กทม. เริ่มมาตรการ Home Isolation จริงจัง สปสช. สนับสนุนค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ?
HighLight
เงื่อนไขของ Home Isolation แม้ผู้ติดโควิด-19 ต้องกักตัวในบ้าน แต่ต้องไม่ถูกทอดทิ้งเพียงลำพัง การรักษาต้องเป็นไปตามมาตรฐานเหมือนอยู่โรงพยาบาล ดูแลไม่ให้อาการผู้ป่วยรุนแรงขึ้นเป็นระดับสีเหลือง หรือสีแดง และถ้า Home Isolation ยังเป็นอุปสรรคของหลาย ๆ คน ขณะนี้กำลังมีมาตรการ Community Isolation การดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนามสำหรับคนในชุมชน
จากข้อมูลกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 64 มีจำนวนผู้ติดโควิด-19 ใน กทม. และปริมณฑล ครองเตียงมากถึง 29,769 เตียง ซึ่งใกล้ขีดจำกัดแล้ว
ขณะเดียวกัน แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงวันนี้ (8 ก.ค. 64) เฉพาะยอดผู้ติดเชื้อ กทม. เพิ่มขึ้น 2,212 คน เสียชีวิตเพิ่ม 38 คน ซึ่งสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร จะเป็นเจ้าภาพในการเร่งรัดจัดตั้งระบบการแยกกักตัวอยู่บ้าน (Home Isolation) ของผู้ติดโควิด-19 กลุ่มสีเขียว (ไม่มีอาการ) อย่างจริงจัง ภายใน 1-2 วัน
เงื่อนไขของ Home Isolation แม้ผู้ติดโควิด-19 ต้องกักตัวในบ้าน แต่ต้องไม่ถูกทอดทิ้งเพียงลำพัง การรักษาต้องเป็นไปตามมาตรฐานเหมือนอยู่โรงพยาบาล ดูแลไม่ให้อาการผู้ป่วยรุนแรงขึ้นเป็นระดับสีเหลือง หรือสีแดง และถ้า Home Isolation ยังเป็นอุปสรรคของหลาย ๆ คน ขณะนี้กำลังมีมาตรการ Community Isolation การดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนามสำหรับคนในชุมชนอีกด้วย
ดังนั้น มาตรการ Home Isolation และ Community Isolation เป็นอย่างไร ? สปสช. จะเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ? และถ้าอยากกลับไปรักษาตัวที่ต่างจังหวัด ทำได้ไหม ? “ทันข่าว Today” รวบรวมคำตอบมาให้ติดตามกัน
สถานการณ์เลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564
วันนี้ (8 ก.ค. 64) เพจ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” เผยแพร่ LIVE ประเด็น “ติดเชื้อโควิด-19 กักตัวที่บ้าน หรือที่ชุมชน ต้องทำอย่างไร”หากอยากกลับไปรักษาที่ต่างจังหวัดต้องติดต่อใคร ?
ซึ่งมีนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงประสบศรี อึ้งถาวร บอร์ด สปสช. และเรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มาให้คำตอบร่วมกัน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้นำมาตรการแยกกักตัวอยู่บ้าน (Home Isolation) มาใช้ เนื่องจากไทยยังมีระบบ Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ที่รองรับได้อย่างเพียงพอ แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก จากสถิติเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 64 ผู้ติดโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครองเตียงเป็นจำนวนมากถึง 29,769 เตียง ซึ่งใกล้ขีดความสามารถแล้ว
ดูข้อเสีย Home Isolation เหตุผลที่ไม่ใช้มาตรการนี้ตั้งแต่แรก
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อเสียของ Home Isolation ประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก คือ
1. ถ้าไม่มีคนดูแลที่ถูกสุขลักษณะ สุขภาพคนไข้จะทรุดลงได้ จากกลุ่มสีเขียว อาจเขยิบเป็นกลุ่มสีเหลือง หรือกลุ่มสีแดงได้ และเสียชีวิตในที่สุด
2. รายงานของต่างประเทศ พบว่า มีคนไข้โควิด-19 จำนวน 10% ไม่กักตัวเอง ยังออกนอกบ้าน ทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 ในชุมชน
แนวคิด Home Isolation & Community Isolation
ปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้ “บ้าน” ไม่เอื้ออำนวยในการกักตัวเอง ข้อจำกัดนี้ จึงเป็นที่มาของ Community Isolation คือ การดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนามสำหรับคนในชุมชน ให้ชุมชนเข้าร่วมดูแล ซึ่งมีโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยรายนั้น เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
เกณฑ์พิจารณาผู้ป่วย Home Isolation
1. เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Cases)
2. อายุน้อยกว่า 60 ปี
3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
4. อยู่คนเดียว หรือ มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
5. ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน: ดัชนีมวลกาย (BMI) ≥ 30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว > 90 กก.)
6. สำคัญที่สุด จะต้องไม่มีโรคร่วม ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
7. ผู้ป่วยยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด
การกักตัวในชุมชน (CommunityIsolation)
ชุมชนมีลักษณะดังนี้
1.เป็นหมู่บ้าน / แคมป์คนงาน
2. ชุมชนยินยอมรับผู้ติดเชื้อ
3. สามารถจัดบริการดูแลผู้ติดเชื้อไม่เกิน 200 คน
4. จัดตั้งศูนย์ติดตามอาการผู้ป่วยได้ตลอด 24 ชั่วโมง
5. สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลได้ (ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น)
6. มีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ หรือ ได้รับการปรับปรุง เพื่อป้องกันการระบาดออกนอกชุมชน
การดำเนินงานของโรงพยาบาล
1. ประเมินผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์
2. ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์
3. ควรถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest X-ray) วันแรกที่วินิจฉัย (ถ้าทำได้)
4. แนะนำการปฏิบัติตัวให้กับผู้ติดเชื้อ
5. ติดตามและประเมินอาการผู้ติดเชื้อ วัน 2 ครั้ง (เยี่ยมด้วยตัวเอง/โทรศัพท์/ออนไลน์)
ให้ผู้ติดเชื้อวัดอุณหภูมิและระดับออกซิเจนในเลือด และให้แจ้งโรงพยาบาลทุกวัน วันละ 2 ครั้ง
6. มีระบบรับ-ส่ง ผู้ป่วย ไปโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น
สปสช. สนับสนุนค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ?
1. RT-PCR
- ตรวจ Lab 1,600 บาทต่อครั้ง
- ค่าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Lab 600 บาทต่อครั้ง
- ค่าเก็บ Swab 100 บาทต่อครั้ง
2. ค่าดูแลการให้บริการผู้ป่วย
จ่ายแบบเหมาจ่าย ในอัตรา 1,000 บาทต่อวัน
(ค่าอาหาร 3 มื้อ ติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา)
3. ค่าอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย (ตามรายการที่ใช้จริง ไม่เกิน 1,100 บาทต่อคน)
- ปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล
- เครื่องวัด Oxygen saturation
4. ค่ายา
ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะโรคโควิด-19 จ่ายตามจริง ไม่เกิน 7,200 บาทต่อราย
5. ค่ารถส่งต่อ
จ่ายตามจริงตามระยะทาง + ค่าทำความสะอาด 3,700 บาท
6. ค่าอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
PPE หรือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกระบวนการ หรืออุปกรณ์อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ จ่ายตามจริง ไม่เกินวันละ 740 บาทต่อราย (คิดจำนวนเบิกจ่ายตามจำนวนบุคลากรที่ปฏิบัติงานจริงต่อวัน)
7. ค่า Chest X-ray
จ่ายในอัตรา 100 บาท/ครั้ง เพื่อการคัดแยกระดับความรุนแรงของโรค คิดจำนวนเบิกจ่ายตามจำนวน
บุคลากรที่ปฏิบัติงานจริงต่อวัน และภาวะปอดอักเสบ
(ก่อนเข้า Home Isolation & Community Isolation)
ถ้าอยากกลับไปรักษาตัวที่ต่างจังหวัด ทำได้ไหม ?
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ทำได้ในกรณีที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้น ๆ มีนโยบายรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่าเดินทางกลับบ้านเอง เพื่อการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยและลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ขอให้โทรติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 หรือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประสานหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขจังหวัดปลายทาง โรงพยาบาลที่จะรับผู้ป่วยในความดูแล เพื่อประเมินว่าจะเข้ารับการรักษารูปแบบไหน ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่จะจัดรถและบุคลากรจากจังหวัดปลายทางมารับผู้ป่วยเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายรถขนส่ง จะเข้าเงื่อนไขในความดูแลของ สปสช.
แหล่งที่มา :
https://www.facebook.com/NHSO.Thailand/videos/823743151865339
https://www.facebook.com/informationcovid19/videos/1139646236557496
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว