คุณสมบัติ COMIRNATY ของ Pfizer วัคซีนโควิด-19 ที่ “ไทย” อนุมัติรายที่ 6
HighLight :
วัคซีนของ Pfizer เป็นวัคซีนโควิด-19 ตัวล่าสุด ที่ อย. ไทย อนุมัติขึ้นทะเบียนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มิ.ย. 64 ซึ่ง “ไทย” ได้สั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer ไปแล้ว เป็นจำนวน 20 ล้านโดส ขณะเดียวกัน อย. สหรัฐฯ เพิ่งเพิ่มคำเตือนว่าวัคซีน Pfizer และ Moderna อาจเสี่ยงก่อให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ยังอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไป
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (24 มิ.ย. 64) นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนโคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ของบริษัท ไเซอร์ จำกัด (Pfizer) เป็นวัคซีนโควิด-19 รายการที่ 6 ของไทย ขณะเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ไทยได้สั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer จำนวน 20 ล้านโดส แล้ว ซึ่งบริษัทแจ้งว่าจะจัดสรรให้ไทยได้ภายในไตรมาส
4 ของปีนี้
วัคซีนโควิด-19 Pfizer คือความร่วมมือของบริษัทสหรัฐฯ และ เยอรมนี
วัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer บริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง BioNTech บริษัทสัญชาติเยอรมัน เป็นวัคซีนโควิด-19 ที่สหราชอาณาจักร รับรองเป็นแห่งแรกของโลก และให้ประชาชนชาวอังกฤษได้เริ่มฉีด “เข็มแรก” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2563 เป็นต้นมา
WHO รับรอง Pfizer รายแรก
วัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer ยังเป็น “วัคซีนโควิด-19 รายแรกของโลก” ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ประกาศเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ในการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินได้
วัคซีนโควิด-19 Pfizer เป็นวัคซีนยี่ห้อแรกที่อนุมัติฉีดให้คนอายุต่ำกว่า 18 ปี
“แคนาดา” เป็นชาติแรกที่อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer ที่สามารถใช้ได้กับเด็กวัย 12-15 ปี
อีกหลาย ๆ ประเทศ ก็เริ่มทยอยอนุมัติการใช้วัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer ในประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป แต่ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) เพิ่ม “คำเตือน” วัคซีนของ Pfizer กับ Moderna ว่าอาจมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ดังนั้น เรามาทบทวนและอัปเดตข้อมูลวัคซีน Pfizer กัน
ทำความรู้จัก “วัคซีนโควิด-19 Pfizer”
ชื่อการค้า : COMIRNATY
ชื่อวัคซีน : BNT162b2
ผู้วิจัยและพัฒนา : Pfizer, Inc. (สัญชาติอเมริกัน) และ BioNTech (สัญชาติเยอรมัน)
เทคนิคการผลิต : mRNA
ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) เมื่อฉีดวัคซีนเข้าร่างกายมนุษย์ ตัวสารพันธุกรรม mRNA จะเข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (Spike Protein) ของไวรัสชนิดนี้ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปี ขึ้นไป
ประสิทธิภาพ : 95%
การฉีดวัคซีน : บริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน ทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 21 วัน
การจัดเก็บ : -80ºC ถึง -60ºC จนถึงวันหมดอายุ | 2-8 °C (30 วัน)
ผลข้างเคียง : ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีด , อ่อนเพลีย , เจ็บกล้ามเนื้อ , หนาวสั่น , เป็นไข้ , คลื่นไส้
อย. สหรัฐฯ เพิ่มคำเตือนฉีดวัคซีน Pfizer และ Moderna เสี่ยงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้แก้ไขเอกสารข้อเท็จจริงของผู้ป่วยและผู้ให้บริการเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ) และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (การอักเสบของเนื้อเยื่อรอบหัวใจ) หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer และ Moderna ซึ่งอาการลักษณะนี้ มักจะเกิดขึ้นหลังการฉีดเข็มที่ 2 ผ่านไป 2-3 วัน
อย. สหรัฐฯ (FDA) ตัดสินใจเพิ่มคำเตือนนี้เข้าไปในเอกสาร หลังมีรายงานผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมากกว่า 1,200 คน จากการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ประมาณ 300 ล้านโดสทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังรายงานว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และมีอายุต่ำกว่า 30 ปี สามารถรักษาอาการให้หายกลับมาเป็นปกติได้ นี่จึงเป็นเพียงคำเตือนเท่านั้น สหรัฐฯ ยังอนุญาตให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้ต่อไป
อย. ไทย อนุมัติวัคซีนโควิด-19 แล้ว จำนวน 6 ราย
(ข้อมูล ณ 24 มิ.ย. 64)
- วัคซีน AZD1222ของ AstraZeneca
- วัคซีน Coronavac ของ Sinovac
- วัคซีน JNJ-78436735ของ Johnson & Johnson
- วัคซีน mRNA-1273ของ Moderna
- วัคซีน Vero Cell ของ Sinopharm
- วัควีน COMIRNATYของ Pfizer
วัคซีนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (ทยอยยื่นเอกสารประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง)
- วัคซีน Sputnik V ของ Sputnik V
- วัคซีน Covaxin ของ Bharat Biotech
แหล่งที่มา :
https://www.fda.moph.go.th/SitePages/News.aspx?IDitem=1299
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/Pfizer-BioNTech.html
https://www.who.int/publications/m/item/comirnaty-covid-19-mrna-vaccine
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว