15 ตุลาคม 2564
2,077
เงินของคนไทย อยู่ในกองทุนอะไรมากที่สุด?
Highlight
รู้หรือไม่ว่าเงินของคนไทยที่ไปลงทุนในกองทุนรวม ส่วนใหญ่อยู่ในกองทุนประเภทไหน? ตามปกติแล้ว กองทุนที่คนนิยมก็จะหมุนเวียนไปมาระหว่างกองทุนหุ้น กองตราสารหนี้ และกองทุนตลาดเงิน ที่มีจุดเด่นแตกต่างกันไป คือกองทุนหุ้น ให้ผลตอบแทนระยะยาวสูง แต่ผันผวน กองตราสารหนี้ ปลอดภัยกว่า แต่ผลตอบแทนไม่มาก ส่วนกองทุนตลาดเงินให้ผลตอบแทนน้อย เหมาะเอาไว้ใช้พักเงิน แล้ว ณ สิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เงินของคนไทย อยู่ในกองทุนประเภทไหนมากที่สุด ทันข่าวลงทุน มีข้อมูลมาฝากกันครับ
ภาพรวมของกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.2 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสที่สองหรือเพิ่มขึ้น 0.1% และเพิ่มขึ้น 5.5% จากสิ้นปี 2020 หรือต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ไม่ถึง 1 แสนล้านบาท โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.7 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.3 แสนล้านบาท
กองทุนรวมตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.8 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากมีกองทุนหลายกลุ่มผลตอบแทนติดลบ จึงเป็นส่วนหักล้างการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สิน ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าด้วยมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% จากไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ดีโดยรวมเม็ดเงินไหลเข้ากลุ่มตราสารทุนยังอยู่ในระดับสูงรวมสุทธิ 9 เดือนเกือบ 2 แสนล้านบาท
ทางฝั่งกองทุนตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.6 ล้านล้านบาท เติบโต 1.3% จากไตรมาสที่สอง มีเงินไหลเข้าในรอบไตรมาสล่าสุด 1.7 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้ในประเทศแต่เป็นเงินไหลออกสำหรับกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ รวม 9 เดือนยังคงเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 5.4 หมื่นล้านบาท
กองทุน Money Market ยังเป็นเงินไหลออกต่อเนื่องในไตรมาสล่าสุดที่ 2.9 หมื่นล้านบาท หรือต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 แสดงให้เห็นถึงเม็ดเงินที่ยังทยอยกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์อื่น รวมปีนี้มีเงินไหลออกจากกองทุน Money Market แล้วทั้งสิ้น 1.2 แสนล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงไปอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม ใกล้เคียงกับช่วงสถานการณ์ปกติก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 14%
กองทุนกลุ่ม Commodities มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกือบ 3 หมื่นล้านบาท มีเงินไหลออกสุทธิ 1.3 พันล้านบาท แม้ราคาน้ำมันและทองคำจะมีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างแตกต่างกันในไตรมาสที่ผ่านมา โดยกลุ่ม Commodities Energy มีผลตอบแทนสะสม 9 เดือน 64.7% ในขณะที่กองทุนทองคำอยู่ที่ -5.0% แต่กองทุนทั้ง 2 ประเภทมีเงินไหลออกสุทธิเหมือนกัน รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลออกสุทธิ 4.7 พันล้านบาท
10 อันดับกลุ่มกองทุนตาม Morningstar Category
ในภาพของกองทุนรายกลุ่ม Morningstar Category นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปในไตรมาสล่าสุด โดยกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ Equity Large-Cap กลับขึ้นมาเป็นกลุ่มกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม ในขณะที่กองทุนหุ้นจีน China Equity มีมูลค่าลดลงทำให้ตกไปอยู่ที่ลำดับที่ 8 จากที่ 6 ในไตรมาสก่อนหน้า และผู้ลงทุนยังนิยมตราสารทุนต่างประเทศมากกว่าตราสารทุนในประเทศ ดังที่จะเห็นได้จาก 10 อันดับเม็ดเงินไหลเข้าสูงสุดรอบไตรมาสที่ผ่านมาที่ประกอบด้วยกลุ่มหุ้นต่างประเทศถึง 7 กลุ่ม
ก่อนหน้านี้กองทุน Money Market รั้งอันดับ 1 กลุ่มกองทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 ด้วยมูลค่าสูงถึง 7.6 แสนล้านบาท แต่หลังจากนั้นเริ่มมีแรงทยอยขายออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2020 เป็นต้นมา และในไตรมาสล่าสุดกองทุน Money Market มูลค่าลดลงไปอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท จากเม็ดเงินไหลออกสูงสุดช่วง 9 เดือนรวม 1.2 แสนล้านบาท
กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 14.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผลตอบแทนเฉลี่ย 1.7% จากหุ้นไทยที่เป็นบวกถูกหักล้างด้วยเม็ดเงินที่ไหลออกไปจากกองทุนมูลค่า 7.3 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลออกทั้งสิ้น 3.2 หมื่นล้านบาท หรือไหลออกมากที่สุดรองจากกองทุน Money Market
การลงทุนตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมาอาจมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนเลือกที่จะลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่อทิศทางดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า โดยกองทุน Short Term Bond มีเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องอีกไตรมาสที่ 2.1 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 5 หมื่นล้านบาท หรือสูงสุดเป็นอันดับ 3 และเป็นกองทุนที่ลงทุนในประเทศกลุ่มเดียวที่ติด 1 ใน 10 อันดับกองทุนเงินไหลเข้าสูงสุด
กองทุน Mid/Long Term Bond มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 38.9% จากปีที่แล้ว หรือ 11.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ในส่วนของเม็ดเงินนั้น จากไตรมาสแรกที่เป็นเงินไหลออก 1.6 หมื่นล้านบาท กลับเป็นเงินไหลเข้าหลังจากนั้น โดยไตรมาสล่าสุดนี้เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 2.2 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 1.0 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดีเม็ดเงินไหลเข้าถือว่าค่อนข้างกระจุกตัวไปที่กองทุนจาก บลจ.กสิกรไทย เช่น K Fixed Income ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิปีนี้แล้วเกือบ 8 พันล้านบาท
ที่มา : Morning Star Thailand