หมอแนะกิน “ฟ้าทะลายโจร” ทันทีที่สงสัยติดโควิด-19 ป้องกันเชื้อลงปอด
HighLight : ผลการทดสอบทางคลินิก ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 243 คน มีอาการน้อย ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร (Andrographolide)
พบเชื้อลงปอด (อาการรุนแรง) เพียง 1 คน หรือคิดเป็น 0.4% หมอแนะนำ ทันทีที่ “สงสัย” ติดโควิด-19 กินยาฟ้าทะลายโจรได้เลย เพื่อป้องกันเชื้อลงปอด
เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564 “ฟ้าทะลายโจร” ได้รับการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ซึ่งมีเงื่อนไขในการใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง
ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเสวนาวิชาการ “ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรไทยในวิกฤต COVID-19 ปรากฏว่ามีข้อมูลที่ยิ่งสนับสนุนให้เห็นว่าการใช้ “ฟ้าทะลายโจร” ร่วมรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้นมาถูกทาง อย่างสถานการณ์ปัจจุบัน “ฟ้าทะลายโจร” นำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่กักตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) ดังนั้น ผลการทดสอบทางคลินิกเป็นอย่างไร ? และท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดกำลังวิกฤตหนัก จะเริ่มกินฟ้าทะลายโจรได้ตอนไหน ?
ทีมข่าว “ทันข่าว Today” ขอหยิบยกข้อมูลสำคัญที่มาจากการเสวนาวิชาการในวันนั้น มาให้อ่านกัน
ผู้ป่วย 243 คน กิน “ฟ้าทะลายโจร” พบเชื้อโควิด-19 ลงปอดแค่คนเดียว !
ศ.เกียรติคุณ แพทย์หญิงสยมพร ศิรินาวิน กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลทดสอบทางคลินิกของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ที่วิจัยร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มตัวอย่าง: ผู้ป่วยคนไทยที่กลับจากต่างประเทศ และอยู่ใน State Quarantine Hospitals ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร, นครปฐม และราชบุรี เมื่อ ธ.ค. 63 จำนวน 539 คน
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่ม 1 : ผู้ป่วย 296 คน ไม่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร (Andrographolide)
(สัดส่วน 53% เป็นผู้ป่วยที่มีอาการน้อย 47% ผู้ป่วยไม่มีอาการ)
ผลการทดสอบ : พบเชื้อลงปอด (อาการรุนแรง) 71 คน หรือคิดเป็น 24%
กลุ่ม 2 : ผู้ป่วยทั้ง 243 คน มีอาการน้อย ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร (Andrographolide)
ผลการทดสอบ : พบเชื้อลงปอด (อาการรุนแรง) 1 คน หรือคิดเป็น 0.4%
ศ.เกียรติคุณ แพทย์หญิงสยมพร กล่าวข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนไข้เพียงคนเดียวที่มีอาการรุนแรง แม้ได้กินสารสกัดฟ้าทะลายโจร เพิ่งได้รับยาวันที่ 11 ของการติดเชื้อ ซึ่งถือว่าค่อนข้างช้า ขณะเดียวกันผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรง ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงสูง พร้อมกับสรุปผลการทดลองว่า การได้รับหรือไม่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร ส่งผลต่ออาการของคนไข้แตกต่างกันอย่างมาก
Andrographolide ในฟ้าทะลายโจร มีบทบาทในการปราบไวรัส
ศ.เกียรติคุณ แพทย์หญิงสยมพร หลักการรักษาโรคติดเชื้อ มีอยู่ 4 ข้อ ได้แก่
- กำจัดเชื้อโรคต้นเหตุ (Specific Rx)
- ควบคุมกระบวนการก่อโรค (Adjunctive Rx)
- การรักษาอาการป่วย (Symptomatic Rx)
- ป้องกันและแก้ไขปัญหาต่ออวัยวะต่าง ๆ (Rx of Complications)
ซึ่ง 3 ข้อแรก Andrographolide มีบทบาทอย่างมาก
หมอแนะทันทีที่ “สงสัย” ติดโควิด-19 กินยาฟ้าทะลายโจรได้เลย
ศ.เกียรติคุณ แพทย์หญิงสยมพร วิเคราะห์เจาะลึกไปอีกว่า เมื่อดูกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้รับ Andrographolide ฟ้าทะลายโจรเลย ในกลุ่มที่ไม่มีอาการเลย กับกลุ่มที่มีอาการน้อย โอกาสที่ร่างกายของพวกเขาจะมีอาการรุนแรง (เชื้อลงปอด) ก็เกิดขึ้นเท่า ๆ กัน ดังนั้น ถ้าเพิ่งติดเชื้อโควิด-19 ก็ไม่ควรปล่อยนิ่งเฉย
ดังนั้น ทันทีที่รู้ว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือสงสัยมาก ๆ ว่าจะติดเชื้อ ก็ควรกินยาฟ้าทะลายโจรให้เร็วที่สุด ในขนาดยาที่เหมาะสม ซึ่งการให้ยาในงานวิจัยก็อยู่ที่ ขนาดยาที่มีปริมาณ Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งเป็นวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน แต่ก็ต้องระวังว่ากลุ่มไหนไม่ควรใช้ ผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง แต่ถึงแม้จะมีผลข้างเคียง ก็หายได้เอง ไม่ได้รุนแรง
4 จุดเด่นของ “ฟ้าทะลายโจร”
- ความปลอดภัยสูง (Safe)
- มีประสิทธิภาพ (Effective)
- หาง่าย (Widely Available)
- ประหยัด (Economical)
ข้อห้ามใช้ “ฟ้าทะลายโจร”
- ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร
- สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคไตอักเสบจากการติดเชื้อ
- ผู้ป่วยโรค “รูมาติก”
- ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีอาการรุนแรง เช่น มีตุ่มหนองในคอ ไข้สูง หนาวสั่น เป็นต้น
ข้อควรระวังในการใช้
อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น ผื่นคัน ลมพิษ จนถึงอาการช็อกจากการแพ้อย่างรุนแรง หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์
อาการไม่พึงประสงค์
อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น
แหล่งที่มา :
https://www.facebook.com/dtam.moph/videos/318920859766646
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว