03 สิงหาคม 2567
430
เลี่ยงไวรัสซี สุขภาพดีป้องกันได้
หากพูดถึงไวรัสตับอักเสบซี โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะไม่ทราบมาก่อนว่ามีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย จะทราบได้ก็ต่อเมื่อได้ไปตรวจร่างกาย แล้วพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ และตรวจเลือดพบการติดเชื้อ
โรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นไวรัสที่ทำให้ตับเกิดการอักเสบและติดเชื้อเฉียบพลัน
สำหรับไวรัสตับอักเสบซี เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัว 6 - 8 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อระยะแรก จะเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน อาการจะไม่รุนแรง มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เหมือนโรคทั่วไป ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อไม่ทราบว่าตนเองเริ่มมีอาการตับอักเสบ เป็นสาเหตุให้ผู้ติดเชื้อปล่อยทิ้งไว้ จนกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีสามารถกำจัดเชื้อให้หายขาดอย่างถาวร ด้วยการรับประทานยา ร่วมกับยาฉีดโดยประเมินจากจำนวนเชื้อไวรัสในเลือดหลังการรักษา ซึ่งจะช่วยให้อาการตับอักเสบดีขึ้น และหายไป
ลัดคิวหมอรามาฯ รายการวาไรตี้เพื่อสุขภาพที่สามารถรับชมได้ทุกเพศทุกวัย วันนี้มารู้จักกับไวรัสตับอักเสบซี เมื่อรับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วอาการจะเป็นอย่างไร มีวิธีการป้องกันและดูแลรักษาอย่างไร โดย อ. พญ.อัญญพร สุทัศน์วรวุฒิ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว และ อ. พญ.ศุภมาส เชิญอักษร สาขาวิชาทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
🚩 ไวรัสตับอักเสบซีคืออะไร
ไวรัสตับอักเสบซีคือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่ส่งผลกับตับของเรา โดยปกติจะติดต่อผ่านการได้รับเลือดหรือสารคัดหลั่งของคนที่เป็นไวรัสตับอักเสบซี ในประเทศไทยพบจากการการใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ซึ่งเพียงแค่ครั้งเดียวก็สามารถติดเชื้อได้ และการมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเดียวกันแต่ไม่ได้ป้องกัน
ในประเทศไทยหรือจากทั่วโลก ไม่ได้รู้จักมานาน เพิ่งมารู้จักกันดีหลังปี 2535 ดังนั้นคนที่ได้รับเลือด รวมถึงอวัยวะ ก่อนปี 2535 จะถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในการได้รับไวรัสตับอักเสบซี
โดยธรรมชาติในช่วงแรก ๆ ในระยะเฉียบพลันที่ได้รับเชื้อมา ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะไม่ค่อยแสดงอาการ อาจไม่ต้องไปโรงพยาบาล โดยอาจมีไข้ต่ำๆ ปวดจุกที่ชายโครงขวาเนื่องจากตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลืองนิดหน่อย และประมาณ 15% ของผู้ป่วยจะหายเองได้ และไม่เกิดปัญหาอะไรอีกตลอดชีวิต
แต่อีก 85% จะกลายเป็นผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง โดยไม่มีอาการเด่นชัด เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย กินข้าวไม่อร่อย แต่เมื่อผ่านไป 20 - 30 ปี เจออีกทีจะเป็นตับแข็ง และ/หรือ อาจมีภาวะแทรกซ้อนของตับแข็ง เช่น ท้องมาน มะเร็งตับ มีเส้นเลือดขอดที่หลอดอาหารทำให้อาเจียรเป็นเลือด
สรุปที่เกิดช่วงเฉียบพลันมักไม่รู้ตัว และเมื่อเมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดปัญหาใหญ่ตามมา
🚩 สาเหตุโรคไวรัสตับอักเสบซี
ส่วนใหญ่ติดต่อผ่านเลือดหรือสารคัดหลั่ง ของผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีด้วยช่องทางดังนี้
- เพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน
- ใช้เข็มฉีดยาเสพติด
- รับเลือดหรืออวัยวะก่อนปี 2535
- สักหรือเจาะร่างกายด้วยอุปกรณ์ที่ทำความสะอาดไม่เหมาะสม
▪️ ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสจากหญิงตั้งครรภ์ ที่ติดเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์อยู่ที่ประมาณ 5%
▪️ ไม่ติดต่อทางการกอด จูบ ไอ จาม การกินอาหารที่ใช้อุปกรณ์การกินอาหารร่วมกันหรือการสัมผัสไม่ปนเปื้อนเลือด
ทั้งนี้หากได้รับเชื้อแล้ว และมีการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือมีภาวะโรคอ้วนแทรกซ้อน จะทำให้เกิดตับแข็งเร็วขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าได้รับเชื้อ จึงไม่มีอาการเด่นชัด อาจมีเพียงอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ หรือมีผื่นในปาก มีภาวะโรคไต มือเท้าเย็น เป็นต้น
🚩 อาการของโรคไวรัสตับอักเสบซี
สำหรับอาการ จะแบ่งเป็นระยะเฉียบพลัน และ ระยะเรื้อรัง
▪️ ระยะเฉียบพลัน จะมีอาการเป็นไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย ตัว - ตาเหลือง
▪️ ระยะเรื้อรัง มักไม่มีอาการ ยกเว้น ท้องมาน น้ำหนักลด อาจเป็นมะเร็งตับ
การตรวจวินิจฉัย ผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติใช้เข็มฉีดยาเสพติด ควรได้รับการตรวจคัดกรองซ้ำ ด้วยการตรวจเลือด “Anti - HCV หรือ HCV Antibody” แนะนำคัดกรองด้วยการตรวจ anti HCV อย่างน้อย 1 ครั้ง กับผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ที่เกิดก่อนปี 2535
ปัจจุบัน ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถรักษาให้หายขาดได้ ย้อนหลังไป 10 ปีก่อนการรักษาผู้ป่วยอาจจะหายเพียงครึ่งเดียว ระหว่างการรักษาก็ลำบาก บางสายพันธุ์ต้องฉีดทุก 6 เดือนและกินยาร่วมด้วย บางคนก็ฉีด 1 ปี และก็หายเพียงครึ่งเดียว
อย่างไรก็ตาม จากวิวัฒนาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน ถ้าผู้ป่วยอยู่ในระยะก่อนตับแข็งกินยาวันละ 1 เม็ดเป็นเวลา 3 เดือนก็จะหายขาดได้ ถ้าคนที่ตับแข็งแล้ว อาจจะต้องเพิ่มยามากขึ้น แต่อัตราการหายเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน
องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าให้โลกเราปลอดจากโรคไวรัสตับอักเสบซีภายในปี 2530 แต่สำหรับโรคไวรัสตับอักเสบบีอาจจะยากกว่า เพราะยาที่รักษาในขณะนี้ยังไม่ดีเท่ายาที่รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี
ดังนั้นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงตามที่กล่าวมาก็ควรจะต้องไปตรวจ อย่างน้อย 1 ครั้ง ส่วนคนที่มีความเสี่ยงสูง อาจจะต้องตรวจซ้ำ
🚩 การใช้ชีวิตอยู่กับโรคไวรัสตับอักเสบซี
ผู้ป่วยโรคตับอักเสบซี จำเป็นต้องได้รับวัคซีนบางชนิดหรือหลีกเลี่ยงสารที่อาจเป็นอันตรายต่อตับ
▪️ การตรวจคัดกรองทำเมื่อเป็นตับแข็ง
- ตรวจเส้นลือดขอดที่หลอดอาหารด้วยการส่องกล้อง
- หามะเร็งตับด้วยการทำอัลตราซาวด์ และเจาะเลือด
▪️ การรักษา
ปัจจุบันเป็นยากิน 3 เดือน หายขาดกว่ามากกว่า 95%
▪️ วัคซีน
- ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบซี แต่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอและบีรวทถึงวัคซีนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
▪️ หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำลายตับ
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ภาวะน้ำหนักเกิน
- การสูบบุหรี่
- ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
- ผลิตภัณฑ์สมุนไพร
- ยาบางชนิด
รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/6I1EJUhG9_g?si=3uc2oxF7UYlJeX66