27 กันยายน 2564
1,022
แนวโน้มหุ้นไทย สัปดาห์นี้ พร้อมปัจจัยต้องจับตามอง
Highlight
ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่แล้วปรับฐานลงมาจากความกังวลในหลายๆ เรื่องเช่นความกังวลเรื่องภาวะหนี้สินภาคเอกชนในจีน หรือนโยบายการเงินของสหรัฐ ก่อนที่จะฟื้นกลับขึ้นมาได้บ้าง แต่สัปดาห์นี้ นักวิเคราะห์เริ่มมองเชิงบวกมากขึ้นถึงการฟื้นตัว โดยตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มอย่างไร และมีปัจจัยอะไรน่าจับตามองบ้าง
บล. เคทีบีเอสที มอง SET บวก มองกรอบ 1,620-1,650 จุด
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบีเอสที ประเมินว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในรอบสัปดาห์นี้ (27 ก.ย.-1 ต.ค.) มีโอกาสกลับมาเดินหน้าบวกได้ เพราะตลาดโลกกำลังข้ามผ่าน เรื่องที่กดดันตลาดมาระยะหนึ่ง
โดยเฉพาะตลาดได้รับข่าวเรื่องการปรับลดมาตรการทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และจะมีการขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆนี้ และความชัดเจนดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้นมากกว่า
ส่วนปัญหาของ China Evergrande นั้น ยังเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามว่าแนวโน้มจะออกมาเป็นอย่างไรในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งมองว่า หากคลี่คลายได้ดี จะช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยและจีนด้วย
"ความแข็งแรงของตลาดมีค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งมาจากมีข่าวบวกใหม่ๆเติมเข้ามาให้เล่น เช่น เงินบาทแข็งค่าขึ้น และข่าว SCB ซึ่งหากไม่มีข่าวลบเข้ามา ก็มีโอกาสที่สัปดาห์นี้จะดัชนีจะกลับไปสู่ระดับ 1,650 จุดได้"นายมงคล กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในระดับที่คุมได้แล้ว การเลื่อนเปิดเมืองไปเดือน พ.ย. จะทำให้โอกาสการกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบใหม่มีน้อยลง และเป็นบวกต่อตลาด
ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จากแผนกู้เงินรอบใหม่ รวมถึงติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 ก.ย. นี้ ซึ่งคาดว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน
สำหรับกลยุทธ์ในการลงทุน หากไม่มีปัจจัยลบเข้ามาเติม นักลงทุนทยอยเข้าซื้อหุ้นได้ แต่ยังคงเน้นเก็งกำไรช่วงสั้นไปก่อน โดยการเข้าซื้อเพื่อเก็บหุ้น 1-3 เดือน โดยแนะนำหุ้นเปิดเมือง (รอบใหม่) เช่น AOT , ERW , CPN , CRC , MINT
ด้านข่าว SCB ช่วยให้บริษัทต่างๆ จะให้ความสนใจกับการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีมากขึ้น โดยมองเป็นตัวช่วยให้ตลาดหุ้นไทยจะคึกคักมากขึ้น และเป็นกระแสที่เล่นเก็งกำไรได้ โดยเฉพาะหุ้นที่จะเป็น Partner กับ SCB เช่น กลุ่ม CP และหุ้นที่รับงานระบบเทคโนโลยี
บล.โนมูระ คาด กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%
นายกรภัทร วรเชษฐ์ อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน มองว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวแบบ Sideways โดยประเมินแนวรับที่ 1,600-1,615 จุด ขณะที่แนวต้านที่ 1,643-1,652 จุด โดยสัปดาห์นี้มีปัจจัยที่สำคัญ คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 29 ก.ย. นี้ ซึ่งบริษัทคาดว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0.25% จากปัจจุบันที่ 0.5%
นอกจากนี้ ยังต้องติดตาม ยอดผู้ติดเชื้อรายวันที่ยังขาดเสถียรภาพ โดยแกว่งตัวอยู่บริเวณ 13,000 คนต่อวัน ขณะที่ ศบค.ชุดเล็ก เสนอให้ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน และเลื่อนการเปิดเมืองเป็นวันที่ 1 พ.ย. จากเดิมที่ 1 ต.ค. นี้ โดยจะต้องพิจารณาในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 27 ก.ย.นี้
ด้านกลยุทธ์ ในการลงทุน สัญญาณที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด จะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งปัจจุบันมีโอกาสทะลุ 34-34.25 บาทต่อดอลลาร์ และยิ่งกดดัน Outflows ในไทย ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังขาดเสถียรภาพ
ดังนั้น กลยุทธ์แนะนำถือหุ้น 50% คงพอร์ตหลักกลุ่มที่จะ Outperform SET เช่น โรงไฟฟ้า GPSC , GULF , BCPG กลุ่มโรงพยาบาล BDMS , BH , BCH , CHG ส่วนกลุ่มสื่อสาร ADVANC ส่งออก KCE , HANA , SAPPE โรงกลั่น TOP , PTTGC
บล.กสิกรไทย คาด SET เคลื่อนไหวในกรอบ 1,600-1,655 จุด
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย มองว่า ดัชนีหุ้นไทยในรอบสัปดาห์นี้ จะมีแนวรับที่ 1,600-1,610 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,645-1,655 จุด โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ การประชุม กนง. ในวันที่ 29 ก.ย. นี้ ความชัดเจนเกี่ยวกับแผนเปิดประเทศ สถานการณ์โควิด ทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ คือ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE/Core PCE ในเดือน ส.ค. รวมถึงติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ย. และตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/64
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามข้อมูลดัชนี PMI เดือน ก.ย. ของจีน ยอดค้าปลีกเดือน ส.ค. ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (เบื้องต้น) ในเดือน ก.ย. ของยูโรโซน ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิต เดือน ก.ย. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน