16 พฤษภาคม 2564
4,547

ลูกสาว “หมอประเสริฐ” มือปราบไข้หวัดนก โพสต์หนุนฉีดวัคซีน กู้วิกฤตโควิด-19

ลูกสาว “หมอประเสริฐ” มือปราบไข้หวัดนก โพสต์หนุนฉีดวัคซีน กู้วิกฤตโควิด-19
Highlight

ลูกสาวของ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ “มือปราบไข้หวัดนก” ผู้ล่วงลับ โพสต์เฟซบุ๊กหนุนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะพ่อเคยย้ำเตือนว่า “ไวรัส” น่ากลัว ปรับตัวเร็ว เธอเชื่อว่าการฉีดวัคซีน คือการหยุดและป้องกันไวรัสแพร่กระจาย เป็นหนทางรอดที่ชัดเจนที่สุด ก่อนมันจะกลายพันธุ์ไปไกลกว่านี้

เกือบ 20 ปีก่อน ประเทศไทยเคยเผชิญกับการแพร่ระบาดของ “โรคซาร์ส” และ “ไข้หวัดนก”

หนึ่งในบุคคลสำคัญที่นำพาชาติรอดวิกฤตครั้งนั้นไปได้ คือ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO จนสื่อมวลชนยุคนั้นพากันตั้งฉายายกย่อง “หมอประเสริฐ” ว่า “มือปราบไข้หวัดนก”  ก่อนที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อปี 2562 ในวัย 86 ปี

หมอประเสริฐ จากไปเพียงไม่นาน ก็เกิดไวรัสอุบัติใหม่ที่ชื่อ “โควิด-19” แพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งการรับมือกับโรคร้ายนี้  ไม่ว่าจะเป็น WHO , แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก รวมถึงไทย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาวุธที่ดีที่สุด คือ “วัคซีน”

ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารมากมาย ที่หลั่งไหลเข้ามาให้ “คนไทย” นำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่า ฉีดดีหรือไม่!? ล่าสุด นางสาวปารมี ทองเจริญ ลูกสาวของ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ตัดสินใจโพสต์เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Paramee Thongcharoen บอกเล่ามุมมองที่มีต่อ “วัคซีน” จากการตกผลึกทางความคิดที่เคยได้รับจาก “พ่อ”

 

เด็ก ๆ ล้วนโตมากับ “วัคซีน”

ตั้งแต่จำความได้ ชอบนอนคุยกับพ่อ มีเรื่องนึงที่เคยคุยกันคือเรื่องวัคซีน มีครอบครัวหนึ่งที่สนิทกันมาก ถามพ่อว่า เพิ่งคลอดลูก แต่ไม่อยากฉีดวัคซีนต่าง ๆ นานา พ่อตอบไปสั้น ๆ ว่า “พวกเธอโตมาได้ ไม่ใช่เพราะวัคซีนเหรอ กล้าเสี่ยงไหม ถ้าลูกไม่มีภูมิ หากติดโรคอะไรมาแล้วเป็นหนักกว่าลูกคนอื่นเขา มีอะไรรับประกันได้ไหม ว่า ภูมิคุ้มกันที่หวังว่าจะสร้างขึ้นเองมันจะมี หรือถ้ามีแล้วดีพอจะต่อต้านโรคต่าง ๆ”

 

“พ่อ” เคยย้ำเสมอ ต้องล้างมือบ่อย ๆ

พ่อมักจะพูดให้ฟังอยู่เสมอว่า “โรคอุบัติใหม่มันจะมีเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ นะ เราต้องป้องกันตัวเองหลาย ๆ ทาง” คำพูดที่พ่อเตือนพวกเราบ่อยมาก ๆ ตั้งแต่ลูกยังเล็กจนหลาน ๆ โตกันหมดแล้วคือ

"ล้างมือถูสบู่บ่อย ๆ"  พูดย้ำ ๆ ซ้ำทุกวันตั้งแต่เด็กยันโต พ่อบอก “ลูกจะไม่เข้าใจหรอกว่าการล้างมือสำคัญแค่ไหน จนกระทั่งวันนึงมีโรคระบาดเกิดขึ้นแบบที่หยุดยั้งได้ยาก การล้างมือนี่แหละจะเป็นด่านป้องกันโรคด่านแรก”

 

เสิร์ฟของหวานเป็น “วัคซีน” ก่อนก่อตั้งมูลนิธิไข้หวัดใหญ่ครั้งแรกในไทย

เพื่อน ๆ มารับประทานข้าวที่บ้าน พ่อกับแม่มักจะมีวัคซีนใส่ท้ายรถมาด้วย แล้วฉีดให้เพื่อน ๆ ลูก ทำให้เป็นเรื่องเล่าขำขันของพวกเราจนถึงวันนี้ว่า บ้านเราเสิร์ฟของหวานเป็นวัคซีน วัคซีนที่พ่อฉีดให้บ่อยสุดคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะต้องฉีดใหม่ทุกปี สำหรับพ่อแล้ว ไข้หวัดใหญ่คือภัยตัวร้ายที่คุกคามเราเงียบ ๆ มานานแล้ว และพ่อนี่แหละที่ตระหนักถึงภัยอันใหญ่หลวงของมันจึงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิไข้หวัดใหญ่ขึ้นมาครั้งแรกในประเทศไทย พ่อเล่าว่าไวรัสนี่น่ะมันตัวร้ายที่สุด

 

เจอ “ไดโนเสาร์” กับ “ไวรัส” จงหนี “ไวรัส” ก่อน

พ่อเลือกเป็นนักไวรัสวิทยาเพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ากลัวและอยู่รอบตัวเราตลอดเวลาและมีความสามารถในการปรับตัวที่เร็วที่สุด พ่อสอนขำ ๆ ว่า ถ้าเจอไดโนเสาร์กับเจอไวรัสให้หนีไวรัสก่อน เพราะไดโนเสาร์ไม่เก่ง เชื่องช้า ปรับตัวไม่ได้ สูญพันธุ์ไปนานแล้ว ไวรัสอยู่มาเป็นหมื่นล้านปีแล้วก็ยังอยู่ได้ แถมคร่าชีวิตคนเงียบ ๆ มากมายทุกปี  ดังนั้นสิ่งเดียวที่พ่อ "กลัว" ก็คือเจ้าไวรัสนี่เอง และพ่อก็ใช้ความรู้บวกกับประสบการณ์ และเวลาในการคิดค้น "วัคซีน" เพื่อป้องกัน และ "เซรุ่ม" ตลอดการทำงานจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 20210516-b-01.jpg

“หมอประเสริฐ” เคยเขียนถึง “Corona Virus” มันจะกลับมาอีก!

พ่อได้เล่าถึงกระบวนการที่ได้มาซึ่งวัคซีนที่ต้องมีการทดลองในมนุษย์ด้วยจำนวนและระยะเวลาที่เหมาะสมในหนังสือ “ระบาดบันลือโลก” ที่พ่อเขียนไว้เป็นวิทยาทานให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปใด้อ่านเป็นความรู้ถึง 36 เล่ม มีใจความในเล่มนึงที่พ่อกล่าวถึง Corona Virus และพ่อบอกว่ามันจะกลับมาอีก พ่อไม่ได้เป็นนอสตราดามุส แต่พ่อเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ช่างสังเกต เป็นนักวิเคราะห์ เป็นนักคิดนักพิจารณา

 20210516-b-02.jpg

จากแนวคิด “หมอประเสริฐ” ผู้เป็นพ่อ นำมาสู่การตัดสินใจ ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19

การเป็นลูกพ่อที่ได้รับการถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นประโยชน์และแนวคิดของพ่อ ประกอบการถูกอบรมสั่งสอนให้ "รู้จักคิด" แบบที่เป็นลูกของพ่อ ทำให้ตกผลึกได้ว่า

1. การทดลองกับมนุษย์ที่พ่อบอกว่าต้องมีจำนวนที่มากพอกับระยะเวลาที่เหมาะสม ลูกว่าจำนวนน่าจะยิ่งกว่าเพียงพอ ถึงเวลาจะค่อนข้างสั้น แต่ไวรัสที่พ่อเคยรู้จักนั้นมันไม่มีอะไรที่ปรับตัวและแพร่กระจายได้รวดเร็วขนาดนี้ การทดลองที่ยาวนานที่ได้ผลที่เสถียรที่สุดไม่น่าจะใช่ในบริบทนี้ เพราะถ้ารอให้เสถียร มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ไวรัสคงปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ไปถึงไหน ๆ ดีไม่ดีไม่ตายกันทั้งโลกก่อนแล้วเหรอ เพราะฉะนั้นวัคซีนที่มีอยู่ (คิดแบบคนธรรมดา ๆ) น่าจะปลอดภัยเพียงพอ


2. การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญในการ "หยุด” และ “ป้องกัน" การแพร่กระจาย เป็นการตัดปัญหาที่ตันเหตุ การรักษาเป็นการ "แก้ไข" ที่ปลายเหตุ พ่อสอนเสมอว่า ถ้าไม่ป้องกันไว้ก่อน มาแก้ทีหลังน่ะมันยาก ดังนั้นเมื่อโรคมันเร็วและร้ายกับเราขนาดนี้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ทุกคนช่วยกัน "หยุดและป้องกัน" และสิ่งนั้นคือการ “ฉีดวัคซีน”


3. วัคซีนไหนดี? ลูกเป็นแค่ลูกพ่อ ไม่ใช่นักวิชาการเอง เลยบอกตัวเองว่าอย่าทำเป็นรู้ดี พ่อไม่อยู่แล้ว ไม่มีใครบอกลูกว่า อะไรมันดีไม่ดี ก็เลยเดาเอาเองง่าย ๆ ถ้าพ่อยังอยู่ก็คงให้เราฉีด จึงทำการบ้านให้ตัวเองให้รู้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่รู้เพื่อที่จะ "รับมือ" เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนตัวไหนที่ได้รับ ไม่ได้เพื่อที่จะ "เลือก" รับวัคซีนตัวไหน ใจจริงไม่อายเลยที่จะบอกว่าก็อยากฉีดตัวนู้นตัวนี้ เหมือนหลาย ๆ คน เขาว่าตัวนู้นดีตัวนี้ดี ก็อยากฉีด แต่นึกถึงพ่อว่าพ่อคงให้เราคิดดี ๆ ว่าบริบทตอนนี้ อะไรสำคัญกว่า ระหว่าง "สิ่งที่ถูกใจ" กับ "สิ่งที่ถูกต้อง" เพราะนี่คือสิ่งที่พ่อสอนลูกหลานและลูกศิษย์ทุกคนจนเป็นคำติดปากของพ่อ และเมื่อได้ยินคำที่ท่านอาจารย์หมอทั้ง 3 ท่าน พูดว่า #วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ได้ฉีดเร็วที่สุด คือถูกใจมาก คิดว่าเราคงคิดไม่ผิด การฉีดเร็วที่สุดให้ครอบคลุมคนในประเทศให้เร็วที่สุดน่าจะเป็นหนทาง "รอด" ที่ชัดเจนที่สุดตอนนี้ และน่าจะเป็น "สิ่งที่ถูกต้อง" และพึงกระทำในบริบทนี้

 

ลูกสาว “หมอประเสริฐ” ระบุว่า เธอได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ Sinovac เข็มแรกแล้ว ก่อนที่จะพิมพ์ข้อความปิดท้ายว่า “หวังว่าเรื่องที่พ่อเคยเล่ามา จะช่วยหลาย ๆ คน นำไปประกอบในการตัดสินใจ ฉีดหรือไม่ฉีดเป็นวิจารณญาณส่วนตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่บังอาจก้าวก่าย ทั้งนี้ ถ้าการถ่ายทอดเรื่องของพ่อนี้เป็นประโยชน์ต่อการหยุดยั้งโรคระบาดครั้งนี้ได้ไม่มากก็น้อย ลูกขออุทิศบุญนี้ให้กับ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยเทอญ”

 

ขอบคุณเฟซบุ๊ก : Paramee Thongcharoen 

https://www.facebook.com/kati.thongcharoen/posts/10220985307037450

ติดต่อโฆษณา!