดจากกล้ามเนื้อไปหนีบรัดเส้นประสาทที่บริเวณก้น อาจอาการปวด ชา หรือร้าวที่ต้นขาด้านหลังได้
ถ้าเกิดจากกล้ามเนื้อเฉย ๆ ที่ไม่ใช่เส้นประสาทที่มีปัญหา ก็จะปวดที่บริเวณก้นอย่างเดียว แต่ถ้าขยับ หรือบิดตัว หรือเอี้ยวที่บริเวณต้นขา ทำให้เกิดอาการปวดตึง ๆ ได้
บางคนมีอาการปวดมาจากข้อต่อด้านในหรือกระดูกสันหลัง บางคนกระดูกสันหลังเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกเสื่อม จะมีอาการปวดร้าวลงมาที่ก้นได้ และจะมีอาการปวดลงมาที่น่องหรือขาร่วมด้วย
นอกจากนี้อาจจะมาจากข้อสะโพกที่มีปัญหาได้เช่นเดียวกัน หรืออาจจะมาเส้นเอ็นรอบๆข้อสะโพก หรือผิวข้อที่มีความเสื่อมเมื่อใช้งาน เช่น เดินเยอะ ๆ หรือนั่งพื้นจะเกิดอาการอักเสบในข้อกระตุ้นให้ปวดได้
โดยสรุป อาการปวดก้นมีสาเหตุจาก
- ภาวะหมอนรองกระดูกกับเส้นประสาท
- ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
- โรคข้อเสื่อม
- ถุงของเหลวบริเวณข้อต่ออักเสบ
- ภาวะปวดข้อต่ออุ้งเชิงกราน
🚩ปวดก้นแบบใด ที่ควรไปพบแพทย์
เมื่อมีอาการปวดจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นั่งต่อเนื่องนาน ๆ ไม่ได้ เดินเยอะ ๆ แล้วเจ็บ หรือบางคนลองกินยาแก้ปวดหรือประคบเย็นแล้วอาการไม่ดีขึ้นเดินลงน้ำหนักแล้วเจ็บ มีไข้ ชา อ่อนแรง น้ำหนักลด มีอาการติดเชื้อ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือกระดูกสันหลังเสื่อม กล้ามเนื้อ และข้อสะโพกเสื่อม ดังนั้นเมื่อมีอาการในลักษณะต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์
1. กรณีที่เกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบจะมาจากสาเหตุการใช้งานหนัก และอาการปวดจะปวดก้นเพียงอย่างเดียว
2. กรณีปวดหลัง จะมีอาการปวดหลังร่วมด้วย นั่งนานไม่ได้ ก้มแล้วเจ็บ หรือชา เป็นตะคริว
3. กรณีปวดข้อสะโพก จะมีอาการปวดก้น และเจ็บปวดร้าวที่ขาหนีบ เข่าด้านใน และปวดข้อสะโพก
- ปวดก้น ส่งผลให้ทำกิจกรรมต่างๆได้ยาก
- ขยับสะโพกแล้วรู้สึกปวด
- มีไข้สูง อ่อนเพลีย
- สะโพกหรือขาอ่อนแรง
- กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
🚩การรักษาอาการปวดก้น
การรักษาในเบื้องต้น แพทน์จะให้ยาลดปวด ยาลดอาการอักเสบและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นการรักษาตามอาการ หากทานยากลุ่มทั่วไปแล้วไม่ดีขึ้น ก็จะมียาเฉพาะและทำกายภาพบำบัดเฉพาะจุดเพิ่มขึ้นมา หรือถ้ามีปัญหาจากกระดูกสันหลังก็มักจะมีปัญหาเส้นประสาทอักเสบร่วมด้วยก็จะให้ยาลดอักเสบเส้นประสาทควบคู่ไป
กรณีปวดข้อสะโพกก็จะเพิ่มยาเพิ่มน้ำเลี้ยงในข้อ หรือลดสารอักเสบในข้อต่อ ซึ่งเป็นยาคนละกลุ่มกันเมื่อเทียบกับคนที่มีสาเหตุจากกระดูกสันหลัง
ถัดมาเป็นการรักษาโดยการทำกายภาพบำบัด ซึ่งจริงๆ แล้วก็จะคล้าย ๆ กัน เช่นการใช้เลเซอร์ อัลตร้าชาวน์ ประคบร้อน หรือใช้ไฟฟ้ากระตุ้น ก็จะช่วยลดอาการปวดได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุว่ามาจากอะไร
สุดท้าย หากว่าทำสิ่งเหล่านี้แล้ว ทั้งกินยา
ทำกายภาพ ปรับเปลี่ยนการใช้งานแล้วยังไม่ดีขึ้น แนะนำว่าอาจจะต้องตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน เช่นตรวจเอ็กเรย์ อัลตร้าซาวน์ หรือ MRI
ถ้าดูแล้วมีความผิดปกติที่ควรแก้ไขโดยการผ่าตัด แพทย์ก็พิจารณาสาเหตุว่าตัวโรคหรืออาการปวดนั้นเกิดจากอะไร ซึ่งการผ่าตัดแต่ละสาเหตุจะทำการรักษาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
การดูแลตนเองหลังผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงท่าที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวด เช่น การก้มเป็นเวลานาน ๆ
อาการปวดกล้ามเนื้อ จะเป็นอาการปวดที่ไม่ต้องถึงขั้นผ่าตัด สามารถใช้การกินยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดยืดเหยียด ซึ่งทำกายบริหารได้ 2 ท่า ท่าแรกเป็นการทำกายภาพในท่านอนหงายยืดเข่าขึ้นมาชิดอก จะช่วยยืดกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาด้านหลัง กับบริเวณสะโพกบางส่วน ท่าที่สองให้เอาขาไขว้ นั่งไขว่ห้างและดึงเข้าออก รวมทั้งการประคบเย็น และถ้ายังมีอาการตึงเมื่อยอยู่ ก็เปลี่ยนเป็นประคบร้อน
🚩การป้องกันการปวดก้น
1. หลีกเลี่ยงการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน
2. ปรับท่าทางการนั่งอย่างเหมาะสม
3. ใช้เบาะรองนั่ง
4. ออกกำลังกายเป็นประจำ
5. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
6. ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ
7. กินอาหารที่เป็นประโยชน์
รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/NqO4wFtaleg?si=AAK0OCXPwtapYzks