หุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุดและจะเริ่มฟื้นตัว เพราะอะไร?
Highlight
ปี 2563 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตลอดทั้งปี ประกอบกับการระบาดระลอกใหม่ของสายพันธุ์เดลต้าในปี 2564 ทำให้ GDP หดตัวลงถึงจุดต่ำสุด แต่เมื่อรัฐบาลเริ่มเปิดประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว การฉีดวัคซีนมีมากขึ้น มาตรการควบคุมการระบาดผ่อนคลายลง ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและคาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณการ Restart ของเศรษฐกิจไทย ส่วนเหตุผลจะเพราะอะไร
ย้อนกลับไปในปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ติดลบ 6.1% จากนั้นเศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดย GDP ครึ่งปีแรกของปี 2564 ขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ก่อนที่จะหดตัวลงอีกครั้งจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้
สำหรับผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เช่น การคุมเข้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564 สะท้อนผ่านดัชนีชี้นำเศรษฐกิจทุกภาคส่วนหดตัวลงในทิศทางเดียวกัน เช่น การบริโภคของภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชนหดตัวลง สะท้อนผ่านอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมของทั้งประเทศที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศไทยเริ่มมาตรการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งได้ทำการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ เปิดทางให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้ รวมถึงสนับสนุนการเร่งฉีดวัคซีน จึงประเมินว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 0.7% – 1.2% โดยจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การใช้จ่าย การลงทุน และมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้ภาคเกษตรกรรม การขยายตัวของภาคการส่งออก การใช้จ่าย และการลงทุนของภาคเอกชน
โดยแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 นี้ คาดว่า GDP จะกลับมาเติบโตจากฐานของไตรมาส 3 แต่น่าจะลดลงราว 1% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสัญญาณการ Restart เศรษฐกิจไทยจะชัดเจนขึ้นตามลำดับ ซึ่งประเมินจากปัจจัยแวดล้อมสนับสนุน ดังนี้
- การกระจายวัคซีนในจังหวัดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ พบว่ามีพัฒนาการเชิงบวก (ฉีดวัคซีนเกิน 70% ของ ประชากร) พิจารณาได้จากอัตราการฉีดวัคซีนเทียบกับจำนวนประชากรใน 17 จังหวัดสำคัญ โดยค่าเฉลี่ยการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ของประชากรทั้ง 17 จังหวัด ฉีดวัคซีนไปแล้วราว 76% ขณะที่วัคซีนเข็มที่ 2 ฉีดไปแล้วราว 55% ทั้งนี้หากประเมินปริมาณวัคซีน COVID-19 เข็มที่ 1 และ 2 ในปีนี้จะมีเพียงพอสำหรับประชากรทั้งประเทศ และในปี 2565 ภาครัฐมีแผนการจัดหาวัคซีนสำหรับเข็มที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอกับประชากรทั้งประเทศ และเป็นการสนับสนุนความพร้อมในการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ
- การผ่อนคลายมาตรการควบคุมภายในประเทศ เริ่มตั้งแต่การให้ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ กลับมาเปิดให้บริการ รวมถึงการปรับลดเวลาห้ามประชาชนออกนอกบ้านหรือเคหะสถานในเวลาที่กำหนด (Curfew) และวันที่ 1 ธันวาคม 2564 จะเปิดให้ขายแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้
- การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลเดินหน้าเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศอย่างชัดเจน โดยมีการประกาศรายชื่อประเทศ/พื้นที่ต้นทางที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว จำนวน 63 ประเทศ และพบว่านักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศนี้ มีสัดส่วนกว่า 82% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2562 ดังนั้น ประเมินว่าจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวค่อย ๆ ฟื้นตัว และมีส่วนช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาแบบค่อยเป็นค่อยไป ทว่ายังคงจำเป็นต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวและกลับไปใกล้เคียงกับปี 2562
โดยข้อมูลในเดือนกันยายน ปี 2564 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 12,200 ราย ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว ณ เดือนธันวาคม ปี 2562 ที่มีจำนวนถึง 3.95 ล้านราย และจากการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยราว 6 ล้านคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 5 แสนคน ซึ่งยังไม่กลับไปเท่าเดิมเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิด COVID-19 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณ 40 ล้านคน
จากการเดินหน้าเปิดประเทศและการฉีดวัคซีน ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณต่าง ๆ ที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวและเริ่ม Restart ต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี 2564 และคาดว่าจะต่อเนื่องไปถึงปี 2565 ผ่านสัญญาณ ดังนี้
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index : CCI) สะท้อนถึง Sentiment ของผู้บริโภคหรือประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ล่าสุดเดือนกันยายน ปี 2564 ปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน อยู่ที่ 41.4 จุด จากเดือนสิงหาคม ปี 2564 ที่ปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดของปีนี้
- ปริมาณ Traffic การเดินห้างสรรพสินค้าของประชาชน (อ้างอิงจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล) ในไตรมาส 3 ปี 2564 ลดลงเหลือ 40% จากผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ช่วงก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 50 - 60% แต่หลังจากห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการตามปกติ พบว่า Traffic การเดินห้างสรรพสินค้าของประชาชนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพิ่มเป็น 70 - 80% และคาดว่าจะสูงถึง 80 - 90% ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปีนี้
- ปริมาณจราจรเฉลี่ยต่อวันบนทางด่วน (อ้างอิงจากบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ : BEM) จากข้อมูลล่าสุดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า Traffic คนใช้รถบนทางด่วนกลับมาสูงเท่ากับก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักตามไปด้วย สังเกตได้จากตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยในเดือนตุลาคมนักลงทุนต่างชาติลงทุนประมาณ 18,000 ล้านบาท กลายเป็นเดือนที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิสูงสุดในปีนี้ และคาดว่าแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติจะมี Momentum เข้ามาต่อเนื่องตามนโยบายการเปิดประเทศและตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศที่ลดลง ขณะที่ผู้หายป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยหุ้นกลุ่มที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสะสมหรือให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกที่โดดเด่น ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่มที่อ้างอิงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศหรือหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมือง เช่น หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มสื่อสาร กลุ่มขนส่ง และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ ถึงแม้ธุรกิจจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่บริษัทจดทะเบียนก็สามารถรับมือกับปัญหาได้ดี สะท้อนได้จากกำไรสุทธิรวมยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิรวม 2.7 แสนล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิรวม 2.6 แสนล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 3 จะมีกำไรสุทธิรวมประมาณ 1.9 แสนล้านบาท
อาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและเริ่ม Restart เช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนที่รับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ดี จากนี้ไปน่าจะเห็นการทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ
ที่มา : บทวิเคราะห์คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม บล. เอเชียพลัส