19 กรกฎาคม 2564
1,985

กรมอนามัย แนะ 8 แนวทาง “หญิงตั้งครรภ์” ฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดเสี่ยงเสียชีวิตทั้งแม่และเด็ก

กรมอนามัย แนะ 8 แนวทาง “หญิงตั้งครรภ์” ฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดเสี่ยงเสียชีวิตทั้งแม่และเด็ก
HighLight

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงหญิงตั้งครรภ์ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แนะ 8 แนวทางให้แก่โรงพยาบาลและคลินิกฝากครรภ์ให้ความรู้คำแนะนำเรื่องฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดอาการป่วยหนัก ลดเสี่ยงเสียชีวิตทั้งแม่และเด็ก พร้อมแนะจุดให้บริการวัคซีนควรมีช่องพิเศษสำหรับหญิงตั้งครรภ์

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า “หญิงตั้งครรภ์” ที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป และเพิ่มความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ ดังนั้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้แนะ 8 แนวทางให้แก่โรงพยาบาลและคลินิกฝากครรภ์ให้ความรู้คำแนะนำเรื่อง “ฉีดวัคซีนโควิด-19” ลดอาการป่วยหนัก ลดเสี่ยง เสียชีวิตทั้งแม่และเด็ก รวมถึง 5 วิธีปฏิบัติของ “หญิงตั้งครรภ์” ในการดูแลตนเองเป็นพิเศษ มีอะไรบ้าง ? ไปติดตามกัน


การติดเชื้อโควิด-19 ใน “หญิงตั้งครรภ์” 581 ราย เสียชีวิตแล้ว 9 ราย !

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 3 กรกฎาคม 2564 พบมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 581 ราย เสียชีวิต 9 ราย ทารกติดเชื้อ 40 ราย และเสียชีวิต 4 ราย


“ทารก” เสี่ยงคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อย

หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ เลือดแข็งตัวผิดปกติ คลอดก่อนกำหนดได้ ส่วนทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ มีโอกาสคลอดกำหนดและน้ำหนักตัวน้อยเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับทารกที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อ อธิบดีกรมอนามัย จึงขอความร่วมมือทุกโรงพยาบาลและคลินิกฝากครรภ์มีแนวทางให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับหญิงตั้งครรภ์


8 แนวทางให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ “หญิงตั้งครรภ์”

1. ให้คำแนะนำหรือให้คำปรึกษาเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด–19 ต่อหญิงตั้งครรภ์  

2. เมื่อตัดสินใจฉีดวัคซีนแล้ว ให้พิจารณาว่าไม่มีข้อห้ามในการฉีด และผู้รับบริการมีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์

3. หญิงตั้งครรภ์ลงชื่อในแบบคัดกรองและใบยินยอมในการรับวัคซีน

4. ตรวจครรภ์ตามปกติจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

5. ส่งตัวหญิงตั้งครรภ์พร้อมแบบคัดกรอง และใบยินยอมรับบริการวัคซีนโควิด–19 เพื่อไปรับวัคซีน ณ จุดฉีดวัคซีนที่กำหนดไว้

6. พยาบาลห้องฝากครรภ์ประสานจุดฉีดวัคซีน แจ้งจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่ไปรับวัคซีน กรณีวัคซีนไม่เพียงพอให้ทำการนัดหมายกำหนดวันต่อไป

7. เมื่อหญิงตั้งครรภ์ไปถึงจุดฉีดวัคซีน ให้เข้าช่องทางพิเศษสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่จุดบริการวัคซีนจัดไว้ หลังจากนั้นผ่านจุดคัดกรอง ฉีดวัคซีน และสังเกตอาการตามระบบ

8. นัดหมายการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ด้วยการแจ้งให้หญิงตั้งครรภ์สังเกตอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งทุกหน่วยบริการให้วัคซีนแก่หญิงตั้งครรภ์ต้องติดตาม และรายงานข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ รวมถึงผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ หลังจากได้รับวัคซีนแล้วด้วย


5 วิธีปฏิบัติของ “หญิงตั้งครรภ์” ในการดูแลตนเองเป็นพิเศษ

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะนี้ หญิงตั้งครรภ์ควรมีวิธีปฏิบัติและดูแลตนเองเป็นพิเศษ ได้แก่

1. สวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน
2. จำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น เมื่อต้องไปฝากครรภ์
3. ไม่ไปในที่ที่มีคนหนาแน่น
4. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ
5. กินอาหารปรุงสุก สะอาด และครบ 5 หมู่ ได้แก่ ข้าวหรือแป้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ควบคู่กับการดื่มนมรสจืด 2-3 แก้วทุกวัน ขอให้เลี่ยงอาหารรสจัด อาหารหมักดอง กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่
 
แหล่งที่มา :
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/161422/
 
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว

ติดต่อโฆษณา!