ไม่เลื่อน ! 7 มิ.ย. นี้ ฉีดวัคซีนโควิด “ทั่วประเทศ” เตรียมเซ็นซื้อ Pfizer - Johnson & Johnson
Highlight
อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงยืนยัน วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายนนี้ ประชาชนทุกจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ได้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนตามนัดหมายอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังเปิดแผนการจัดซื้อวัคซีนเพิ่ม เตรียมเซ็นสัญญาซื้อวัคซีน Pfizer และ Johnson & Johnson
ท่ามกลางการประกาศ “เลื่อน” การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ปรากฏว่า
วันนี้ (4 มิ.ย. 64 ) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงแผนงานบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 และการกระจายวัคซีน ซึ่งเป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมการยืนยันว่า
วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายนนี้ วัคซีนโควิด-19 มีพร้อมบริการให้ประชาชนได้เข้าไปเข้ารับบริการตามที่นัดหมายไว้อย่างแน่นอน
เป้าหมายการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ภายในปี 2564
เป้าหมายสำคัญของ “ไทย” ก็คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือ ชาวต่างชาติ ที่สมัครใจเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนฟรี อย่างน้อย 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวน 100 ล้านโดส ให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันโรค เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และการเดินหน้าทางเศรษฐกิจ
ก้าวต่อไป พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา วางเป้าหมายปี 2565 ต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 50 ล้านโดส
และถ้าอนาคต ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ ก็ต้องจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่ ๆ ต่อไปอีกเช่นกัน ซึ่ง นายแพทย์โอภาส มีความมั่นใจว่า รัฐบาลจะสามารถสรรหางบประมาณว่าจัดซื้อวัคซีนให้แก่ประชาชนได้อย่างแน่นอน
เป้าหมายซื้อวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในปีนี้ มาจากไหน ?
ทำสัญญาแล้ว ได้แก่
1. Sinovac จำนวน 6 ล้านโดส2. AstraZeneca จำนวน 61 ล้านโดส
เตรียมทำสัญญา ได้แก่
3. Pfizer4. Johnson & Johnson
นายแพทย์โอภาส ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมทำสัญญากับ Pfizer ภายในสัปดาห์หน้า ส่วนจำนวนวัคซีนที่สั่งซื้อ ตั้งเป้าหมายซื้อวัคซีน Pfizer กับ Johnson & Johnson รวมกัน 25 ล้านโดส
และอีก 8 ล้านโดสที่เหลือ เล็งทำสัญญากับยี่ห้อ Sinovac จากจีนอีกครั้ง
ทำไม ? หลายจังหวัดโวย ได้รับวัคซีนแค่ 3,600 โดส จนตัดสินใจประกาศเลื่อน
นายแพทย์โอภาส ชี้แจงว่า ช่วงแรก กรมควบคุมโรค ได้รับวัคซีน AstraZeneca มา 2 แสนโดส ก็รีบจัดสรรออกไปก่อน หลายจังหวัดได้รับเพียง 3,600 จริง แต่วันนี้ (4 มิ.ย. 64) ก็ได้รับมอบวัคซีน AstraZeneca มาเพิ่มอีก 1.8 ล้านโดสแล้ว และกำลังเร่งดำเนินการจัดส่งไปเพิ่ม ดังนั้น แต่ละจังหวัดสามารถเปิดจุดฉีดวัคซีนได้ตามกำหนด
ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 10 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้
อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า ก่อนวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ประชาชนทั่วประเทศ ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
ราว ๆ 4 ล้านโดส ดังนั้น ตั้งแต่ 7 มิถุนายนนี้ วัคซีนโควิด-19 จะได้รับการกระจายไปทั่วประเทศ
ตามกำหนด ทั้งแบบรายสัปดาห์ และรายวัน ดังนี้
สัปดาห์ที่ 1 และ สัปดาห์ที่ 2 (นับตั้งแต่ 7 มิ.ย. นี้) จำนวน 3.54 ล้านโดส
สัปดาห์ที่ 3 ประมาณ 840,000 โดส
สัปดาห์ที่ 4 ประมาณ 2.58 ล้านโดส
นับรวมการปูพรมฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็จะสามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้ 10 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนนี้
หลักการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในเดือนมิถุนายน มีอะไรบ้าง ?
2. จังหวัดที่มีการระบาดอย่างรุนแรง เช่น กรุงเทพมหานคร , นนทบุรี , ปทุมธานี , สมุทรปราการ และเพชรบุรี ก็จะได้รับการจัดสรรเพิ่มเติม
กรณี “กรุงเทพมหานคร” ตั้งเป้าจัดสรรวัคซีน รวม 2.5 ล้านโดส ทั้งผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” รวมถึงโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น จุดบริการนอก รพ. 25 แห่ง , จุดฉีดวัคซีนกลุ่มแรงงาน ในความดูแลของประกันสังคมอีก 25 จุด , มหาวิทยาลัยต่าง ๆ 11 จุด , 6 หน่วยสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยฉีดของโรงพยาบาลเอกชน และศูนย์ต่าง รวมอีก 5 จุด
3. จังหวัดท่องเที่ยว อย่าง “ภูเก็ต” ก็จะได้รับการจัดสรรวัคซีนในปริมาณมาก เนื่องจากเป็นจังหวัดนำร่องในการเปิดรับนักท่องเที่ยววันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ซึ่งล่าสุด จังหวัดภูเก็ต ได้รับวัคซีนเกิน 50% ของจำนวนประชากรแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดในประเทศ รวมถึงกลุ่มแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจและชายแดน เช่น พื้นที่จังหวัดชลบุรี , ระยอง และจังหวัดตาก
กรมควบคุมโรค ย้ำ สถานบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกจุด ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน
1. การคัดกรองประวัติ2. การลงนามยินยอม
3. การฉีดวัคซีนโควิด-19
4. การสังเกตอาการ
5. ระบบการติดตามการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายใน 30 วัน
ประชาชนจะได้รู้ก่อนไหม ? ว่าได้ฉีด AstraZeneca หรือ Sinovac
อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า AstraZeneca และ Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่ใช้ในไทยขณะนี้ ต่างได้รับการรับรองของจาก อย. ไทย และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ ก็ยืนยันว่า วัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อนี้ สามารถใช้ได้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ดังนั้น เมื่อประชาชนเดินทางไปถึงจุดบริการวัคซีน แพทย์ประจำจุด ก็จะเป็นผู้วินิจฉัยว่า จะให้บริการยี่ห้ออะไร ประชาชนที่สงสัย ก็สามารถสอบถามได้ที่จุดบริการเลย ซึ่งก็ขอให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/LiveNBT2HD/videos/761387351198510