02 กันยายน 2564
1,401

ญี่ปุ่นยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ “มิว” (Mu) แล้วจำนวน 2 ราย องค์กรอนามัยโลกจับตาเป็นไวรัสที่อาจหลบภูมิต้านทานจากวัคซีนได้

ญี่ปุ่นยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ “มิว” (Mu) แล้วจำนวน 2 ราย องค์กรอนามัยโลกจับตาเป็นไวรัสที่อาจหลบภูมิต้านทานจากวัคซีนได้
Highlight

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรายงานเมื่อ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่าพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธ์ุ “มิว” หรือ MU B.1.621 จำนวน 2 ราย เมื่อเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ระหว่างการตรวจคัดกรองที่สนามบิน ในผู้โดยสารซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศ WHO ระบุว่า มิวเป็นไวรัสโควิด-19 กลายพันธ์ุพบครั้งแรกในโคลัมเบีย  สายพันธุ์นี้ถูกจัดให้เป็น "สายพันธุ์ที่น่าจับตา" เพราะอาจหลบเลี่ยงวัคซีนได้ดี


กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรายงานเมื่อ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่าพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธ์ุ “มิว” หรือ MU จำนวน 2 ราย เมื่อเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ระหว่างการตรวจคัดกรองที่สนามบิน ในผู้โดยสารซึ่งเดินทางมาจากต่างประเทศ

รายแรกเป็นหญิงอายุ 40 ปีเศษ ที่เดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ส่วนรายที่สองเป็นหญิงอายุ 50 ปีเศษ ที่เดินทางจากสหราชอาณาจักรมาถึงญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 5 ก.ค. โดยผู้ติดเชื้อทั้งคู่ไม่แสดงอาการป่วย (asymptomatic)

ทั้งนี้เชื้อสายพันธุ์มิวองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องได้รับความสนใจ (variant of interest) 

เวลานี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์มิว หรือ B.1.621 รวมถึงประเด็นที่ว่าไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายขนาดไหน และจะสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้หรือไม่

สายพันธุ์ "มิว" พบครั้งแรกในโคลอมเบียเมื่อเดือนมกราคม 2564  สายพันธุ์นี้ถูกจัดให้เป็น "สายพันธุ์ที่น่าจับตา" การกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์นี้บ่งชี้ถึงความเสี่ยงของการต้านทานวัคซีน สายพันธุ์มิวมีกลุ่มของการกลายพันธุ์ที่บ่งชี้ถึงคุณสมบัติที่เป็นไปได้ของการหลบเลี่ยง”ภูมิต้านทาน" WHO ย้ำว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น
    
มีความกังวลอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการเกิดการกลายพันธุ์ใหม่ๆ ของไวรัส ในขณะที่อัตราการติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะจากสายพันธุ์เดลตาที่แพร่เชื้อได้ง่ายขึ้นในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และในภูมิภาคที่ผ่อนคลายมาตรการป้องกันไวรัส
    
ไวรัสทุกชนิด รวมถึงไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด-19 ล้วนกลายพันธุ์ตลอดเวลา แต่การกลายพันธุ์ส่วนใหญ่มีผลกระทบน้อยหรือไม่มีผลกระทบเลยต่อคุณสมบัติของไวรัส อย่างไรก็ดี การกลายพันธุ์บางอย่างอาจส่งผลต่อคุณสมบัติของไวรัส และมีอิทธิพลต่อการแพร่กระจายได้ง่าย, ความรุนแรงของโรค และการต้านทานวัคซีน, ยา และมาตรการรับมืออื่นๆ

ถึงขณะนี้ WHO ระบุไวรัสโควิด-19 ที่เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลไว้ 4 ชนิด รวมถึงแอลฟา ที่พบแล้วใน 193 ประเทศ และเดลตา ที่พบใน 170 ประเทศ ยังมีอีก 5 สายพันธุ์ซึ่งรวมถึงมิว ที่เป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตา
    
แม้ว่าไวรัสสายพันธุ์มิวพบครั้งแรกที่โคลอมเบีย แต่หลังจากนั้นมีรายงานพบผู้ติดเชื้อในประเทศลาตินอเมริกาอีกหลายประเทศ และในยุโรป ซึ่งสัดส่วนการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ “มิว” ทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 0.1% ยกเว้นที่โคลอมเบียซึ่งการระบาดยังสูงถึง 39%

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  “ด่วน!! องค์การอนามัยโลกประกาศว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชื่อ “มิว” มีแนวโน้มจะดื้อต่อวัคซีนหลากหลายชนิด จัดเป็นไวรัสที่ต้องจับตามอง (VOI)

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกรายงานประจำสัปดาห์ แจ้งให้ทั่วโลกทราบว่า ได้เพิ่มเติมไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชื่อมิว( Mu) ให้อยู่ในกลุ่มไวรัสที่ต้องจับตามอง (VOI : Variant of Interest ) ซึ่งมีอยู่แล้ว 4 ชนิด มิวจึงจัดเป็นลำดับที่ห้า

เหตุผลที่ต้องจัดให้ไวรัสมิวอยู่ในกลุ่มที่ต้องจับตามอง เพราะจากการศึกษาตำแหน่งที่มีการกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ไวรัสจะดื้อต่อภูมิคุ้มกัน และสามารถเจาะระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ อันจะทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง หรือดื้อต่อวัคซีนนั่นเอง
ไวรัสชนิดนี้ พบเป็นครั้งแรกที่ประเทศโคลัมเบีย ในเดือนมกราคม 2564 ขณะนี้แพร่ระบาดคิดเป็น 39% ของประเทศโคลัมเบีย และระบาดในประเทศเอกวาดอร์ 13%

แต่ยังไปไม่มากนักในระดับโลก พบเพียง 0.1% แต่เคยระบาดเป็นกลุ่มก้อนในยุโรป สหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้มาแล้ว ไวรัสมิว นี้มีรหัสเรียกว่า B.1.621

องค์การอนามัยโลกแจ้งว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนของไวรัสชนิดนี้ว่า จะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด

การจัดกลุ่มของไวรัสก่อโรคโควิดแยกเป็นสองระดับได้แก่

กลุ่มที่น่าเป็นกังวล ( VOC : Variant of Concern ) มีสี่สายพันธุ์ ประกอบด้วย

อัลฟา พบกันยายน 2563 
เบต้า พบพฤษภาคม 2563 
แกมมา พบพฤศจิกายน 2563 
เดลตา พบตุลาคม 2563

ในขณะที่ไวรัสกลุ่มรองลงมาคือกลุ่มที่ต้องจับตามอง (VOI) ประกอบด้วย

1. อีต้า-Eta พบธันวาคม 2563 
2. ไอโอต้า-Iota พบพฤศจิกายน 2563 
3. แคปป้า-Kappa พบตุลาคม 2563 
4. แลมป์ด้า-Lambda พบธันวาคม 2563

และลำดับที่ห้า สายพันธุ์ใหม่ล่าสุด มิว พบเมื่อมกราคม 2564
ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสที่สร้างปัญหาให้ชาวโลกต้องปวดเศียรเวียนเกล้าเป็นอย่างมากเพราะตลอดระยะเวลา ตั้งแต่ธันวาคม 2562 เป็นต้นมา มีการกลายพันธุ์ไปแล้วอย่างน้อย 39 สายพันธุ์หลัก และอีกหลายสิบสายพันธุ์ย่อย
แต่ละสายพันธุ์ ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไป และมีโอกาสเป็นไปได้ ที่จะมีบางสายพันธุ์ ทั้งแพร่เร็ว ดุร้ายก่อให้เกิดอาการหนัก และดื้อต่อวัคซีน

ถ้าเราเจอไวรัสที่กลายพันธุ์ ในลักษณะอย่างนั้น โลกคงจะอยู่ในสถานการณ์วิกฤติของโรคระบาดครั้งใหญ่ทีเดียว

การลดความเสี่ยง ไม่ให้ไวรัสกลายพันธุ์ง่ายคือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ไวรัส หยุดระบาดหรือกลายเป็นโรคประจำถิ่นธรรมดา และมีวินัยในการป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดขนาดใหญ่ เพราะไวรัสจะกลายพันธุ์ได้มาก ถ้ามีการระบาดติดเชื้อกว้างขวามาก

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทย ล่าสุด 2 ก.ย. 64   มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,956 ราย เสียชีวิต 262 ราย เสียชีวิตสะสม 12,009 ราย ติดเชื้อสะสม 1,205,624 ราย ฉีดวัคซีนแล้วจำนวน  33,427,463 โดส ติดเชื้อสูงเป็นอันดับที่ 29 ของโลก 

ยอดติดเชื้อสะสมทั่วโลก เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 64 จำนวน 219,265,651 ราย เสียชีวิตสะสม 4,545,159 ราย 

ที่มา : MGR Onlineฃ, ศบค., ฐานเศรษฐกิจ,  blockdit นายแพทย์เฉลิมชัยบุญยะลีพรรณ

ติดต่อโฆษณา!