เกษียณแล้ว ยังต้องลงทุนหรือไม่?
Highlight
หลายคนที่ลงทุนหรือออมเงินเพื่อวัยเกษียณ พอถึงวัยเลิกทำงาน ก็เลิกออมเงินไปด้วย โดยเฉพาะคนที่เก็บเงินไว้กับกองทุนเพื่อการเกษียณต่างๆ เช่น RMF หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะเข้าใจว่า เมื่อไม่มีรายได้แล้ว เราก็ควรสงวนเงินต้นเอาไว้ใช้จ่ายให้ได้นานที่สุด แต่ในความเป็นจริง การลงทุนยังมีความจำเป็นอยู่เสมอ อย่างน้อยที่สุด ก็เพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่กัดกินเงินของเราทุกปี แต่คนวัยเกษียณควรลงทุนอย่างไร ทันข่าว Today มีคำแนะนำมาฝาก
สำหรับการออมเงินในช่วงชีวิตยามเกษียณให้มีเงินเหลือสำหรับการใช้จ่ายอย่างเพียงพอ วิธีหนึ่งคือการลงทุนในหุ้นด้วยสัดส่วนที่สูง เพื่อให้มีผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามมา เช่น ลงทุนในหุ้นสัดส่วน 65% ของพอร์ตการลงทุน ซึ่งในช่วงที่เราเกษียณแล้วการลงทุนในหุ้นด้วยสัดส่วนที่สูงนั้นเหมาะสมหรือไม่ หรือควรคิดคำนวณอย่างไร
ในยามเกษียณนั้นอาจเริ่มต้นจากดูว่าในแต่ละเดือนนั้นมีค่าใช้จ่ายอะไร จำนวนเท่าไหร่บ้าง เช่น ค่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ ค่าประกัน ค่าเสื้อผ้า รวมไปถึงเงินบริจาค ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเรื่องอื่นๆเพิ่มเติม เช่น เพื่อเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น จากนั้นเราอาจใช้กฎ 4% rule ในการบริหารจัดการเงินออม ซึ่งวิธีนี้เป็นการถอนเงินออกมาใช้ในอัตราส่วน 4% ของจำนวนเงินในพอร์ตของเราและอาจปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี ซึ่งในช่วงที่ผลตอบแทนในอนาคตมีแนวโน้มลดต่ำลงก็อาจปรับลดสัดส่วนลงมาเหลือ 3.5% ก็ได้ เพื่อหาว่าเงินออมในพอร์ตควรมีเท่าไหร่ เพื่อให้เพียงพอสำหรับความต้องการใช้จ่ายในแต่ละปี เช่น หากเราต้องการใช้จ่ายปีละ 50,000 บาท ดังนั้นเมื่อคิดลดด้วยอัตรา 3.5% เท่ากับว่าเงินออมตั้งต้นอย่างน้อยที่ต้องมีคือ 1,400,000 บาท ซึ่งเราอาจปรับเพิ่มเงินลงทุนส่วนนี้เพิ่มได้ในภายหลังหากเราจะเผื่อสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิดมาก่อน เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพ
สำหรับการจัดสัดส่วนเงินลงทุนในหุ้นว่าจะมีเท่าไหร่นั้น โดยเบื้องต้นคือลงทุนในหุ้นที่สัดส่วน 50% ก็ถือว่าเหมาะสมแล้วสำหรับเงินลงทุนหลักเพื่อการเกษียณ (Core retirement portfolio) แต่ก็อาจปรับเพิ่มหรือลดก็ได้ เช่น ลงทุนในหุ้นด้วยสัดส่วน 40% หรือ 60% ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละคน
ตัวอย่างที่ 1 เป้าหมายเพื่อการเติบโตของเงินลงทุน
ก่อนอื่นเริ่มจากแนวคิดที่ว่าหากนักลงทุนไม่ต้องการถอนเงินจากส่วนที่ออมไว้เพื่อการเกษียณมาใช้ให้เริ่มต้นจากแบ่งเงินลงทุนเป็น 2 ก้อน คือส่วนที่เป็นเงินลงทุนหลักเพื่อการเกษียณ (Core retirement portfolio) จะลงทุนในหุ้นที่สัดส่วน 50% ตามที่กล่าวมาตอนต้น ที่เหลือก็ไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ความเสี่ยงต่ำกว่า และอีกส่วนคือเงินลงทุนส่วนเพิ่ม (Extra asset) ซึ่งเงินลงทุนส่วนนี้หากเราต้องการผลตอบแทนที่สูงจากเงินลงทุนก็ควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากขึ้น เช่น 70% ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วเงินลงทุนทั้งหมดของเราที่มีจะลงทุนในหุ้นรวมกันเฉลี่ย 66% ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ลงทุนแต่ละคน
ตัวอย่างที่ 2 เพื่อรักษาเงินต้น
หากต้องการลงทุนเพื่อเน้นรักษาเงินต้นไว้เป็นหลัก ไม่อยากให้มีความเสี่ยงหรือผันผวนมาก เงินลงทุนส่วนเพิ่ม (Extra asset) ก็อาจลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นให้น้อยลงเหลือ 30% ขณะที่น้ำหนักลงทุนในส่วนเงินลงทุนหลักเพื่อการเกษียณ (Core retirement portfolio) จะยังคงลงทุนในหุ้นที่สัดส่วน 50% เท่าเดิม เพื่อให้มีผลตอบแทนเพียงพอต่อการใช้จ่ายที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้เฉลี่ยแล้วเงินลงทุนทั้งหมดจะลงทุนในหุ้นเฉลี่ย 34%
นอกจากนี้ หากอนาคตสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากจากสัดส่วนเดิมที่กำหนดไว้ ซึ่งมาจากราคาหุ้นปรับขึ้นมาก ก็อาจขายทำกำไรเพื่อปรับลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นให้ลงมาเท่ากับที่ตั้งใจไว้แต่เดิมได้ ทั้งนี้โดยสรุปแล้วการจัดสรรเงินลงทุนนั้นไม่มีสูตรตายตัวว่าต้องเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับความต้องการและเหมาะสมของแต่ละคน ขนาดของสินทรัพท์ที่มี ความเสี่ยงที่รับได้ และความต้องการใช้จ่ายของแต่ละคน
ที่มา : Morning Star Thailand