11 มกราคม 2565
1,494

จับตาสหรัฐฯใช้ยาแรง แก้ปัญหาเงินเฟ้อสูง!! โกลด์แมน แซคส์ คาดจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้

จับตาสหรัฐฯใช้ยาแรง แก้ปัญหาเงินเฟ้อสูง!! โกลด์แมน แซคส์ คาดจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้
โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐเปิดเผยการคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีในช่วงเดือน ก.ค.หรือเร็วกว่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับสูงอย่างต่อเนื่องในรอบ 40 ปี ทั้งนี้คาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วรวมทั้งการลดขนาดงบดุลลง จะกระทบสภาพคล่องตลาดทุนทั่วโลก หุ้น Growth จะกระทบมากกว่าหุ้นพื้นฐานดี หรือ Valua Stock

ปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรายงานตัวเลขล่าสุดในเดือนธันวาคม 2564 สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 6.8% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2525 สูงสุดในรอบ 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.7% ดังนั้นอาจจะอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจหากไม่สามารถดึงเงินเฟ้อลงมาให้อยู่ในระดับปกติได้

 

นายแจน ฮัตซีอุส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ให้ความเห็นว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐที่ตึงตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยจากรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) หรือ Fed เมื่อวันที่ 14-15 ธ.ค. บ่งชี้ว่า Fed อาจมีการปรับแนวทางดำเนินนโยบายเพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติเร็วกว่ากำหนด

 

“เราปรับคาดการณ์การลดขนาดงบดุลบัญชีของ Fed  จากเดิมเดือน ธ.ค. 2565 มาเป็นเดือน ก.ค. และเป็นไปได้ว่าอาจเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น และด้วยอัตราเงินเฟ้อที่น่าจะยังอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายในขณะนั้น เราจึงคิดว่าเฟดไม่น่าจะเลือกปรับลดงบดุลบัญชีแทนการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกต่อไป โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. มิ.ย. และ ก.ย. และจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.ด้วย” นายฮัตซีอุสกล่าว

 

ก่อนหน้านี้ Fed เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือน ธ.ค. โดยระบุว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐฯอยู่ในภาวะตึงตัวอย่างมาก ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรับลดการถือครองสินทรัพย์ทั้งหมดด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ

 

“กรรมการ Fed ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจ, ภาวะตลาดแรงงานและเงินเฟ้อ ก็ถือเป็นเรื่องเหมาะสมที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Federal Funds Rate) ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น หรือรวดเร็วกว่าที่กรรมการเฟดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่กรรมการเฟดบางส่วนมองว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลบัญชี (Balance Sheet) ของเฟดในทันทีหลังจากที่มีการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย” Fed ระบุในรายงานการประชุมประจำวันที่ 14-15 ธ.ค. 2564

 

นายคาร์ลอส คาซาโนวา นักเศรษฐศาสตร์ UBP สวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่า ประเทศในทวีปเอเชียจะเผชิญกับความเสี่ยง 3 ประการในปี 2565 ได้แก่การระบาดของ

โอมิครอน, เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงสู่ระดับ 5% และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯเร็วกว่าคาด

 

มาตรการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เข้มงวดของสหรัฐฯจะกระทบการลงทุนทั่วโลก หุ้น Growth Stock ได้รับผลกระทบมากกว่า Value Stock

 

นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ MST ประเมินว่า จากการที่ Fed ส่งสัญญาณการปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นแบบเข้มงวด (Tightening) เร็วขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งการเร่งลดขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เร่ง QE Tapering) ในการประชุมเดือนธันวาคมที่ผ่านมาต่อเนื่องด้วยการส่งสัญญาณเริ่มลดขนาดงบดุล ในรายงานการประชุมเฟดสัปดาห์ที่ผ่านมา และน่าจะตามมาด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นเป็นเดือนมีนาคมนี้ สะท้อนจาก Fed Watch Tool ล่าสุดให้น้ำหนักสูงขึ้นเป็น 70% เทียบกับช่วงเดือนธันวาคมปีก่อน ที่อยู่ต่ำเพียง 30-35% เพื่อเร่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อซึ่งยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี สหรัฐฯ เร่งตัวรอบใหม่ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก

 

หากประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเร่งตัวขึ้น อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นจะลดลง แต่อย่างไรก็ตามในเชิงเปรียบเทียบ “หุ้นมูลค่า” หรือ Value Stock จะได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยกว่า หุ้นเติบโต หรือ Growth Stock

 

และจากค่าสถิติ Correlation ระหว่าง MSCI World Value Index ตัวแทนของหุ้นมูลค่า และ MSCI World Growth Index ตัวแทนของหุ้นเติบโต เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของสหรัฐฯในอดีตที่ผ่านมา พบว่าในปีที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น ผลตอบแทนจากหุ้นมูลค่าจะสูงขึ้นตาม สวนทางกับผลตอบแทนหุ้นเติบโตที่ปรับตัวลง

 

มีเพียงในปี 2556 ที่อัตราพันธบัตรรัฐบาลเร่งตัวมากผิดปกติ บวก 1.271% ส่งผลให้ทั้งหุ้นมูลค่า และหุ้นเติบโตปรับตัวลงทั้งคู่

 

สำหรับหุ้นไทยยังน่าจะไปต่อ บทเรียนจากอดีตสะท้อนโอกาสสำหรับตลาดหุ้นไทยที่ส่วนใหญ่เป็นหุ้นมูลค่า และเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ถือว่าแทบไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการอัดฉีดสภาพคล่องของ Fed  ในช่วงที่ผ่านมา

 

ดังนั้น MST ยังคงมุมมองของ SET Index ที่ระดับ 1,750 จุด บนสมมติฐาน EPS 94.2 บาทต่อหุ้น มีโอกาสปรับขึ้น 13% อ้างอิง PE Ratio ที่ 18.6 เท่า

 

แนวโน้มการ Tightening หรือการลดปริมาณการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและการลงทุนของสหรัฐฯที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2565 นำมาสู่มุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในกลุ่มที่น่าสนใจ อาทิ กลุ่มโรงกลั่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มอิเล็คโทรนิกส์
ติดต่อโฆษณา!