เรากำลังเจอภาวะ Stagflation หรือไม่?
Highlight
ในเวลานี้ หนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจที่เรากำลังเจอ คือเรื่องเงินเฟ้อ หรือราคาสินค้าพุ่งสูง ขณะเดียวกันประเทศไทย ก็กำลังเจอภาวะเศรษฐกิจโตช้า ซึ่งปกติแล้ว หากเงินเฟ้อพุ่งสูงแต่เศรษฐกิจตกต่ำ เราจะเรียกว่าเป็นภาวะ Stagflation ซึ่งในเวลานี้ เรากำลังเจอปัญหานี้หรือเปล่า แล้วมันน่ากลัวแค่ไหน เรามีมุมมองของ ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ มาฝากกัน
เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งไป 6.2% เงินเฟ้อยุโรปพุ่งไป 4.1% สูงสุดในรอบ 30 ปี คนเลยตั้งคำถามว่า เงินเฟ้อจะเป็นปัญหาให้เศรษฐกิจโลกในรอบนี้ หรือไม่
เงินเฟ้อ เป็นหนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจที่คนกังวล พูดถึงเสมอ เป็นโรคร้ายทางเศรษฐกิจ ที่คอยกัดกินมูลค่าของเงิน จากตอนเด็กๆ เคยซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละบาท ตอนนี้ชามละ 30-40 บาท จากแบงค์สิบ ตอนนี้เหลือแค่เหรียญสิบ แม้กระทั่งเหรียญบาทที่แต่ก่อนขนาดพอเหมาะพอสม ปัจจุบันเหรียญบาทถูกเงินเฟ้อกัดกินขนาดจิ๋วเล็กจนจำไม่ได้
วันนี้ จึงขอเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินเฟ้อลักษณะต่างๆ ก่อนที่มาตอบว่า เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นรอบนี้ จะเป็นปัญหาหรือไม่
ปกติแล้ว เงินเฟ้อในประเทศต่างๆ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 0-15% ต่อปี ประเทศพัฒนาแล้วเงินเฟ้อต่ำ
ประเทศกำลังพัฒนาเงินเฟ้อสูง แต่ในหลายๆ ประเทศที่เงินเฟ้อแผลงฤทธิ์ จะไม่อยู่ในช่วงนี้กลายเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
แบบที่หนึ่ง เงินเฟ้อสูงมากมาก (Hyper Inflation)
สามารถเพิ่มได้ปีละหลายๆ ล้านเปอร์เซ็นต์ ล่าสุดที่เกิดขึ้นก็ไม่นานมานี้ ที่ซิมบับเว้ในปี 2550 เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปที่ 2.2 ล้านเปอร์เซนต์ อีกกรณี คือ เยอรมัน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่ากันว่าถ้าจะสั่งเบียร์ก็ต้องสั่ง 2 แก้ว เพราะถ้ารอไปสั่งอีกครั้งราคาก็จะเพิ่มขึ้นไปแล้ว ท้ายสุดเงินเฟ้อลักษณะนี้จะจบลงด้วยการที่ธนบัตรจะกลายเป็นเศษกระดาษ กลายเป็นแบงก์กงเต็กใหญ่สุดที่เคยเห็นก็ต้องแบงก์ของฮังการีในปี 2489 ไม่มากไม่น้อยแค่ 100 ล้านล้านล้านเพงโกเท่านั้นเอง
แบบที่สอง เงินเฟ้อสูง (Moderate Inflation)
ที่เพิ่มประมาณปีละ 20-25% ขึ้นไป ในกลุ่มนี้เงินเฟ้อจะฝังรากลึกเป็นที่รู้กันว่าราคาทุกอย่าง รวมถึงค่าจ้างเงินเดือนจะขึ้นกันแบบยกแผง สิ้นปีขึ้นกันปีละ 20-25% ถ้วนหน้า ทำให้เงินเฟ้อยากจะลงมา
กลายเป็นปัญหาเงินเฟ้อเรื้อรังแก้ไม่ขาด ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในลาตินอเมริกามักมีปัญหานี้
แบบที่สาม เงินเฟ้อติดลบ (Deflation)
บางครั้งคนก็จะเรียกว่าเงินฝืด ราคาของที่ปกติเพิ่มกลับลด จากเศรษฐกิจที่ไปไม่ได้ ไม่มีกำลังซื้อ ราคาที่ลดยิ่งซ้ำเติมทำให้ทำกำไรยิ่งยาก ปัญหาเช่นนี้ไม่ได้อยู่แค่ในตำราญี่ปุ่นต้องประสบอยู่นับสิบปี (2533-2543) หลังเกิดวิกฤตฟองสบู่แตก
แบบสุดท้าย เงินเฟ้อ Stagflation
เป็นสิ่งที่คนถามว่า กำลังเกิดขึ้นอยู่ใช่หรือไม่ ปกติเงินเฟ้อจะมากจะน้อย ขึ้นกับว่าเศรษฐกิจคึกคักแค่ไหน ขยายตัวมากเงินเฟ้อสูง ขยายตัวน้อยเงินเฟ้อต่ำ ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีก็เงินฝืดเงินเฟ้อติดลบ แต่ Stagflation แปลกกว่าเพื่อน คือ เศรษฐกิจซบเซากลับเงินเฟ้อพุ่งสูง เรื่องนี้มักเกิดจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น Stagflation ครั้งสำคัญเกิดช่วงวิกฤตน้ำมันขาดแคลน (2516-2525)
จะเห็นว่าถ้าบริหารไม่ดี เงินเฟ้อก็จะแผลงฤทธิ์
สำหรับรอบนี้ เงินเฟ้อเกิดจากเศรษฐกิจกำลังฟื้นคนแย่งกันสั่งของ จนวัตถุดิบราคาเพิ่ม คนที่ปิดกิจการ คนที่เอา Stock สินค้าไปหาสภาพคล่อง คนที่เคยสั่งของเข้าร้านแต่น้อยอย่างระวังเท่าที่จำเป็น แต่พอโควิดเริ่มดีขึ้น คนกล้าออกจากบ้าน เริ่มจับจ่ายก็เปิดร้านอีกรอบ สั่งของมาจำนวนมากหลังหยุดมาเกือบครึ่งปี สั่งสินค้าเพิ่มเพราะรู้ว่านี่คือจังหวะที่ดีของการทำธุรกิจ ไม่น่าแปลกใจของจึงขาดตลาด ราคาเพิ่มเพราะแย่งกันซื้อ แม้ราคาจะสูงกว่าเดิมก็ยอมจ่ายเพราะคิดว่าทำกำไรได้
แบบนี้ ไม่ใช่ Stagflation แน่นอน แต่เป็นปกติของการปรับตัวเป็นเงินเฟ้อช่วงเศรษฐกิจฟื้น หลังวิกฤตใหญ่ๆ เมื่อเวลาผ่านไป Stock ของ กันพอแล้ว ผ่านช่วงปรับตัว ซึ่งน่าจะประมาณ 1-2 ปี เศรษฐกิจก็จะขยายตัวตามปกติเงินเฟ้อ ราคาของต่างๆ ก็จะกลับเป็นปกติเช่นกัน