03 มกราคม 2565
5,766

6 ธีมการลงทุน ปี 2565 รับเทรนด์ดอกเบี้ยโลกขาขึ้น เงินเฟ้อสูง และการระบาดของโอมิครอน

6 ธีมการลงทุน ปี 2565  รับเทรนด์ดอกเบี้ยโลกขาขึ้น เงินเฟ้อสูง  และการระบาดของโอมิครอน
Highlight
ปี 2022 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับการลงทุน ปัจจัยสำคัญคือทิศทางดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่กำลังกลับสู่ขาขึ้น โดยมีเงินเฟ้อเป็นต้นเหตุของการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามคาดว่าไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามการระบาดโควิดโอมิครอนเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามเพิ่มเติม นักวิเคราะห์แนะนำลงทุนหุ้นพื้นฐานดี ปันผลสม่ำเสมอ แนะนำ 6 ธีมการลงทุน กระจายความเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวังเพิ่มเติมคือการระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน อาจซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจให้ชะลอการฟื้นตัว อย่างไรก็ตามคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับขึ้นแตะระดับ 1,800 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเลือกตั้งในประเทศ แนะนำลงทุนหุ้นพื้นดี หุ้นปันผลสูง เช่นธนาคารพาณิชย์ การบริโภค โรงพยาบาล และโทรคมนาคม

 

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่าจากสถิติการขึ้นดอกเบี้ย 4 รอบล่าสุด ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Ferderal Reserve (Fed) ปรับดอกเบี้ยขึ้นเฉลี่ย 2.8% ในแต่ละรอบ โดยรอบที่ขึ้นรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในช่วงปี 2004 ถึง 2006 เฟดขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 17 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 4.25%

 

เงินเฟ้อคือต้นเหตุของการขึ้นดอกเบี้ย Fed แทบทุกรอบ ในรอบปี 2004 ถึง 2006 เงินเฟ้อเคลื่อนไหวในกรอบ 3-4% เกือบทุกเดือน บางเดือนสูงถึง 4.7% ซึ่งเกินเป้าหมายระยะยาวของเฟดที่ 2% เป็นเวลานาน จึงเป็นที่มาของการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดที่สุดใน 30 ปี

 

รอบนี้แม้ Fed ยังไม่ได้ปรับนโยบายการเงิน แต่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยหลังสิ้นสุดมาตรการผ่อคลายการเงินเชิงปริมาณหรือ Quantitative Easing (QE) ภายในไตรมาสสองของปี 2565 เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสูงถึง 6.2% ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

ความจริงการขึ้นดอกเบี้ย Fed ในรอบนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการปรับขึ้นจากฐานที่ 0-0.25% ซึ่งต่ำสุดในประวัติศาสตร์ แต่ที่ตลาดทุนเริ่มกังวล คือปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอาจคลี่คลายได้ไม่เร็วอย่างที่คิด สร้างแรงกดดันให้ดอกเบี้ย Fed เพิ่มขึ้นเกินระดับ 1.75% ที่สะท้อนในตลาดล่วงหน้า Fed Funds Futures

 

“ผมยังเชื่อว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นภาวะชั่วคราว ที่เกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของความต้องการ ในขณะที่ภาคการผลิตยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายด้านห่วงโซ่อุปทาน เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกทยอยกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นภายในครึ่งหลังของปีหน้า แรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะชะลอลง”นายไพบูลย์ กล่าว 

 

บ่อยครั้งที่การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกดดันให้หลายประเทศใน Emerging Markets ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม เพื่อรักษาค่าเงินและป้องกันเงินไหลออก ข้อดีคือไทยพึ่งพาเงินทุนต่างชาติน้อยมากในระยะหลัง ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม และที่สำคัญ เงินเฟ้อไทยยังทรงตัวในระดับต่ำ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยก็สูงกว่าสหรัฐถึง 4%       

 

ที่น่าสนใจ ในช่วงหนึ่งปีแรกของการปรับขึ้นดอกเบี้ยเฟดใน 4 รอบที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นโลก (MSCI ACWI Index) แทบไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบเลย โดยปรับขึ้นเฉลี่ย 6% 12 เดือนหลังวันปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก จะมีก็เพียงช่วง 3 เดือนแรกเท่านั้นที่ตลาดหุ้นโลกอยู่ในขาลง

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามคือโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ข้อดีคือจำนวนคนทั่วโลกที่ได้รับวัคซีนแล้วมีสูงถึง 56% และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนไทยเองก็ฉีดไปแล้ว 71% อีกทั้งยังมีการพัฒนายาและวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะ Endemics ในไม่ช้า

 

แล้วเราควรลงทุนอย่างไรในช่วง 12 เดือนข้างหน้า?

 

“ผมยังแนะนำให้ถือหุ้นเป็นหลัก เพราะเศรษฐกิจโลกยังดูแข็งแรง และดอกเบี้ยโลกยังไม่ขึ้นไปสู่จุดที่เป็นอันตรายต่อการลงทุน แต่ควรเน้นลงทุนระยะยาวในหุ้น Value Stock ที่ผลประกอบการเติบโต Valuations ไม่แพงเกินไป และจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ” นายไพบูลย์ กล่าว

 

ตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุน เพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในระดับ 4% และ SET Index ยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด ในขณะที่ตลาดหุ้นโลก (MSCI ACWI Index) ปรับขึ้นไปแล้ว 32%

 

Forward P/E ของหุ้นไทยที่ 16 เท่าไม่ถือว่าแพง อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี และสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดหุ้น ASEAN ที่ 15 เท่าเพียงเล็กน้อย

 

ปัจจัยสำคัญคือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ถ้านักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเกิน 10 ล้านคนในปีหน้า เราน่าจะได้เห็น SET Index กลับไปเทรดที่ระดับ 1,800 จุด

 

แนวโน้มเม็ดเงินต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยมีสูง เพราะนอกจากจุดขายในฐานะประเทศท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยไม่มีปัญหาเงินเฟ้อสูง ไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ย และรัฐบาลยังเหลือพื้นที่นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกพอสมควร

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าคืออีกหนึ่งปัจจัยบวก จากสถิติการเลือกตั้ง 14 ครั้งใน 39 ปีที่ผ่านมา พบว่า SET Index ปรับขึ้นโดยเฉลี่ย 6% 3 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง และอีก 7% 12 เดือนหลังการเลือกตั้ง     หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจคือ ธนาคารพาณิชย์ การบริโภค โรงพยาบาล และโทรคมนาคม

 

ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย เปิดเผยว่า จากผลกระทบสะสมของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังคงสูงและใช้เวลาในการลดลงมากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อ ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ภาวะ hard-landing ของจีน

 

สำหรับภาวะเงินเฟ้อเป็นหนึ่งในความเสี่ยงหลักที่จะมีผลกระทบมากที่สุดในปี 2565 เนื่องจากตัวเลขคาดการณ์บ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อที่มีความหนืดมากขึ้น เมื่อเทียบกับแนวโน้มระยะสั้นของ Fed  ความเสี่ยงอื่นที่เป็นอันตรายมากกว่า ได้แก่ ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และภาวะ hard-landing ของจีน แม้ว่าโดยทั่วไปเราจะมีมุมมองเชิงบวกต่อการเลือกตั้งของประเทศไทย แต่การหาเสียงเลือกตั้งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของภาคส่วนที่อ่อนไหวต่อการเมือง เช่น นิคมอุตสาหกรรม EV,PPP และโครงการขนาดใหญ่

 

ธีมลงทุน  2565 ทั้งหมด 6 รูปแบบ 

 

  • ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง (CPALL, OSP, LH และ STEC)
  • Pent-up demand ของการเดินทาง (SPRC และ AWC)
  • หุ้นกลุ่ม Anti Commodities plays (PTG ,GFPT, EPG และ BGRIM)
  • อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น (BLA และ SCB)
  • ผู้ได้ประโยชน์หลักจากกระแสความนิยมของรถยนต์ (KCE)
  • การใช้ data usage 5G ที่เพิ่มขึ้น (ADVANC)

ติดต่อโฆษณา!