10 มีนาคม 2564
7,886

ฉีด VS ไม่ฉีด วัคซีนโควิด-19 เอาไงดี !!

ฉีด VS ไม่ฉีด  วัคซีนโควิด-19  เอาไงดี !!
Highlight

สถิติหยิบมาเล่า 
ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 9 มี.ค.64  
มีคนไทยที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว 29,900 คน (34% ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่จะรับวัคซีนเฟสแรก) 
แล้วอาการข้างเคียง จากข้อมูลผ่าน Line Official Account #หมอพร้อม มี 2,380 ราย คิดเป็น 7.96% ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง


ตัวอย่างอาการที่พบ
1. อาเจียน ( 17%)
2. ปวดเมื่อยเนื้อตัว( 14%)
3. มีอาการอักเสบบริเวณที่ฉีด (13%)
4. ไข้ (11%)
5. ปวดศีรษะ ( 9%)
6. ท้องเสีย ( 9%)
7. ผื่น ( 6%)
8. เหนื่อย ( 6%)
9. คลื่นไส้ ( 4%)
เป็นต้น 

ที่มา : ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข

ปฎิทินวัคซีนโควิด-19 ที่จะฉีดให้กับประชาชนคนไทย
แบ่งเป็น 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. ไปถึงเดือน พ.ค. ประเทศไทยที่จะรับวัคซีนล็อตแรกจากวัคซีน "ซิโนแวก" ผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติจีนอีก 2 ล้านโดส และจาก "แอสตร้าเซนเนก้า" ผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ 150,000 โดส รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจาก แอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัทไทยที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ อีกจำนวน 26 ล้านโดสภายในเดือน พ.ค.นี้ และหลังจากนั้นยังจะมีส่วนที่รัฐบาลสั่งเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ประเมินว่าภายในปี 64 จะสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรคนไทย 50%

คำถาม? ...ที่ตามมา คือ 
▪️ คนไทยทุกคนจำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่ ?
▪️ ไม่ฉีดได้ไหม ? 
▪️ ผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคประจำตัวควรฉีดหรือไม่ ? 

คำตอบก่อนตัดสินใจ 

1. กลุ่มคนที่สมควรฉีดวัคซีน
คือ กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหากติดเชื้อจะมีผลอย่างรุนแรง เช่น ผู้ที่มีโรครุมเร้าเยอะ ผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อคือบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในส่วนของงานป้องกันการระบาด

2. ความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่หลายคนกังวลนั้น 
เป็นปกติของทุกวัคซีน ไม่ใช่แค่เฉพาะวัคซีนโควิด-19 ตัวอย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนต่างๆ ที่ฉีดตั้งแต่เด็ก โดยปกติก็จะมีผลข้างเคียงบ้าง เช่น อาการมีไข้เล็กน้อย ปวดเมื่อยบ้าง เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติแค่ชั่วคราวเท่านั้น 

ส่วนผลข้างเคียงที่มีอาการแพ้รุนแรงปัจจุบันยังพบเป็นส่วนที่ต่ำมากเพราะมาตรฐานทางการแพทย์ยุคปัจจุบันมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง นี่คือความเห็นของ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศ ด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล 

3. อัตราการแพ้วัคซีน
"จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา หลังให้วัคซีนไปแล้ว 1 เดือน จำนวน 13.7 ล้านโดส โดยวัคซีนที่ใช้เป็นของ Pfizer และ Moderna พบอาการแพ้รุนแรง เฉลี่ย 4.5 คน ใน 1 ล้านโดส และในจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีน ปรากฎว่ามีผู้เสียชีวิต 113 คน แต่เมื่อผ่าศพผู้เสียชีวิตเหล่านี้ พบว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนเลย"

"ส่วน วัคซีนโควิด-19 Sinovac ของจีน เป็นวัคซีนเชื้อตาย มีกระบวนการผลิตวัคซีนที่คล้าย วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนโปลิโอ วัคซีนตับอักเสบเอ ดังนั้น ด้วยกระบวนการนี้ จึงวางใจได้ว่าจะไม่เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงแน่นอน" ข้อมูลจาก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

4. อยากเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ 
หลายประเทศอาจจะเริ่มเปิดให้การท่องเที่ยวขึ้น และมีการเตรียมออกกฎระเบียบให้ต้องมีวัคซีนพาสปอร์ตในหลายประเทศของโลกเกิดขึ้นแน่นอน ใครฉีดก่อนก็อาจจะได้เที่ยวก่อน 

"วัคซีนพาสปอร์ต เป็นเอกสารรับรองว่าได้รับวัคซีนโควิดแล้วในประเทศไทย เมื่อฉีดครบตามจำนวน 2 โดสแล้ว จะขอรับใบรับรองการฉีดวัคซีน และเก็บใบนี้ไว้ เกิดวันไหนต้องไปต่างประเทศ ก็ไปขอเพิ่มเติมจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน ในการขอเอกสารรับรองเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนโควิดครบแล้ว เพื่อให้สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้" นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค 

และสำหรับใครที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว ยังต้องใส่หน้ากากป้องกัน หมั่นล้างมือและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยงและทิ้งระยะห่างทางสังคมอย่างต่อเนื่องเพราะวัคซีนกว่าจะได้ผลต้องหลังฉีดครบเข็มที่สองอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ และอย่าลืมว่าตอนนี้เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลกซึ่งมีหลักฐานว่าดื้อวัคซีนระดับหนึ่งแล้ว 

ฉีดวัคซีน หรือไม่ฉีด สุดท้ายแล้วก็ควรเป็นไปด้วยความสมัครใจ เอาที่เราสบายใจที่สุด สำคัญที่สุด

ติดต่อโฆษณา!