08 มิถุนายน 2564
3,404

“ไทย” ติดโควิด-19 สายพันธุ์ Delta 10 จังหวัด อังกฤษเปิดข้อมูล “แพร่เร็วกว่า” Alpha 40%

“ไทย” ติดโควิด-19 สายพันธุ์ Delta 10 จังหวัด อังกฤษเปิดข้อมูล “แพร่เร็วกว่า” Alpha 40%
Highlight

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” เปิดเผยข้อมูล “ไทย” ติดโควิด-19 สายพันธุ์ Delta (อินเดีย) ในพื้นที่ 10 จังหวัด นับจากการพบติดเชื้อครั้งแรกในไทย ผ่านไปไม่ถึง 1 เดือน หวั่นสายพันธุ์นี้  อาจแทนที่ “สายพันธุ์ Alpha” (อังกฤษ) หลังจาก “อังกฤษ” เปิดเผยว่า “แพร่กระจายเร็วกว่า” สายพันธุ์ Alpha 40% พร้อมกับเตือน ! อย่าหลงเชื่อโฆษณาชุดตรวจภูมิคุ้มกัน หลังฉีดวัคซีนโควิด-19

เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย. 64) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว เรื่อง “การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย” ผู้แถลงข่าวประกอบด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข , ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ระลอก เม.ย. 64 กลุ่มตัวอย่างกว่า 90% ติดเชื้อสายพันธุ์ Alpha (อังกฤษ)

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยข้อมูลการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในระลอกเดือนเมษายน 2564 จากกลุ่มตัวอย่าง 3,964 ราย พบว่า สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดมากที่สุด คือสายพันธุ์ Alpha (เดิมเรียก สายพันธุ์อังกฤษ) ราว ๆ 3,500 กว่าราย ส่วนโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมพบเพียง 100 กว่าราย


“ไทย” พบติดสายพันธุ์ Delta (อินเดีย) 235 ราย ใน 10 จังหวัด

นับตั้งแต่การตรวจพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Delta (เดิมเรียก สายพันธุ์อินเดีย) จากแคมป์คนงานเขตหลักสี่ กทม. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเวลาผ่านไปไม่ถึง 1 เดือน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ Delta จำนวน 235 ราย ใน 10 จังหวัดแล้ว ได้แก่

1. กรุงเทพมหานคร 206 คน
2. อุดรธานี 17 คน
3. นนทบุรี 2 คน
4. พิษณุโลก 2 คน
5. สระบุรี 2 คน
6. นครราชสีมา 2 คน
7. ร้อยเอ็ด 1 คน
8. อุบลราชธานี 1 คน
9. สมุทรสงคราม 1 คน
10. บุรีรัมย์ 1 คน

 

ที่จังหวัดอุดรธานี มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ Delta มากถึง 17 คน ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มในพิธีบายศรีสู่ขวัญ

ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำลังสอบสวนโรคที่จังหวัดอุดรธานีว่ามีความเชื่อมโยงกับแคมป์คนงานก่อสร้างย่านหลักสี่หรือไม่


สายพันธุ์ Beta (แอฟริกาใต้) ยังควบคุมได้ในจังหวัดนราธิวาส

การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Beta (เดิมเรียก สายพันธุ์แอฟริกาใต้) ที่พบจำนวน 26 ราย ซึ่งต้นตอมาจากการลักลอบเดินทางข้ามมาจากประเทศมาเลเซีย ขณะนี้ผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในพื้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส  แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังไม่ให้การติดเชื้อขยายออกมานอกพื้นที่ นอกจากนั้น ยังพบสายพันธุ์ชื่อทางวิทยาศาสตร์ B.1.524 ในจังหวัดนราธิวาส และปัตตานี ประมาณ 10 ราย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบในประเทศมาเลเซีย แต่ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล


เฝ้าจับตา “สายพันธุ์ Delta” เข้ามาแทนที่ “สายพันธุ์ Alpha”

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์, ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ต่างบอกในทำนองเดียวกันว่า “สายพันธุ์ Delta” (อินเดีย) อาจจะเข้ามาแทนที่ “สายพันธุ์ Alpha” (อังกฤษ) เนื่องจากแพร่กระจายเร็วกว่า ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ Matt Hancock รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ เปิดเผยสถานการณ์ที่ประเทศอังกฤษในขณะนี้ว่า “สายพันธุ์ Delta” แพร่กระจายเร็วกว่า “สายพันธุ์ Alpha” มากถึง 40%


แพร่กระจายเร็ว ไม่ได้หมายความว่า รุนแรงกว่า!

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า สายพันธุ์ไหนแพร่กระจายได้เร็ว ติดต่อง่าย สายพันธุ์นั้นก็จะขึ้นมาครอง แทนที่สายพันธุ์อื่น แต่การกระจายเร็ว ไม่ได้บอกความรุนแรงของโรค สถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้ ดูหนักหน่วงขึ้น เพราะคนไข้เยอะขึ้น แต่ถ้าเทียบอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ สถานการณ์ปีที่แล้ว กับ การระบาดระลอกเดือนเมษายน มีอัตราที่ใกล้เคียงกัน อยู่ที่ไม่เกิน 2% จึงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า สายพันธุ์ Alpha (อังกฤษ) มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือไม่


สายพันธุ์ Beta (แอฟริกาใต้) รุนแรง แต่แพร่กระจายช้ากว่า

 ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมว่า สายพันธุ์ Beta (แอฟริกาใต้) น่าวิตกกังวล เพราะว่าถึงแม้จะแพร่กระจายช้ากว่า สายพันธุ์ Delta(อินเดีย) กับ สายพันธุ์ Alpha (อังกฤษ) แต่ยอมรับว่า สายพันธุ์ Beta (แอฟริกาใต้) ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกาย หรือ ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ลดลง ดังนั้น แม้จะแพร่กระจายช้า ควบคุมได้ง่าย แต่ก็ต้องเฝ้าระวังไม่ให้การติดเชื้อแพร่กระจายไปในวงกว้าง


เตือน ! อย่าหลงเชื่อโฆษณาชุดตรวจภูมิคุ้มกัน หลังฉีดวัคซีนโควิด-19

นพ.ศุภกิจ อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อการโฆษณาการตรวจภูมิคุ้มกันในร่างกาย หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ในราคาชุดละ 300-500 บาท เพราะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ สิ่งที่ตรวจออกมา ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 สำหรับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จะมีมากน้อยแค่ไหน คือหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่จะร่วมกันทำงานในการวิเคราะห์วิจัยต่อไปด้วยชุดตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนำมาแจ้งประชาชนต่อไป ดังนั้น ประชาชนไม่มีความจำเป็นจะต้องซื้อชุดตรวจไปตรวจเอง และขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่หลอกขายสินค้านี้

แหล่งที่มา :
https://www.facebook.com/DMScNews/videos/533431551133538
https://www.facebook.com/DMScNews/posts/4740089509351500

ติดต่อโฆษณา!