กองทุนยั่งยืนในไทยโต 2 เท่าในปี 2564 ท่ามกลางวิกฤตโควิด ตามเทรนด์โลก
Highlight
มอนิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ ประเทศไทย รายงานการเติบโตของการลงทุนในกองทุนยั่งยืน หรือ Sustainability Fund ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยตามเทรนด์โลก เนื่องจากผู้ลงทุนตื่นตัวกับประเด็นนี้มากขึ้น ทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน รวมทั้งผลจากการลงทุนที่มีต่อโลก สำหรับกองทุนรวมยั่งยืนของไทยในปีที่ผ่านมามีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น มากกว่าเท่าตัวจากปี 2020 และเพิ่มขึ้น 17.7% จากไตรมาสที่ 3 สู่ไตรมาสที่ 4 ปีของปี 2564 โดยมีเงินไหลเข้าลงทุนสุทธิมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท และยังพบว่าบริษัทจัดการลงทุนต่างๆได้ทยอยออกกองทุนยั่งยืนเพิ่มขึ้น 12 กองทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564
การลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทยมีการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามเทรนด์การเติบโตของโลก เนื่องจากนักลงทุนให้ความสำคัญต่อธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ใส่ใจในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาลที่ดี โดยบริษัทเหล่านี้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนและพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีความผันผวนน้อยและยังคงเติบโตได้ดีในภาวะวิกฤตโควิค-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
กองทุนยั่งยืนในประเทศไทยในปี 2564 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% จากไตรมาสที่ 3 และเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากปี 2020 โดยกองทุนส่วนใหญ่ได้ Morningstar Sustainability Rating ระดับ Average ขึ้นไป
มอนิ่งสตาร์ รีเสิร์ท ประเทศไทยรายงานว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2021 มีกองทุนเปิดใหม่จำนวน 12 กองทุน เช่น We Global Water ลงทุนไปยังกองทุน BNP Paribas Aqua I ที่ได้ Morningstar Sustainability Rating ระดับ Average หรือ 3 globes กองทุน SCB Japan Equity เป็นกองทุนเปิดใหม่ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการลงทุนไปยังกองทุน Goldman Sachs Japan Equity Partners ซึ่งมีการระบุในนโยบายว่ามีการนำประเด็นด้าน ESG มาใช้ร่วมกับประเด็นอื่นในการคัดเลือกการลงทุน และล่าสุดมี Morningstar Rating ระดับ 5 ดาว และ Morningstar Sustainability Rating ระดับ Above Average หรือ 4 globes กองทุน Krungsri Global Millennials Equity A มีการลงทุนกับ Goldman Sachs เช่นกัน โดยลงทุนไปยัง Goldman Sachs
Global Millennials Equity Portfolio ที่มีการลงทุนเกี่ยวกับการบริโภคของประชากรกลุ่ม Millennials และใช้ปัจจัย ESG มาร่วมในการพิจารณา โดยกองทุนนี้ Morningstar Rating ระดับ 5 ดาว และ Morningstar Sustainability Rating ระดับ Average หรือ 3 globes นอกจาก 3 กองทุนนี้จะเป็นกองทุนที่เปิดเพิ่มชนิดหน่วยลงทุนที่มีอยู่เดิม หรือกองทุน SSF RMF เพื่อขายในช่วงท้ายของปีที่มีการลงทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี
การปรับวิธีการประเมิน Morningstar Sustainability Rating ที่มีการนำข้อมูล Country Risk Rating มาเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณ Rating ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้มีกองทุนจำนวนหนึ่งที่มีการลงทุนในตราสารภาครัฐเข้าเกณฑ์การคำนวณเรตติ้งในวิธีที่ใหม่นี้ โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มในส่วนของกองทุนผสมหรือกองทุนตราสารหนี้ กลุ่มกองทุนผสมจากเดิมที่มีกองทุนได้ globe rating 126 กองทุน เพิ่มเป็น 219 กองทุน ด้านกองทุนตราสารหนี้จากเดิมมีจำนวน 11 กองทุน ล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 93 กองทุน โดยรวมมีกองทุนรวมไทยได้รับการคำนวณ Morningstar Sustainability Rating ราว 2 ใน 3 ของจำนวนกองทุนรวมไทยทั้งหมด จากเดิมที่สัดส่วนราวครึ่งหนึ่ง
มอนิ่งสตาร์ กล่าวถึงการลงทุนอย่างยั่งยืนว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลกเนื่องจากผู้ลงทุนตื่นตัวกับประเด็นนี้มากขึ้น ทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประเด็นอื่นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน รวมทั้งผลจากการลงทุนที่มีต่อโลก สำหรับกองทุนรวมไทยก็มีการเติบโตสูงเช่นกัน โดยในรอบ 11 เดือนของปี 2564 ที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิราว 3 หมื่นล้านบาท
การลงทุนอย่างยั่งยืนคือการได้ผลตอบแทนทางการเงินที่แข่งขันได้พร้อมกับขับเคลื่อนผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สำหรับการลงทุนในกองทุนยั่งยืนนั้นได้รับความนิยมมากในยุโรป และเอเชียคือที่ฮ่องกง และไต้หวัน ในขณะที่ไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ทวีปยุโรป : ผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก
ทวีปยุโรปถือได้ว่าเป็นผู้นำของความยั่งยืนระดับโลก โดยเนเธอร์แลนด์เป็นตลาดที่มีความยั่งยืนสูงสุด จากสัดส่วนของธุรกิจจัดการข้อมูลอย่าง Wolters Kluwer หรือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อย่าง Unibail-Rodamco-Westfield ที่มีความเสี่ยงอยู่ระดับต่ำสุด (Negligible) รวมทั้ง ASML Holding ที่สัดส่วนใน Index สูงสุดและมี ESG Risk Score ระดับ Low
ฮ่องกง-ไต้หวัน : ผู้นำในเอเชีย
ขณะที่ฮ่องกงเป็นตลาดนอกยุโรปที่มีระดับความยั่งยืนสูงสุด หรือที่อันดับ 4 ซึ่งมี AIA Group เป็นสัดส่วนสูงสุดพร้อมกับมีความเสี่ยงที่ต่ำและจัดการความเสี่ยง ESG ที่มีอยู่ได้อย่างดี มีการพัฒนาบุคลากรที่เข้มแข็ง รวมทั้งแสดงถึงการให้ความสำคัญด้าน ESG โดยมีการตั้งมีคณะกรรมการเป็นการเฉพาะ ไต้หวันเป็นอีกตลาดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มความยั่งยืนระดับดีสุดซึ่งเป็นผลจาก Taiwan Semiconductor ที่มี ESG Risk ระดับ Low ซึ่งมีสัดส่วนใน Index สูงที่สุด
สหรัฐอเมริกา : อันดับ 13 จากบางบริษัทมีความเสี่ยงระดับสูง
สหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับ 13 ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่เช่น Apple, Microsoft, Berkshire Hathaway และ Visa เป็นผู้นำด้านความยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันมี Facebook, Amazon และ Johnson & Johnson ที่มีความเสี่ยง ESG ระดับสูง ซึ่งเกิดจากบางประเด็นเชิงลบของแต่ละบริษัทเช่น ประเด็นข้อมูลหรือความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน Facebook หรือแนวปฏิบัติกับแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของ Amazon ที่อยู่ในระดับไม่ดีนัก และทาง Johnson & Johnson ยังเกิดการฟ้องร้องหลายกรณีจากมาตรฐานความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์
ประเทศไทย : ระดับปานกลาง-อันดับสองในอาเซียน
คะแนนความยั่งยืนของประเทศไทยอยู่ในกลุ่มระดับปานกลาง หรืออันดับสองในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ หากดูในรายบริษัทจะพบว่า holding อันดับต้นๆ ของ Index นั้นจะประกอบด้วยกลุ่มพลังงาน ค้าปลีก ธนาคาร สื่อสาร เช่น PTT, CPALL, ADVANC, SCB เป็นต้น ซึ่งใน 10 อันดับแรกนั้นมีน้ำหนักเกือบ 40% ของพอร์ต แต่ส่วนใหญ่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มบริษัที่มีความเสี่ยง Medium ไปจนถึง Severe และไม่มีหุ้นตัวใดใน Index ได้ระดับ Negligible ซึ่งสะท้อนไปยังคะแนน Country Index ที่อยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับตลาดอื่นทั่วโลก