23 กันยายน 2564
1,851

AOT ทุ่ม 8.5 หมื่นล้าน ต่อสัญญาพื้นที่สนามบิน เป็น 30 ปี

AOT ทุ่ม 8.5 หมื่นล้าน ต่อสัญญาพื้นที่สนามบิน เป็น 30 ปี
Highlight
ข่าวเด่นเรื่องการลงทุนเช้านี้ นอกเหนือจากดีลใหญ่ระดับสะเทือนธุรกิจธนาคารของ SCBX ก็คือข่าวของ AOT ที่ประกาศต่อสัญญาข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ของ 6 สนามบิน กับกรมธนารักษ์ เป็น 30 ปีจนถึงปี 94 จากสัญญาเดิมที่เหลือแค่ 11 ปี ด้วยการจ่ายค่าตอบแทน 8.54 หมื่นล้านบาท

นางสาวชนาลัย ฉายากุลเลขานุการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า คณะกรรมการบริษัท มีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเห็นชอบการแก้ไขข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์  ซึ่งใช้ดำเนินกิจการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.  กับ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และกองทัพอากาศ (ทอ.)  ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 65

ทั้งนี้จากระยะเวลาการใช้ประโยชน์ฯ ในช่วงที่ 1 เป็นเวลา 30 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 29 ก.ย.75 (เหลือเวลาอีกประมาณ 11 ปีนับจากปัจจุบัน) AOT จึงได้ขอให้ธนารักษ์ พิจารณาถึงความเป็นไปได้และแนวทางการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุของ ทอท.ให้เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยขอเริ่มต้นอายุข้อตกลงหรือสัญญาตั้งแต่ปีปัจจุบัน ซึ่งธนารักษ์ ได้พิจารณาในเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ โดยต้องอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลาเดิม 50 ปี

ต่อมากระทรวงการคลังได้เห็นชอบร่างแก้ไขข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุสนามบิน จำนวน 6 แห่ง และพิจารณาร่างข้อตกลงฯ ฉบับปรับปรุงแก้ไข จำนวน 4 ฉบับ เพื่อแก้ไขกำหนดระยะเวลาจากเดิม 30 ปี (วันที่ 30 ก.ย.45 - 29 ก.ย.75) เป็นมีกำหนดเวลา 19 ปี (วันที่ 30 ก.ย. 45 – 29 ก.ย.64) และจัดทำร่างข้อตกลงฯ ที่จะจัดทำขึ้นใหม่ จำนวน 4 ฉบับ มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี (วันที่ 30 ก.ย.64 – 29 ก.ย.94)

โดยสินทรัพย์ที่ราชพัสดุในท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ AOT ทั้ง 6 แห่ง AOT ได้ใช้มูลค่าปัจจุบันของค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุขั้นต่ำปี 65-94 จำนวนประมาณ 85,447 ล้านบาท โดย AOT จะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ในการชำระค่าตอบแทนสิทธิการใช้ประโยชน์ใน ที่ราชพัสดุ 

ทั้งนี้ AOT ชี้แจงว่า การปรับแก้ไขระยะเวลาการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับแผนพัฒนาท่าอากาศยานของ ทอท. ก่อให้เกิดความมั่นคงในสิทธิในการใช้สินทรัพย์ ตลอดจนเป็นการจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ ช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ Non-Aeronautical Revenue เป็นการสร้างโอกาสการขยายธุรกิจเพื่อการเติบโตของ ทอท.ในอนาคต อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ ทอท.และผู้ถือหุ้นในระยะยาว

อนึ่ง AOT โดยมีท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบ 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) โดยท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุที่อยู่ในความปกครองดูแลและใช้ประโยชน์ของ ทย. และ ทอ. โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และมีกรมธนารักษ์ (ธร.) ทำหน้าที่ปกครอง ดูแลและบำรุงรักษา
 
ติดต่อโฆษณา!