รากฟันเทียม วิธีแก้ปัญหาการสูญเสียฟันแท้ไปด้วยการผ่าตัด
รากฟันเทียม หรือทันตกรรมรากเทียม คือการแก้ปัญหา การสูญเสียฟันแท้ที่หลุดไปด้วยการผ่าตัด ฝังโครงรากฟันเทียม เพื่อยึดติดกับกระดูกขากรรไกรของคนไข้ ที่ตรงตำแหน่งที่สูญเสียฟันและรากฟันธรรมชาติไป จากนั้นทันตแพทย์อาจจะทำฟันปลอมหรือครอบฟันมายึดกับราก ทดแทนฟันที่หลุดไปเพื่อให้ฟันบดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่การทำฟันปลอมแบบอื่น ๆ อาจจะพบปัญหาการไม่เป็นธรรมชาติมีการเคี้ยวอาหารที่ติดขัดอยู่บ่อย ๆ และรากฟันเทียมเป็นทันตกรรมปลอมแบบติดแน่นที่มีคุณสมบัติแบบฟันธรรมชาติจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ที่ช่วยให้ฟันยังอยู่ครบ
นอกจากนี้ยังรับประทานอาหารได้ราบรื่นกว่า ไม่ต้องวุ่นวายกับการถอดฟันปลอม การดูแลทำความสะอาดก็ทำได้ง่ายไม่ต่างจากฟันแท้ โดยเฉพาะถ้าได้ดูแลรักษาฟันเทียมด้วยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็จะทำให้รับประทานทานอาหารได้ง่าย พูดคุย และยิ้ม ได้อย่างมั่นใจ
ลัดคิวหมอรามา รายการวาไรตี้ที่รับชมได้ทุกเพศทุกวัย ทุกคำถามที่นี่มีคำตอบอย่างถูกต้องและชัดเจน ในวันนี้ ทพ.ภูมิพัฒน์ ลีชนะวานิชพันธุ์ ฝ่ายทันตกรรม และ ผศ. พญ.ศิริสุชา โศภณคณาภรณ์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มาร่วมให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพฟัน และทันตกรรมรากฟันเทียม
🚩 รากฟันเทียมคืออะไร
รากฟันเทียม คือฟันเทียมชนิดหนึ่ง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดถอดได้ กับชนิดติดแน่น ฟันเทียมถอดได้ หรือ ฟันปลอม มักจะใช้ในรุ่นคุณปู่คุณย่า ที่เราเห็นกันทั่วไป โดยสามารถถอดออกมาล้างได้
ฟันปลอมติดแน่น หรือฟันเทียมติดแน่น จะไม่สามารถถอดออกมาได้ ติดแน่นเหมือนฟันแท้ ซึ่งฟันเทียมชนิดนี้มี 2 ประเภทคือ รากเทียม และ สะพานฟัน
สำหรับสะพานฟัน จะมีลักณะเป็นสองขา เพื่อใช้ยึดฟันกับซี่ข้าง ๆ ส่วนรากเทียมไม่ต้องมีขายึดใๆ สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง
รากเทียมทำจากวัสดุไททาเนียมเป็นส่วนใหญ่ มีรูปร่างคล้ายรากฟัน ฝังลงไปในกระดูกขากรรไกร ซึ่งจะเป็นตัวรับแรงได้ และมีตัวครอบฟันด้านบนที่ทำมาจากวัสดุเซรามิก หรือ Zirconia ซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน
🚩 สะพานฟัน มีลักษณะอย่างไร
การทำสะพานฟัน เกิดขึ้นได้ในกรณีที่ฟันหายไปและซี่ข้างๆยังมีฟันอยู่ ก็ทำสะพานฟันได้ โดยยึดกับฟันซี่ด้านข้างโดยและใช้เรชิ่นซีเมนต์ยึดติดไว้
🚩 รากฟันเทียม เหมาะกับใคร
1. ผู้ที่สูญเสียฟันแท้จากอุบัติเหตุ
2. มีฟันแตก
3. เหงือกบริเวณที่จะปลูกรากฟันเทียมไม่อักเสบ
4. ผู้ที่ทำฟันปลอมแบบถอดได้ไม่สำเร็จ
5. ผู้ที่ต้องการใส่ซี่เดียว โดยฟันข้างเคียงยังสภาพดี
6. ผู้ที่ใส่ฟันปลอมทั้งปาก
7. ผู้ที่ไม่ต้องการกรอฟันในการทำสะพานฟันติดแน่น
8. ผู้ที่ไม่ขอบใส่ฟันปลอมถอดได้
การทำรากฟันโดยทั่วไปไม่เจ็บมากเพราะภายในกระดูกไม่ค่อยมีเส้นประสาท ซึ่งอยู่ลึกลงไป ส่วนใหญ่เส้นประสาทจะอยู่ที่เหงือก หรือเนื้อเยื่อที่หุ้มฟันอยู่ ทันตแพทย์จะใส่ยาชา และเจาะกระดูก จากนั้นฝังรากลงไป กรณีที่มีกระดูกเพียงพอ ไม่ต้องปลูกกระดูก เจ็บน้อยกว่าถอนฟัน
🚩 รากฟันเทียม มีข้อดีอย่างไร
1. บดเคี้ยวอาหารได้ดีเหมือนธรรมชาติ
2. รู้สึกเหมือนฟันแบบธรรมชาติ
3. ไม่มีปัญหากับการออกเสียง
4. ป้องกันการสูญเสียฟันและกระดูกข้างเคียง
5. ดูแลความสะอาดง่าย
6. ไม่ต้องกรอแต่งฟันซี่ข้างเคียง
7. เพิ่มความมั่นใจ
8. มีความปลอดภัยสูง
คนที่ไม่สามารถทำรากฟันเทียมได้ เช่น มีโรคบางอย่างที่ขัดขวางต่อการทำรากฟันเทียม หรือ ได้รับยากระดูกบางชนิด รวมทั้งการฉายรังสีที่ใบหน้าหรือขากรรไกรเพื่อรักษามะเร็ง เป็นต้น
โดยปกติเมื่อเจาะรากฟันเทียมลงไปในกระดูก จะใช้เวลา 2.5 - 3 เดือน เพื่อให้รากฟันเชื่อมกับกระดูก จากนั้นก็มาพิมพ์ปาก และทำฟันปลอมครอบ ระหว่างที่รอให้กระดูกกับรากฟันเชื่อมกัน ผู้ป่วยอาจจะใช้ฟันเทียมชนิดถอดได้ใส่ปิดไว้ก่อน ทั้งนี้การทำรากฟันเทียม สามารถทำได้กับฟันทุกซี่
🚩 ค่าใช้จ่ายในการทำรากฟันเทียม
การทำรากฟันเทียม มีค่าใช้จ่ายอยู่ในช่วง 30,000 - 100,000 บาทต่อหนึ่งซี่ ขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุและแหล่งที่มา เช่น ยุโรป หรือ เอเชีย และวัสดุมีคุณภาพแตกต่างกันบ้างตามราคา ส่วนใหญ่มีอายุใช้งาน 10 ปีขึ้นไป โดยสามารถดูแลเหมือนฟันธรรมชาติ โดยการแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน หากใช้ไปนานๆ น๊อต อาจจะหลวมก็สามารถพบทันตแพทย์แก้ไขได้ หรือทำใหม่ได้
🚩 วิธีดูแลฟันหลังทำรากฟันเทียม
1. กินอาหารเหลวในข่วงวันแรก
2. กินยาลดการอักเสบ เพื่อลดอาการบวม
3. หลีกเลี่ยงการกัดหรือเคี้ยวอาหารแข็งในช่วง 1 - 2 เดือน
4. หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็นมากเกินไปในวันแรก
5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
6. แปรงฟันให้ถูกวิธีและใช้ไหมขัดฟัน
7. ใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อฆ่าเชื้อ
8. หากขบเคี้ยวหรือนอนกัดฟันให้พบทันตแพทย์ทันที
รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/Z2vWMGxnpXA?si=jDgbfLVSn8v2KTrm