13 สิงหาคม 2564
4,843

เช็คคุณสมบัติ ใครมีสิทธิได้ไฟเซอร์รอบประชาชนทั่วไป

เช็คคุณสมบัติ ใครมีสิทธิได้ไฟเซอร์รอบประชาชนทั่วไป
HighLight

เป็นที่ทราบกันว่า ประเทศไทยได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.5 ล้านโดส ซึ่งภารกิตเร่งด่วนคือการฉีดให้ “ด่านหน้า” หรือบุคลากรทางการแพทย์ไปแล้ว จำนวนประมาณ 7 แสนโดส ซึ่งวัคซีนที่เหลือ ก็จะมีการจัดสรรให้กับกลุ่มต่างๆ รวมทั้ง “ประชาชน” ทั่วไป ซึ่งมีโควต้าราว 645,000 โดส แน่นอนว่าย่อมต้องมีข้อกำหนดด้านคุณสมบัติและเงื่อนไขต่างๆ โดยจะเริ่มทยอยให้ลงทะเบียนและประมาณกลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป #ทันข่าวสุขภาพจึงรวบรวมคุณสมบัติว่าใครสามารถเข้ารับการฉีดไฟเซอร์ได้บ้าง ลองเช็คกันดู


คุณสมบัติ ผู้มีสิทธิได้รับวัคซีนไฟเซอร์ รอบประชาชนทั่วไป

1. ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป
2. ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ผู้ที่เกิดก่อน 15 สิงหาคม 2504)
3. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

20210813-b-01.jpg

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขสำคัญอีก 2 ข้อ คือ 1. มีภูมิลำเนาอยู่ใน 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม และ 2. จะต้องเป็นกลุ่มคนที่ “ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน” เพื่อกระจายการฉีดไปให้มากที่สุด ในกลุ่มเสี่ยงทั้ง 3 ประเภทข้างต้น

โดยวิธีการลงทะเบียน ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลในจังหวัดดังกล่าวเป็นผู้จัดการ ซึ่งเริ่มทยอยเห็นโรงพยาบาลหลายแห่ง กำหนดวันลงทะเบียนแล้ว และน่าจะได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก 


7 กลุ่มโรคเสี่ยง มีอะไรบ้าง?


1. โรคระบบทางเดินหายใจ
2. โรคหัวใจและหลอดเลือด
3. โรคไตวาย
4. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
5. โรคเบาหวาน
6. โรคอ้วน
7. โรคหลอดเลือดสมอง


ผลข้างเคียงอาจมีบ้างแต่รักษาได้


วัคซีนไฟเซอร์ เป็นเทคโนโลยี mRNA ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นมาไม่นานนักและมีข้อมูลน้อยกว่าวัคซีนประเภทอื่นที่มีการใช้งานมานานกว่า แต่มีข้อดีหลายด้าน ประการหนึ่งคือสามารถใช้ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ ในขณะที่วัคซีนอื่นจะแนะนำให้ใช้กับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 

ในด้านผลข้างเคียง จากการสำรวจผลการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการใช้วัคซีนชนิด mRNA สูง ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา 300 ล้านโดส พบอาการไม่พึงประสงค์ 2 อาการ ได้แก่ 1.กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ 2.เยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ จำนวน 1,226 ราย หรือคิดเป็น 4 คน ในล้านคน ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ไทยต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าอาการเหล่านี้มักพบในกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 30 ปี โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 16-20 ปี ส่วนใหญ่พบหลังฉีดเข็มที่ 2 ไม่เกิน 7 วัน และมักเกิดขึ้นกับเพศชายสูงกว่าเพศหญิง อาทิ เพศหญิงอายุ 18-24 ปี พบ 23 ราย ขณะที่เพศชายในกลุ่มอายุเท่ากันพบ 219 ราย 

อย่างไรก็ดี อาการดังกล่าวสามารถรักษาหายได้ตามอาการ และยังไม่เคยพบการเสียชีวิตจากอาการนี้ แต่มีคำแนะนำหลังการฉีดงดการออกกำลังกายหนัก เพื่อลดความเสี่ยงหัวใจทำงานหนัก ซึ่งอาจทำให้อาการแย่ลง

ติดต่อโฆษณา!