วัคซีนผลิตโดยจุฬา หรือ “ChulaCOV19” มีประสิทธิภาพเทียบเท่า ไฟเซอร์ คาดใช้ได้ต้นปีหน้า
HighLight
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประสบผลสำเร็จในวิจัยและทดลอง วัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ชื่อว่า “ChulaCOV19” ซึ่งปรากฏว่าสามารถกระตุ้นแอนติบอดีได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม รวมทั้งเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ทั้งอัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในไทยอยู่ขณะนี้ โดยคาดว่าจะนำมาใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ได้ในต้นปีหน้า
ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลวิจัยวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิด mRNA ของจุฬาฯ ที่ชื่อว่า ChulaCOV19 ผ่านการทดสอบระยะแรกในอาสาสมัคร 36 คน พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีได้สูงเทียบได้กับวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์-ไบออนเทค และสามารถยับยั้งไวรัสกลายพันธุ์ได้ 4 สายพันธุ์
ศ.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ รพ.จุฬาลงการณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยความคืบหน้าของการทดสอบระยะแรกในอาสาสมัคร อายุ 18-55 ปี ว่าวัคซีน ChulaCOV19 สามารถกระตุ้นแอนติบอดีได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม รวมทั้งเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ทั้งอัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในไทยอยู่ขณะนี้
การตรวจทดสอบผลประสิทธิภาพของวัคซีน ChulaCOV19 มีการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ 3 ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
จากการตรวจวัดภูมิคุ้มกันแอนติบอดีที่อยู่ในอาสาสมัคร โดยศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ เพื่อดูว่าวัคซีนสามารถยับยั้งปุ่มหนามโปรตีนของไวรัสได้หรือไม่ จากการวิจัยพบว่า วัคซีน ChulaCOV19 มีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสเท่ากับวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เช่นเดียวกัน
"ChulaCOV19 ตัวเลขอยู่ที่ 94% เท่ากับไฟเซอร์ 94%" ศ.นพ. เกียรติ กล่าว พร้อมเสริมว่า จุดตัดประสิทธิภาพวัคซีน ถ้าตัวใดเกิน 68% แปลว่า "น่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้" ศ.นพ. เกียรติ กล่าว
ส่วนผลข้างเคียงและความปลอดภัยในอาสาสมัคร 36 ที่ทำการทดสอบ ไม่พบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงใด ๆ พลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอยู่ในขั้นเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนใหญ่เป็นการเจ็บตรงจุดที่ฉีดวัคซีนแบบที่เป็นการฉีดวัคซีนทั่วไป
"ถ้าเป็นการอ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น การปวดกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดมากขึ้นในเข็มที่ 2" ศ.นพ. เกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ การทดสอบนี้แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับปริมาณโดสไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 10,25 และ 50 มิลลิกรัม ซึ่ง ศ.นพ.เกียรติ ชี้แจงว่า "ถ้าโดสต่ำ อาการแทบจะไม่มี แต่อ่อนเพลียมีหมดในทุกระดับโดส"
การเปรียบเทียบนี้เป็นการนำผลข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์และเนเจอร์ ซึ่งเป็นท็อป 5 อันดับของโลกมาเทียบเคียง โดยเป็นงานวิจัยคนละชิ้น ซึ่งไม่สามารถเปรียบเทียบโดยตรงได้
ศ.นพ.เกียรติได้ย้ำว่า ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ได้มีการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ และยังเป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยในระยะต่อไป
ผลแล็บจากมหิดลสอดคล้องจุฬาฯ ชี้ประสิทธิภาพเทียบไฟเซอร์
ศ.นพ. เกียรติ กล่าวว่า ผลประสิทธิภาพของวัคซีน ยังถูกนำไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการแห่งอื่น เพื่อให้ "มั่นใจว่างานนี้ไม่ได้ลำเอียงใด ๆ ในเชิงวิชาการ" หนึ่งในนั้น คือ ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่นำโดย รศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาระดับโมเลกุล ได้มีการตรวจเชื้อไวรัสที่เพาะเลี้ยงจริง ๆ แต่ละสายพันธุ์ เพื่อดูว่าภูมิคุ้มกันในเลือดสามารถจะยับยั้งไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ในหลอดทดลองที่ทำการศึกษาหรือไม่
"เปรียบเทียบเข็ม 1 กับเข็ม 2 ระหว่าง ChulaCOV19 กับ ไฟเซอร์ จะเห็นว่า 3 อาทิตย์ หลังฉีดเข็ม 1 ภูมิก็ใกล้เคียงกัน หลังฉีดเข็ม 2 ก็ใกล้เคียงกัน เพราะขนาดตัวอย่างไม่เยอะ ก็คืออยู่ที่ 4,500 ไตเตอร์ สำหรับจุฬาคอฟ และ 1,700 สำหรับไฟเซอร์"
สำหรับไตเตอร์ นั้นหมายถึง ค่าของภูมิในน้ำเหลืองที่มีแอนติบอดี จากสไลด์ประกอบการบรรยาย ชี้ให้เห็นว่า หลังจากฉีดวัคซีนเข็ม 2 เป็นเวลา 7 วัน ChulaCOV19 มีผลภูมิขึ้น 4,514 ไตเตอร์ ส่วนไฟเซอร์อยู่ที่ 1,742 ไตเตอร์
ยับยั้งไวรัสกลายพันธุ์ได้
ส่วนประสิทธิภาพในการยับยั้งข้ามสายพันธุ์ วัคซีน ChulaCOV19 ได้รับการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการของ สวทช. ซึ่งทำการตรวจโดยเทคนิค "สูโดไวรัส" (Pseudovirus neutraling Antibody)
การทดสอบนี้ได้ใช้เกณฑ์เทียบของอ็อกซ์ฟอร์ด วัคซีน กรุ๊ป ซึ่งระบุไว้ว่าระดับประสิทธิภาพของวัคซีนที่น่าจะป้องกันอาการของโรคได้ 80% จะต้องมีค่าภูมิในน้ำเหลืองเกิน 185 ไตเตอร์ นั่นหมายความว่ายิ่งค่าไตเตอร์สูง ภูมิจะยิ่งสูง
จากผลวัดระดับไตเตอร์ วัคซีน ChulaCOV19 มีระดับภูมิ เมื่อทดสอบกับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม 1,285 ไตเตอร์ สายพันธุ์เดลตา 977 ไตเตอร์ สายพันธุ์อัลฟา 964 ไตเตอร์ ขณะที่สายพันธ์ที่ค่าภูมิในน้ำเหลืองต่ำ ได้แก่ เบตา และแกมมา
"เชื้อดั้งเดิม ตัวเลขไตเตอร์อยู่ที่ 1,285 อัลฟาลดลงมาเล็กน้อย เบตา ลดลงไปเยอะ ส่วนเดลตาอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี" ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
นอกจากนี้ ยังสามารถกระตุ้นภูมิกันชนิด ที-เซลล์ ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของคนที่ติดเชื้อได้
ลุ้นขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนในภาวะฉุกเฉิน เม.ย. ปีหน้า
ผลทดสอบของอาสาสมัครที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นกลุ่มอายุ 18-55 ปี และขณะนี้อาสาสมัครกลุ่มที่สอง อายุ 56-75 ปี อีก 36 คน ได้รับวัคซีนจุฬาเข็มที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และก่อนสิ้นเดือน ส.ค. จะเริ่มระยะที่ 2A คือ การฉีดวัคซีน ChulaCOV19 ในอาสาสมัครจำนวนมากขึ้น 150 คน อายุตั้งแต่ 18-75 ปี
ส่วนการทดสอบระยะแรก ภายในสัปดาห์นี้คณะกรรมการความปลอดภัย จะสรุปคำแนะนำในการเลือกปริมาณโดสที่ปลอดภัย
สำหรับการขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ศ.นพ.เกียรติ บอกว่า ต้องมีกติกาออกมาชัดเจนภายในเดือนหน้า จากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าการขึ้นทะเบียนต้องทำวิจัยในระยะสอง B หรือระยะสามอย่างไร ซึ่งจะเป็นเกณฑ์สำหรับวัคซีนไทยที่กำลังพัฒนาอยู่ทั้งหมด 4 ทีม ในขณะนี้
สำหรับสายพานการผลิตวัคซีน ChulaCOV19 ศ.นพ.เกียรติกล่าวว่า พันธมิตรยุทธศาสตร์ฝ่ายผลิตคือ บริษัทไบโอเนทเอเชีย เป็นบริษัท ไทย-ฝรั่งเศส ซึ่งมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ซึ่งผลิตวัคซีนมากว่า 10 ปี เชี่ยวชาญทั้ง mRNA วัคซีน และโปรตีนวัคซีน
"ไม่ใช่โรงงานใหม่นะครับ เป็นโรงงานที่คิดค้นพัฒนาวัคซีนอยู่แล้วมา 10 กว่าปี เก่งทั้งโปรตีนวัคซีน ดีเอ็นเอวัคซีน ตอนนี้ก็มารับเทคโนโลยี mRNA วัคซีน"
ในเดือน ต.ค. นี้ จะมีวัคซีนผลิตในคนไทย 100% ตั้งแต่ตัวเนื้อวัคซีน ตัวเคลือบ และบรรจุ และพร้อมทดสอบในระยะถัดไป
ที่มา : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ไทยรัฐ, ThaiPBS