สารพันประโยชน์ของมังคุด ทั้งตามตำรายาไทย และแพทย์สมัยใหม่
HighLight
ทราบกันดีว่าปีนี้มังคุดมัราคาตกต่ำอย่างมาก ทั้งจากผลผลิตที่ออกมาสู่ตลาดมาก ประกอบกับสถานการณ์โควิด ทำให้ตลาดต่างๆทั่วประเทศมีผู้ใช้บริการน้อยลงหรือหลายแห่งต้องปิดเป็นการชั่วคราว ทำให้ราคามังคุดหน้าสวน ร่วงลงเหลือเพียงกิโลกรัมละ 7-10 บาทเท่านั้น วันนี้ทันข่าวจึงรวบรวมเอาสารพันประโยชน์ของมังคุดที่มีต่อสุขภาพ มาฝาก เผื่อว่าจะเป็นทางเลือกในการบริโภคของพวกเราในช่วงโควิดระบาด และยังช่วยเกษตรกรชาวสวนได้ด้วย
มังคุด (Mangosteen) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia mangostana Linn มีถิ่นกำเนิดบริเวณคาบสมุทรมลายู สำหรับประเทศไทยมีการเพาะปลูกกันมากในภาคใต้และภาคตะวันออก ถือเป็นราชินีแห่งผลไม้ของไทย
สรรพคุณตามตำรายาไทย
ในกรุงเทพมหานครมีวังสวนมังคุด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณวังหลัง โรงพยาบาลศิริราช สันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่สำหรับปลูกมังคุดเพื่อรับรองคณะทูตที่เดินทางมาจากเมืองอื่น ปัจจุบันถ้าใครเดินทางไปวังหลัง บริเวณทางเดินไปวัดระฆัง ยังพบเห็นกำแพงของวังสวนมังคุดปรากฏอยู่ สรรพคุณตามตำรายาไทยของมังคุดระบุไว้ว่า
ราก ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ รักษาโรคบิดมูกเลือด
ต้น ใบ และดอก รักษาโรคบิดมูกเลือด
เปลือกต้น ชะล้างบาดแผล รักษาแผล
ผลดิบ สมานแผล แก้บาดแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด
เปลือกผล แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ท้องเสีย
เนื้อในผล บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย
สรรพคุณตามวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
สำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าเนื้อมังคุดมีสารกลุ่มแคททีชินและฟลาวานอยด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ แต่ฤทธิ์น้อยกว่าเปลือกมังคุด ซึ่งจะพบสารกลุ่มแซนโทน ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาน้ำคั้นเนื้อมังคุดผสมเปลือกมังคุด โดยเน้นประโยชน์เรื่องการต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาน้ำมังคุดเข้มข้นให้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงการศึกษาเรื่องความเป็นพิษของการนำเปลือกมังคุดมาใช้สำหรับบริโภค ที่จำเป็นต้องคำนึงถึงขนาดที่ใช้ เนื่องจากมีรายงานความเป็นพิษต่อตับของสารกลุ่มแซนโทนที่พบในเปลือกมังคุด
สำหรับการรับประทานเนื้อมังคุดสด ถึงแม้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพียงเล็กน้อย แต่รสชาติก็หวานอร่อยถูกใจผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังในผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
นอกจากนี้ มังคุดยังมีการนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เปลือกมังคุดซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes และ Staphylococcus epidermidis ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผลิตภัณฑ์รักษาสิว นอกจากนี้ ยังมีการศึกษานำเปลือกมังคุดมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ลดกลิ่นปาก เจลและเพสต์สำหรับป้ายปาก เพื่อใช้รักษาโรคปริทันต์และแผลในปาก เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคในช่องปาก และมีการทดลองนำครีมผสมสารสกัดเปลือกมังคุดไปรักษาแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน พบว่าได้ผลดี
อย่างไรก็ตามการนำเปลือกมังคุดมาใช้ประโยชน์ภายนอกก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเกิดการแพ้ อาการข้างเคียง และขนาดที่ปลอดภัย จะเห็นได้ว่ามังคุดนอกจากจะเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีแล้วยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน สมกับเป็นราชินีแห่งผลไม้ของไทยจริงๆ
ที่มา : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว