20 มกราคม 2565
1,961

มอนิ่งสตาร์เผยกองทุนน้ำมันให้ผลตอบแทนกองทุนสูงสุดปี 64 ตามด้วยหุ้นไทย และ อินเดีย

มอนิ่งสตาร์เผยกองทุนน้ำมันให้ผลตอบแทนกองทุนสูงสุดปี 64 ตามด้วยหุ้นไทย  และ อินเดีย
Highlight

ผ่านไปแล้วกับการลงทุนปี 2021  ปรากฎว่ากองทุนรวมน้ำมันเป็นกองทุนที่สร้างผลตอบแทนสูงสุดถึง 65.9% เลยทีเดียว เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามน้ำมันถือเป็นสินทรัพย์ประเภท commodity ที่มีความผันผวนสูงโดยในปีก่อนหน้าติดลบถึง 35% ส่วนหุ้นไทยประเภทขนาดกลางและขนาดเล็กรั้งผลตอบแทนสูงเป็นอันดับสองที่ 27.4% และกองทุนหุ้นอินเดียตามมาเป็นอันดับสามที่ 26.2% ส่วนกองทุนต่างประเทศอื่น เช่น กองทุนหุ้นสหรัฐฯยังให้ผลตอบแทนสูงที่ 21% สำหรับแนวโน้มการลงทุนในปีนี้คาดว่ากองทุนหุ้นต่างประเทศยังให้ผลตอบแทนดี และปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุนที่ต้องติดตามคือการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ


กองทุนน้ำมันผลตอบแทนสูงปีล่าสุด แต่ยังติดลบรอบ 10 ปี

ในรอบปี 2021 กลุ่มกองทุนน้ำมันมีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 65.9% หรือสูงสุดในอุตสาหกรรมกองทุนรวม เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เป็นการปรับตัวขึ้นตลอดทั้งปี และเฉลี่ย 0.8% ในไตรมาสุดท้าย  อย่างไรก็ดีเนื่องจากการลงทุนสินทรัพย์ประเภทนี้มีความผันผวนสูงในแต่ละรอบปี เช่นในปี 2020 เฉลี่ยที่ -35.2% และปีก่อนหน้าสูงถึงเกือบ 25% โดยในช่วง 10 ปีย้อนหลังเคยเฉลี่ยติดลบมากที่สุดในปี 2014 ที่ -43.3% ทำให้ในภาพระยะยาวอย่างรอบเฉลี่ย 10 ปีเฉลี่ยที่ -8.6% ต่อปี

ผลตอบแทนกองทุนหุ้นไทยฟื้นตัวจากปี 2020

จากที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในปีที่ผ่านมา กองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยจึงมีผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามไปด้วย นำโดยกองทุนกลุ่ม Equity Small/Mid-Cap มีผลตอบแทนเฉลี่ย 27.4% ซึ่งหุ้นขนาดกลาง-เล็กมีการปรับตัวได้สูงกว่าตลาดหุ้นโดยรวม ส่งผลให้ในรอบ 10 ปีเฉลี่ยที่ 7.2% ต่อปี ด้านกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ Equity Large-Cap ที่แม้จะไม่อยู่ใน 10 อันดับแรก แต่ยังถือว่ามีผลตอบแทนที่ฟื้นตัวโดยเฉลี่ย 16.1% เทียบกับปี 2020 ที่ -11.0% ในภาพระยะ 10 ปีให้ผลตอบแทนที่ 6.3% ต่ำกว่ากลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็กอยู่ไม่มากนัก กลุ่ม Aggressive Allocation เป็นกองทุนผสมที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย ส่งผลให้มีผลตอบแทนที่ฟื้นตัวขึ้นในปีนี้เช่นกันที่ 18.1% โดยมีกองทุน TISCO Flexible Plus ให้ผลตอบแทนสูงสุดในรอบปีถึง 45%

20220120-a-01.jpg

กองทุนอินเดียผลตอบแทนเฉลี่ย 26.2%

กลุ่มกองทุนหุ้นอินเดียมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบไปเล็กน้อยในไตรมาสสุดท้ายที่ -2.3% แต่ในภาพของทั้งปีแสดงให้เห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ในอินเดียไม่ส่งผลต่อตลาดหุ้นมากนัก จากที่อินเดียมีการเร่งฉีดวัคซีน รวมทั้งในแง่ของศักยภาพการเติบโตของอินเดียเองเช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงสร้างประชากรที่มีผลต่อการเติบโต โดยมีกองทุนหุ้นอินเดียมีผลตอบแทนเฉลี่ยปี 2021 ที่ 26.2%  กองทุนบัวหลวงภารตะ จากบลจ.บัวหลวงเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสร้างผลตอบแทนสูงสุดของกลุ่มที่ 44.2%

กองทุนหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนสูงในรอบ 3-5 ปี

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีผลตอบแทนสูงต่อเนื่อง โดยในปี 2021 เฉลี่ยที่ 21.0% จากน้ำหนักในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มี performance ที่สูง รวมทั้งตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ได้มีการออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดจำนวนมหาศาล ทำให้กองทุนกลุ่มนี้มีผลตอบแทนสูงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 3 ปี (เป็นรองจากกองทุนกลุ่มเทคโนโลยี) และอันดับ 1 ในรอบ 5 ปี กองทุน TISCO US Equity Unhedged เป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในรอบปีที่ผ่านมาที่ 41.2%

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้นได้ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับทั่วโลก ซึ่งเกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่ต่างกัน ทำให้การลงทุนในหุ้นไทยโดยรวม underperform การลงทุนต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ นักลงทุนจึงควรพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องก่อนการลงทุนทุกครั้ง เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงจากการลงทุนในแต่ละตลาดหรือสินทรัพย์ได้อย่างเหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

บลจ.กสิกรไทย เงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดมูลค่ารวมราว 4 หมื่นล้าน

นางสาวชญาณี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทมอนิ่งสตาร์รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่มีเงินไหลเข้ามากสุด 3 อันดับแรกในรอบปี 2564  ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย เงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดมูลค่ารวมราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในไตรมาสสุดท้ายมีเงินไหลเข้า 7.3 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินจากกองทุน RMF และ SSF ตามด้วยบลจ.เกียรตินาคินภัทร มีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากองทุน  KKP Fixed Income Plus 2.6 หมื่นล้านบาท บลจ.กรุงศรีมีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับ 3 รวม 3.6 หมื่นล้านบาท โดยมีกองทุน Krungsri Smart Fixed Income ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 2.8 หมื่นล้านบาท 

ขณะที่บลจ.ไทยพาณิชย์และบลจ.บัวหลวงมีเงินไหลเข้าสุทธิในช่วงไตรมาสสุดท้ายจากฤดูกาลลงทุนกองทุนประหยัดภาษี  แต่หากดูในรอบปียังคงเป็น 2 บลจ.ที่มีเงินไหลออกมากที่สุดรวมมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาทและ 1.1 หมื่นล้านบาทตามลำดับ"

20220120-a-02.jpg

แนวโน้มการลงทุนปี 65
 
สำหรับแนวโน้มการลงทุนกองทุนรวมในปี 2565 นางสาวชญานี กล่าวว่า การลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะ “หุ้น” ยังคงจะได้รับความนิยมของนักลงทุนสูง ถึงแม้การลงทุนในประเทศจะดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้น นอกจากนี้เทรนด์การลงทุนในหุ้น ESG หรือการลงทุนอย่างยั่งยืนจะชัดเจนมากขึ้นไทย เนื่องจากในปีนี้มีความเคลื่อนไหวจากหลายภาคส่วนที่สนับสนุนให้เกิดการตื่นตัวต่อการลงทุนอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างที่ชัดเจนในต่างประเทศคือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจากการประชุม COP26 ในปีที่ผ่านมาสะท้อนภาคธุรกิจในการกำหนดทิศทางและวิสัยทัศน์ในอนาคตรวมทั้งภาคการลงทุนด้วย สำหรับประเทศไทยนั้นในปีนี้ได้มีบริษัทขนาดใหญ่แสดงให้ความสนใจแนวทางความยั่งยืนอย่างจริงจังมากขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) อยู่ในระหว่างการออกเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับกับการออกผลิตภัณฑ์ในอนาคต

สำหรับปัจจัยด้านการลงทุนที่ต้องติดตามหลักๆ คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งจะคอยกดดันการลงทุนในตลาดตลอดทั้งปี  โดยคาดว่าผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้ลดลง และพบว่าในช่วง 1 ปีย้อนหลัง ผลตอบแทนเหลือเพียง 0.55% จากอดีตผลตอบแทนเฉลี่ยสูงเกิน 1% ในส่วนของตลาดหุ้นได้รับผลกระทบในแง่มูลค่า (Valuation) ลดลง หาก Fed มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้

ติดต่อโฆษณา!