15 กรกฎาคม 2564
4,757

“หมอธีระวัฒน์” ท้วงฉีด Sinovac + AstraZeneca อาจ “เสียเปล่า - เกิดผลร้ายมากขึ้น”

“หมอธีระวัฒน์” ท้วงฉีด Sinovac + AstraZeneca อาจ “เสียเปล่า - เกิดผลร้ายมากขึ้น”
HighLight

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ระบุว่า การไขว้ Sinovac กับ AstraZeneca จะไม่เป็นไปตามหลักการไขว้วัคซีนที่ปฏิบัติกันไปแล้วใน AstraZeneca กับ Pfizer หรือ Moderna อาจจะกลายเป็นเสียวัคซีนเข็มแรกไป และยิ่งไปกว่านั้นภูมิที่ได้โดยไม่สามารถจับได้แน่นกับสายพันธุ์ Delta อาจจะกลายเป็นทำให้เกิดผลร้ายมากขึ้น ด้วยการที่ภูมิไปจับไวรัสและนำพาไปหาเซลล์ที่สร้างการอักเสบอย่างรุนแรงต่อ

“ไทย” เป็นประเทศแรก ที่หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขเห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิด-19
เข็ม 1 คือ ยี่ห้อ Sinovac และเข็ม 2 AstraZeneca รวมถึงการมีมติการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เข็มที่ 3 (Booster dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ด้วยวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer  
 
ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า การฉีด Sinovac ต่อด้วย AstraZeneca ไม่เป็นไปตามหลักการไขว้วัคซีน อาจจะกลายเป็นการเสียวัคซีนเข็มแรกไป และยิ่งไปกว่านั้น อาจจะกลายเป็นทำให้เกิดผลร้ายมากขึ้น แต่การฉีด Sinovac 2 เข็ม กระตุ้นด้วย AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3 ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นมาก
 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อธิบายเหตุผลถึงประเด็นเหล่านี้ไว้อย่างไร ? ไปติดตามกัน
 
ความสับสนที่เกิดขึ้นจากการไขว้วัคซีน ต้นเหตุ “น่าจะเกิดขึ้นจากการที่หาวัคซีนไม่ได้”

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ถึงกรณีการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับ 2 ชนิด มีใจความโดยสรุปว่า ความสับสนที่เกิดขึ้นจากการไขว้วัคซีน ต้นเหตุ น่าจะเกิดขึ้นจากการที่หาวัคซีนไม่ได้ ดังนั้น การจะแก้ความสับสนคือ “แก้ที่ต้นเหตุ” หาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีเข้ามาให้เพียงพอสำหรับคนไทย
 

การฉีด Sinovac ต่อด้วย AstraZeneca ไม่เป็นไปตามหลักการไขว้วัคซีน

สำหรับการไขว้วัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อธิบายความหมายว่า วัคซีนเข็มเดียวแต่ละยี่ห้อก็มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว และเมื่อมาใช้ร่วมกันจะได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีก และอีกทั้งมีความสามารถเฉพาะเจาะจงกับสายพันธุ์ที่ต่างจากเดิมออกไป เช่น สายพันธุ์ Delta มากขึ้น
วัคซีน AstraZeneca จะเริ่มสร้างภูมิให้เห็นได้ชัดเจน 14 วัน หลังจากฉีดเข็มแรก แต่ในทางกลับกัน วัคซีน Sinovac จะเริ่มสร้างภูมิเกือบ 30 วัน หลังฉีดเข็มที่ 2
ดังนั้น การไขว้ Sinovac ต่อด้วย AstraZeneca จะไม่เป็นไปตามหลักการไขว้วัคซีนที่ปฏิบัติกันไปแล้วใน AstraZeneca กับ Pfizer หรือ Moderna
 

ประสิทธิภาพ Sinovac ต่อการป้องกันติดสายพันธุ์ Delta “ไม่ชัดเจน”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ระบุว่า Sinovac ยังไม่มีความชัดเจนในประสิทธิภาพเจาะจงในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ Delta ดังสถานการณ์ในชิลี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา หรือในบราซิล หรืออินโดนีเซีย เป็นต้น
ส่วนประเทศจีนที่ได้ผลนั้น แม้จะยืนพื้นด้วย Sinovac แต่เป็นเพราะมีการคัดกรอง และแยกตัวอย่างดีเยี่ยม และเข้าถึงประชาชนทุกคนพร้อมกันนั้น คือ การทำตามวินัยสูงสุด
 

การไขว้ Sinovac กับ AstraZeneca อาจ “เสียเปล่า - เกิดผลร้ายมากขึ้น”

การไขว้ Sinovac กับ AstraZeneca จะไม่เป็นไปตามหลักการไขว้วัคซีนที่ปฏิบัติกันไปแล้วใน AstraZeneca กับ Pfizer หรือ Moderna อาจจะกลายเป็นเสียวัคซีนเข็มแรกไป และยิ่งไปกว่านั้นภูมิที่ได้โดยไม่สามารถจับได้แน่นกับสายพันธุ์ Delta อาจจะกลายเป็นทำให้เกิดผลร้ายมากขึ้น ด้วยการที่ภูมิไปจับไวรัสและนำพาไปหาเซลล์ที่สร้างการอักเสบอย่างรุนแรงต่อ


ฉีด Sinovac 2 เข็ม กระตุ้นด้วย AstraZeneca ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นมาก

แต่ในทางกลับกัน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ชี้ว่า Sinovac เมื่อฉีดไป 2 เข็ม และภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว ทดแทนได้ด้วยการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย AstraZeneca ซึ่งช่วยให้ภูมิสูงขึ้นอย่างมาก
และขณะเดียวกันมีความสามารถเจาะจงกับสายพันธุ์ Delta ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในระยะแรกควรใช้ในบุคลากรด่านหน้าที่ต้องรักษาผู้ป่วย และถ้าเกิดติดเชื้อจะยิ่งแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยมากขึ้นไปอีก
ก่อนที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา สรุปในปิดท้ายว่า ถึงแม้ว่า Sinovac ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจะลดลงเร็ว รวมทั้งต่อสายพันธุ์ Delta แต่ก็ยังมีความดีงามในการบรรเทาความรุนแรง เมื่อติดเชื้อไปแล้วอย่างแน่นอน

แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/thiravat.h/posts/4678589608841223

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว

ติดต่อโฆษณา!