05 กุมภาพันธ์ 2564
13,906

“กัญชา” จากพืชเสพติด สู่พืชเศรษฐกิจ ?

“กัญชา” จากพืชเสพติด สู่พืชเศรษฐกิจ ?

Written by ทันข่าวToday

Highlight

1. “กัญชา” จากพืชเสพติด สู่พืชเศรษฐกิจ ?

พูดถึงกัญชา ถามว่า เป็นพืชเสพติดไหม 
คำอธิบายจาก ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ที่ปรึกษาสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ที่เข้าใจง่ายๆ คือ ในกัญชานั้น มีสารสำคัญที่อยู่บริเวณช่อดอก มีฤทธิ์ทำให้เสพติดได้ แต่ไม่ใช่ว่าเสพติดได้ในทุกคน เพราะมีหลากหลายปัจจัยกระตุ้นในเสพติด อย่างเช่น ได้รับในปริมาณสูง เป็นเวลานาน

ยาเสพติด นั้นแยกออกเป็น 2 คำออกจากกัน ก็คือ ยา + เสพติด
ในสายตาของนักวิชาการนั้น มองว่า “กัญชา” ระดับของความเป็นสารเสพติดไม่ได้มาก แต่ระดับของประโยชน์ในแง่ของยานั้นมหาศาล 

2. เมื่อระดับความเป็นยาของ #กัญชา มีสูง เราจึงควรหยิบเอาคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ของกัญชามาต่อยอดในด้านการรักษา 

3. กระบวนการตั้งแต่การปลูก การสกัด การนำมาใช้เพื่อการรักษา ผลิตยา หรือการนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์สุขภาพ เราต้องหาจุดสมดุลที่ทำให้เกิดความยั่งยืน นี่เป็นที่มาของการปั้นให้กัญชา กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ภาคเอกชนต้องมาร่วมกัน โดยมีภาครัฐกำกับ (เพราะเนื่องจากการเสพติดได้ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุม)

4. กัญชา ที่สามารถนำมาใช้เป็นพืชสมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเร่งผลักดันให้เกิดความยั่นยืนภายในระบบให้ได้ ภายใน 5 ปี ที่กฎหมายฉบับปัจจุบันสนับสนุน

“กัญชา” จะเปลี่ยนเป็นพืชเศรษฐกิจ ได้จริงหรือไม่?

1. พืชเศรษฐกิจ คือ พืชที่สามารถทำรายได้ได้จริง

กัญชา นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจประเภทสมุนไพร 

การปลดล็อกให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์นั้น ทำให้กระบวนการในการปลูกสามารถแบ่งง่ายๆ ออกเป็น 2 ระดับ ก็คือ 
▫️ระดับชาวบ้าน เรามีแนวทางดูแลควบคุมแบบนึง ที่สร้างให้เกิดเศรษฐกิจชุมชน 
▫️ระดับอุตสาหกรรม เราก็เปิดโอกาส ภายใต้การดูแล กำกับด้านมาตรฐาน 

เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ ขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ ให้ขยับเป็นพืชเศรษฐกิจให้มากขึ้น

2. นับจากวันแรก จนถึงวันนี้ ระยะเวลา 1 ปีกว่า และเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา เราปลดล็อกตัว “กัญชง” ที่มองว่าสามารถต่อยอดเป็นพืชเศรษฐกิจ สู่ระดับอุตสาหกรรมได้มากเช่นกัน 

3. กัญชง คืออะไร? 
กัญชง (Hemp) มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับกัญชา แต่เนื่องจากมีสารสำคัญ ทั้ง THC และ CBD ต่ำมาก จึงไม่ได้จัดอยู่ในประเภทยาเสพติด

ลักษณะคือมีเส้นใยคุณภาพดีนำมาใช้ในการถักทอได้ดีมาก กัญชง เป็นพืชล้มลุกอายุข้ามปี มีความสูง 1-6 เมตร รูปร่างคล้ายกัญชา แต่มีข้อแตกต่างที่ชัดเจนคือ ขอข้อ หรือชั้นของกิ่งสูงชะลูดกว่ากัญชา กัญชงมีใบเหมือนกัญชา แต่มีสีเขียวซีดกว่า

สรรพคุณทางยาสำหรับมนุษย์ ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้นและช่วยลดอาการไข้ได้ดี

กัญชา VS กัญชง แตกต่างกันอย่างไร? 

20210305-a-1.jpg

หากเทียบดูแล จะเห็นว่า กัญชงนั้นค่อนค้างจะเปิดเสรีมากกว่ากัญชา (เนื่องจาก ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทยาเสพติด) 

20210305-a-2.jpg

20210305-a-3.jpg

กัญชา VS กัญชง 

จริง ๆ แล้ว กัญชาและกัญชงเป็นพืชที่มีต้นกำเนิดจากพืชชนิดเดียวกัน คือ Cannabis sativa L. ในวงศ์ Cannabidaceae จึงทำให้ลักษณะภายนอกแตกต่างกันน้อยมาก

สายพันธุ์เป็นตัวกำหนดสารสำคัญที่ทำให้เกิดฤทธิ์ เมา หรือไม่เมา  ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่ย สายพันธุ์ , การปลูก เป็นต้น 

แต่ กัญชา VS กัญชง นั้นระดับของสารที่ทำให้เกิดความมึนเมานั้นแตกต่างกัน  

สารสกัดที่ได้จากพืชทั้ง 2 ชนิดก็มีปริมาณที่ต่างกันด้วย กัญชงและกัญชามีสารที่เรียกว่า THC (Tetrahydroconnabinol) และ CBD (Canabidiol) ซึ่งสารเหล่านี้จะเป็นตัวแบ่งแยกพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ออกจากกัน

THC เป็นสารที่ทำให้เมาหรือเคลิบเคลิ้ม พบได้มากในกัญชา โดยมีประมาณ 1-20% ส่วนกัญชงมีสารชนิดนี้น้อยกว่า 1% ในทางการแพทย์สาร THC มีประโยชน์ช่วยลดอาการปวด ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร รักษาผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด

ส่วนสาร CBD ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในกัญชงมากกว่ากัญชา คือพบประมาณ 2% แต่ในกัญชามีสารชนิดนี้อยู่น้อยมาก เมื่อเสพสารชนิดนี้เข้าไปจะไม่มีอาการเมาหรือเคลิบเคลิ้มเหมือนกัญชา คุณสมบัติทางการแพทย์ของ CBD มีหลากหลาย ช่วยลดอาการปวด แก้อาการนอนไม่หลับ แก้อาการโรคลมชัก แม้จะใช้ในปริมาณมากก็ไม่มีผลข้างเคียง และสารนี้ยังนิยมนำมาใช้ในเครื่องสำอางและสกินแคร์ต่าง ๆ ด้วย

2. อาหารที่ใช้วัตถุดิบจาก กัญชา ทำให้เมาทั้งวัน จริงหรือเปล่า ? 

ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน พามาหาคำตอบกับคำถามนี้ว่า กัญชา ทั้งต้น มีสารสำคัญที่สะสมอยู่แต่ละส่วนไม่เท่ากัน !! 

ถ้ามองเป็นต้นไม้ 1 ต้น ส่วนล่าง จะมีสารสะสมน้อย ไล่ขึ้นไป ส่วนที่สะสมมากที่สุด คือ “ช่อดอก” ดังนั้น การนำมาใช้ทำอาหาร สารที่มีฤทธิ์ให้เกิดอาการมึนเมานั้นน้อยมาก 

3. ราคาที่ขายกันในท้องตลาด สำหรับ “ใบกัญชา” อยู่ที่ 2,000 - 15,000 บาท กันเลยทีเดียว สะท้อนโอกาสในการสร้างมูลค่า สร้างรายได้ สำหรับพืชเศรษฐกิจตัวนี้

“กัญชา” ปลูกใช้อย่างไรบ้าง ให้ปลอดภัย

1. การปลูกกัญชาทางการแพทย์ วิสาหกิจชุมชนต้องยื่นอนุญาต อย. ตรวจแปลงปลูกตามขั้นตอน

โดยขั้นตอนตามกฎหมาย ก็คือ วิสาหกิจชุมชนนั้น จะต้องไปยื่นคำขอรับใบอนุญาตปลูกกัญชาผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เสนอคำขอมายัง สำนักงาน อย. จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบพื้นที่และแปลงปลูกว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนที่จะส่งให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อเลขาธิการ อย. ลงนามออกใบอนุญาตให้กับวิสาหกิจชุมชนนั้น ดำเนินการปลูกกัญชาตามที่ได้รับอนุญาตต่อไป

2. โมเดลปลูกแห่งแรก คือ โนนมาลัยโมเดลแห่งแรกที่ จ.บุรีรัมย์

20210305-a-4.jpg

20210305-a-5.jpg

รัฐบาลได้เดินหน้านโยบายกัญชาทางการแพทย์ ให้เป็นพืชสมุนไพรนำมาใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ และผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดโมเดลกัญชา 6 ต้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะมอบต้นกล้ากัญชาให้แก่วิสาหกิจชุมชน ซึ่งจดทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลูกครัวเรือนละ 6 ต้น 
20210305-a-6.jpg
ส่งช่อดอกและเมล็ดให้โรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีแพทย์แผนไทย นำไปผลิตเป็นยาปรุงเฉพาะรายสำหรับจ่ายผู้ป่วยในชุมชน และส่วนอื่นๆ ของกัญชาที่ได้รับการปลดล็อก ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด เช่น ใบ ราก ลำต้น กิ่งก้าน พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่าย เช่น ยาหม่อง สบู่ แชมพู เป็นต้น

3. ปลูกแล้ว ใครคือ ผู้รับซื้อ ?

ขณะนี้ ทางภาครัฐตั้งเป้าสร้างตลาดกลาง "กัญชง" ไทยเชื่อมต่อครบวรจรต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

ซึ่งการซื้อ-ขายกัญชาและกัญชง จะเป็นการซื้อ-ขายโดยตรงหรือระบบ Contract Farming ระหว่างผู้ซื้อและผู้ปลูก  รวมถึงการจัดตั้งตลาดกลางกัญชา ตลาดกลางกัญชง เป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายที่มีกำหนดมาตรฐานสินค้า การกำหนดราคากลาง และการซื้อขายที่เป็นธรรมโดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้ง

อนาคตของกัญชา กับพืชเศรษฐกิจ

เราเร่งผลักดันเรื่องนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2564 เรามีหลายโครงการเกิดขึ้น รวมถึง การจัดตั้งสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ที่กระทรวงสาธารณสุข ที่จะเป็นทั้งแหล่งความรู้ และเชื่อมธุรกิจ กับวิสาหกิจชุมชน ปลูกถูกต้องตามกฎหมายสู่สินค้า ผลิตภัณฑ์คุณภาพ

สถาบันกัญชาทางการแพทย์ จะศูนย์กลางความร่วมมือ ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภายนอก ในการใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชงทางการแพทย์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ เป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกัญชา กัญชง ที่ถูกต้อง รวดเร็ว แก่ประชาชนและสาธารณะ เพื่อให้ กัญชา เป็นพืชเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

ติดต่อโฆษณา!