หมอ 3 สถาบัน ไขปม “วัคซีนโควิด-19”
Highlight
แพทย์จาก 3 สถาบัน “รามาธิบดี - ศิริราช – จุฬาฯ” ออกมาไขปมคาใจของ “คนไทย” ที่มีต่อวัคซีนโควิด-19 ยืนยัน ยังไม่มี “คนไทย” เสียชีวิต หรือ พิการถาวร เพราะฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมย้ำเป็นเสียงเดียวกัน วิกฤตครั้งนี้จะยุติได้ ก็ด้วยการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด รวดเร็วที่สุด
ท่ามกลางข้อกังขาคาใจ รวมถึงความเชื่อมั่นของจากประชาชนคนไทยทั่วประเทศที่มีต่อวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อ Sinovac และ AstraZeneca
แพทย์จาก 3 สถาบัน จึงออกมาอธิบายผ่าน YouTube ช่อง RAMA Channel ในหัวข้อ “ผ่าวัคซีน COVID-19 ฟังชัด ๆ กับ 3 สถาบัน” ซึ่งแพทย์ทั้ง 6 คน จาก 3 สถาบัน ได้แก่ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และ ศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม และ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก และ รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ รอง หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถาม – ตอบ ปม “วัคซีนโควิด-19”
1. ฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้ “เสียชีวิต” หรือไม่?
ตอบ : สถิติ “คนไทย” ฉีดวัคซีนแล้ว 1.7 ล้านคน “ไม่มีคนเสียชีวิต” จากการฉีดวัคซีน แต่ทุกวัน มีผู้เสียชีวิต 1 – 2 คน จากผู้ติดเชื้อ 100 คน
2. อาการผลข้างเคียงเป็นอย่างไร?
ตอบ : พบอาการแพ้ 1 ในแสนคน ส่วนอาการ “ไข้ ปวดบวม แดง ร้อน” พบไม่ถึง 10 % ยิ่งไข้ขึ้นสูง ยิ่งสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี อายุน้อยหรือผู้หญิง อัตราการเป็นไข้สูง มักเป็น 1 - 2 วัน ก่อนหายเป็นปกติ
3. อาการชาครึ่งตัว เกิดขึ้นเพราะอะไร?
ตอบ : อาจเกิดจากร่างกายไม่พร้อม อ่อนเพลีย หรือความกลัว อาการชาเกิดขึ้นชั่วคราว หายเป็นปกติได้ภายใน 1 -3 วัน บางคนไม่เกิน 1 สัปดาห์ ไม่มีใครพิการถาวรเรื้อรัง
4. วัคซีนทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันไหม?
ตอบ : วัคซีนไม่ได้ทำให้เกิดลิ่มเลือดทั่วไป แต่อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ แต่พบน้อยมาก และไม่ยังพบในคนไทย แต่การติดโควิด-19 มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากกว่า
5. ยี่ห้อไหนดีกว่ากัน?
ตอบ : แต่ละยี่ห้อทดสอบในเวลาต่างกัน ประชากรต่างกัน เมื่อใช้งานจริง ประสิทธิภาพในการป้องกัน ใกล้เคียงกัน สิ่งที่ดีที่สุด คือการระดมฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เร็วที่สุด เพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่”
6. ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ฉีดยี่ห้อ Sinovac ได้ไหม?
ตอบ : ก่อนหน้านี้ แม้ไม่ได้ออกเป็นข้อห้าม แต่ที่ไม่กำหนดให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนยี่ห้อ Sinovac เพราะยังไม่มีผลการศึกษาทดลองในกลุ่มผู้สูงอายุออกมา แต่เมื่อผลการศึกษาออกมาแล้ว ยืนยันว่า “ปลอดภัย” ผู้สูงอายุจึงสามารถรับการฉีดวัคซีนได้ทั้ง AstraZeneca และ Sinovac
7. รอก่อนดีไหม?
ตอบ : ทั่วโลกฉีดไปแล้ว 1.3 พันล้านโดส เป้าหมายทั่วโลกเบื้องต้น 1 หมื่นล้านโดส ไทยก็ต้องรีบฉีดให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 50 – 70 % ของจำนวนประชากร เปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส และอังกฤษ ที่มีประชากรใกล้เคียงกัน ที่อังกฤษมีการใช้วัคซีน Pfizer ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น AstraZeneca ประชากรได้ฉีดเข็มแรกครอบคลุมกว่า 70% ซึ่งวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า “ผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์” ในขณะที่ฝรั่งเศส มีความกังวลผลข้างเคียงการเกิดภาวะลิ่มเลือด จึงทำให้ชะลอการฉีดวัคซีนไประยะหนึ่ง ประชากรที่ได้ฉีดเข็มแรกจึงอยู่ที่ 34% ทำให้พบผู้ป่วยโควิด-19 มากถึง 1-2 หมื่นคนต่อวัน และผู้เสียชีวิตอีก 200 - 300 คนต่อวัน สะท้อนให้เห็นว่า ไทยต้องรีบฉีดให้ได้มากที่สุดและไวที่สุด วัคซีนเท่านั้น ที่จะยุติภัยพิบัตินี้ไว้ได้
8. วัคซีนหยุดยั้งไวรัสกลายพันธุ์ได้ไหม ประสิทธิภาพต่ำลงหรือไม่?
ตอบ : เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่สายพันธุ์อังกฤษ ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาหรือบราซิล อาจจะมีผลบ้าง แต่สายพันธุ์อินเดียยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนว่าจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็มีประสิทธิภาพปกป้องคนส่วนใหญ่ได้ และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19
9. หญิงมีประจำเดือน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม?
ตอบ : ฉีดได้ตามปกติ
10. กรณีไหน? ห้ามฉีดวัคซีนโควิด-19
ตอบ : 3 กรณี ได้แก่
1. ผู้ที่มีเจ็บป่วยโรคต่างๆ เช่น เป็นไข้ ให้หายป่วยสนิทก่อน จึงเข้ารับการฉีด
2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ถ้ากำลังอาการหนัก ควบคุมอาการไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งรีบฉีด เช่น ภาวะหัวใจวาย หัวใจกำลังเต้นผิดจังหวะ ต้องให้แพทย์ประจำตัวประเมินอาการก่อน
3. หญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ แต่ถ้าฉีดวัคซีนไปแล้ว เพิ่งมารู้ทีหลังว่าตั้งครรภ์ ก็ให้นับไปอีก 12 สัปดาห์ จากนั้นจึงเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 211. การเปลี่ยนยี่ห้อ เข็ม 2 ทำได้ไหม?
ตอบ : ทำได้ แต่ไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น อยากให้ฉีดยี่ห้อเดิมก่อน เนื่องจากผู้ที่มีอาการแพ้หลังจากฉีดเข็มแรก เข็ม 2 อาการแพ้จะลดลง แต่ถ้าเริ่มฉีดยี่ห้อใหม่ กลับเพิ่มความเสี่ยงว่าจะแพ้วัคซีนเข็มแรกของยี่ห้อใหม่หรือไม่ ที่สำคัญ ระบบจองเข็มที่ 2 ให้โดยอัตโนมัติ การเปลี่ยนจะทำให้ล่าช้าออกไป
12. “คนไทย” จะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเมื่อไหร่?
ตอบ : ถ้าอยากกลับมาสู่ภาวะปกติ การตั้งเป้า 100 ล้านโดส ภายในระยะเวลาที่สั้นสุดนั้น ถ้าฉีดวันละ 3 แสนโดส ก็จะได้ 10 ล้านโดส ใน 1 เดือน ก็ใช้เวลานานถึง 10 เดือน ควรขยับขึ้นมา 4 -5 แสนโดสต่อเดือน ให้ปลดล็อกภายในสิ้นปี หรือระยะสั้นภายใน 4 เดือน ก็จะเปิดประเทศได้เร็ว
แหล่งที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=WukvH65mtnE