27 มกราคม 2565
2,055

Fed เตรียมขึ้นดอกเบี้ย มี.ค. 0.25% สิ้นสุด QE และลดงบดุลตามคาด ดร.กอบศักดิ์ ชี้หลักลงทุนยามตลาดผันผวน!

Fed เตรียมขึ้นดอกเบี้ย มี.ค. 0.25% สิ้นสุด QE และลดงบดุลตามคาด  ดร.กอบศักดิ์ ชี้หลักลงทุนยามตลาดผันผวน!
Highlight

ตลาดโลกผันผวนหนัก!! ไม่ว่าจะเป็น หุ้น คริปโทเคอเรนซี และบอนด์ ผลการประชุม Fed เป็นไปตามคาด ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย มี.ค. นี้ ยืนยันเดินหน้ายุติมาตรการ QE และเตรียมลดขนาดงบดุลหลังขึ้นดอกเบี้ย แต่ความไม่ชัดเจนจะขึ้นดอกเบี้ยกี่ครั้งและลดงบดุลลงเมื่อใด ยังสร้างความคลุมเครือให้ตลาดคาดเดาในทางลบต่อไป ส่งผลให้เช้าวันนี้ตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นไทยร่วงต่อเนื่อง Bitcoin ยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ $35,800 ดอลล่าร์ ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล แนะหลักลงทุนในช่วงภาวะตลาดผันผวน ให้นักลงทุนมีสติประมาณตน และรักษาเงินต้นไว้ใส่ได้เพื่อรอโอกาสในรอบถัดไป


ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผันผวนตาม ดาวโจนส์ ในเช้าวันนี้ (27 ม.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็วขึ้น เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันนักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครนอย่างใกล้ชิด

เมื่อเวลา 08.21 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ดิ่งลง 208 จุด หรือ -0.61% แตะที่ 33,847 จุด

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 26,991.52 จุด ลดลง 19.81 จุด หรือ -0.07%,

ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 23,952.01 จุด ลดลง 337.89 จุด หรือ -1.39% และ

ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,456.10 จุด เพิ่มขึ้น 0.43 จุด หรือ +0.01%

ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยในเวลา 10.20 น.เคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,630.20 จุด -0.81%

Fed  มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ (26 ม.ค.) พร้อมระบุว่า Fed จะยังคงปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. ซึ่งจะส่งผลให้การทำ QE ของเฟดสิ้นสุดลงในเดือน มี.ค. พร้อมกับการเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าวเช่นกัน

แถลงการณ์ระบุว่า เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 2% และตลาดแรงงานอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง ดังนั้น Fed จึงคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศคือสิ่งที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง โดยเป้าหมายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

ทั้งนี้ Fed เชื่อมั่นว่า การเพิ่มขึ้นของตัวเลขการว่าจ้างงาน แม้ยังอยู่ในช่วงที่การระบาดของโอมิครอนจะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยรายวันเพิ่มสูงแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่องก็ตาม รวมทั้งความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก น่าจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันเงินเฟ้อได้
 
อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ของ Fed ครั้งนี้ไม่ได้ระบุว่า Fed จะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลที่ปัจจุบันขยับพุ่งขึ้นเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อใด โดยระบุเพียงแค่ว่ากระบวนการปรับลดขนาดงบดุลจะเริ่มขึ้นหลังจากที่มีการเริ่มกระบวนการปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแล้ว
 
ทั้งนี้การะชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของปี 2022 Fed จะประชุมกำหนดนโยบายการเงินอีกครั้งในวันที่ 15-16 มีนาคม โดยไม่มีการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์แต่อย่างใด

ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวภายหลังการประชุมว่า “ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และ Fed ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% เมื่อพิจารณาจากการพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อในขณะนี้”

นายพาวเวลกล่าวว่า Fed เปิดกว้างและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน เพื่อไม่ให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงนี้กลายมาเป็นสถานการณ์ยืดยาวที่คงอยู่ตลอดไป แต่ย้ำว่าในเวลานี้ยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินโนบายดังกล่าว
 
นอกจากนี้ประเด็นกดดันการลงทุนที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย โดยล่าสุดทำเนียบเครมลินออกแถลงการณ์เตือนว่า รัสเซียจะตอบโต้อย่างรวดเร็ว หากสหรัฐและพันธมิตรปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซีย นอกจากนี้ รัสเซียจะไม่ตัดทางเลือกในการเพิ่มกำลังทหารและยุทโธปกรณ์เข้าไปในคิวบาและเวเนซุเอลา หากข้อเรียกร้องของรัสเซียไม่ได้รับการตอบสนอง

ทั้งนี้ รัสเซียได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสหรัฐและชาติตะวันตกเพื่อให้มีการรับประกันว่า องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จะไม่รับยูเครนและประเทศซึ่งเคยอยู่ในอดีตสหภาพโซเวียตเข้าเป็นสมาชิก อีกทั้งเรียกร้องให้สหรัฐและพันธมิตรถอนกำลังทหารออกจากกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าติดตามวันนี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเกาหลีใต้เดือนม.ค. และกำไรภาคอุตสาหกรรมของจีนเดือนธ.ค.

จากปัจจัยลบหลายประการที่กดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเกิดความผันผวนอย่างหนักในปีนี้ โดยเฉพาะคริปโทเคอเรนซี ที่ราคาลดจากจุดสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา เช่น Bitcoin จากประมาณ 69,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ลดลงมาแถวๆ 32,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือลดลงกว่า เกิน 50% ยังไม่รวมการกำกับดูแลที่เข้มข้นจากธนาคารกลางในหลายประเทศ ทั้งจีน รัสเซีย และหลังสุดเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการจัดทำความคิดเห็นเพื่อเตรียมประกาศห้ามใช้คริปโทเคอเรนซีในการซื้อขายแลกเปลี่ยน สินค้าและบริการในประเทศ 

อย่างไรก็ตามคริปโทเคอเรนซีและสินทรัพย์ดิจิตัลมีความผันผวนสูงเมื่อมีสัญญาณเชิงบวก ราคาก็พร้อมดีดกลับอย่างรวดเร็ว แต่มาตรการทางการเงินที่ธนาคารกลางสหรัฐกำลังดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ย การลด QE และการลดงบดุลลง ทำให้สภาพคล่องในระบบหายไป ดังนั้นทิศทางการประชุม Fed ในรอบนี้ ซึ่งใช้เวลาถึง 2 วัน คือ 25-26 ม.ค. จึงเป็นที่จับตาอย่างยิ่ง เพราะชี้ชะตาทิศทางการลงทุนในปีนี้ในทุกๆสินทรัพย์นั่นเอง

ดร. กอบศักดิ์ ชี้หลักการลงทุนในช่วงตลาดผันผวน

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟสบุ๊ค เมื่อ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา  ถึงสถานการณ์ตลาดที่ขึ้นลงหวือหวาในขณะที่ว่า ตลาดหุ้นสหรัฐทั้งดาวโจนส์  Nasdaq  และดัชนีหุ้น S&P ปรับตัวลดลง และ Swing ในบางช่วงหลังรอลุ้นผลประชุม Fed 

“ทั้งนี้ เมื่อมาตรึกตรองดู  พฤติกรรมตลาดล่าสุด ชี้ว่า ในปี 65 ตลาดจะเต็มไปด้วยการเหวี่ยงไปมา เป็นหนังคนละม้วนเทียบกับปีก่อนๆ  และ 2 วันนี้เป็นเพียงแค่หนังตัวอย่าง ที่จะมี Ep ต่อๆ ไป ที่จะผันผวน ไปไกลกว่านี้ และการปรับตัวอาจจะแรง 

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะตลาดได้ขึ้นมามากในช่วงปีกว่าๆ (โดยเฉพาะ Nasdaq) เมื่อมีข่าวว่าเฟด behind the curve เฟดต้องใช้ยาแรง เฟดต้องเร่งถอนสภาพคล่อง ประกอบกับข่าวความขัดแย้งที่ยูเครน ความกลัวก็เข้าครอบงำนักลงทุนได้ง่าย” 

ไม่น่าแปลกใจ ตลาดจึงอ่อนไหวเป็นพิเศษ!!

สำหรับทางรอด ขอเอาหลักง่ายๆ 3 ข้อมาฝาก

  • รู้จักตน - ต้องประมาณตน รู้จักตนเอง ถ้าเราเพิ่งเริ่ม ยังว่ายน้ำไม่แข็ง เมื่อคลื่นลมแรงขึ้น มรสุมก่อตัว ก็ต้องระวังตัวมากขึ้น พยายามไม่ว่ายลงลึกไปมากนัก 

  • อย่าเกินตัว - ช่วงที่ผันผวนมาก ต้องไม่ลงทุนเกินตน ถ้าเงินที่ลงไป เป็นเงินของเรา ไม่เกินกำลัง เราจะสามารถอดทนต่อการเหวี่ยงได้มาก เมื่อทนได้ ใจเราจะนิ่งพอ จะเห็นทางออก 

  • รักเงินต้น - สุดท้าย หลักการของนักลงทุนที่ดี ที่คุณปู่ Buffet พร่ำสอน ก็คือ เงินทองหามายาก ต้องรักเงินต้น ถ้าเรารักษาเงินไว้ได้ เราก็จะมีโอกาสอยู่เสมอ เพราะโอกาสไม่ได้มีหนเดียว นอกจากนี้ โอกาสในช่วงต่อไป อาจจะดีกว่าช่วงนี้มาก

“ช่วงผันผวนเช่นนี้ ถ้าอยากลง ก็ลงบ้าง พอสนุก เพื่อเป็นประสบการณ์  ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ”

และในเช้าวันนี้ (27 ม.ค.) ดร.กอบศักดิ์ได้อัพเดทต่อว่า 

20210127-a-01.jpg

55 นาทีเขย่าตลาดการเงินโลก - The party will be over soon.

ปกติแล้วการแถลงข่าวของธนาคารกลาง จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยลดความกังวลใจของตลาด และช่วยแสดงถึง Steady hand ของผู้ที่กุมนโยบาย

ตลาดเมื่อฟังแล้ว อาการเข่าอ่อนก็บังเกิดขึ้น ลงไปไม่มากไม่น้อย

Dow ลง 2.6% หรือประมาณ 900 จุด 
Nasdaq ลง 4.2%
BTC ลง 5.2%

จากเดิมที่ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดช่วงบ่ายสอง หลัง FOMC Press Release บอกว่า เฟด "ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย" "การทำ Tapering ยังเป็นไปตามกำหนดการเดิม" ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลง

ทุกคนโล่งใจว่า สิ่งที่กังวลใจ คือ "เฟดจะเร่งทำนโยบาย งานเลี้ยงจะเลิกลา" ยังไม่เกิดขึ้น 

แต่พอยิ่งฟังท่านผู้ว่าการฯ ตลาดยิ่งลง มีคนถามมาว่า มันเกิดอะไรขึ้น? ทำไมเป็นแบบนี้ เมื่อลองคิดดู ว่าระหว่างที่นั่งฟังตามไปด้วย นั่งดูดัชนีของทุกตลาดประกอบ 

คิดว่า ทุกคนที่นั่งฟังไปพร้อมๆ กัน ลุ้นสุดใจ ว่าท่านผู้ว่าการจะพูดอะไรต่อไป

ลุ้นว่าจะมีอะไรที่ Surprise ตลาดออกมาจากท่านผู้ว่าการฯ ไหม มีอะไรที่ไม่อยู่ใน Press Release

เพราะแค่ 4 หน้าของคำเกริ่นนำ ก่อนการถามตอบ ก็เห็นชัดว่าเฟดคิดอะไร

แต่ละคำที่เลือกมาพูดแสดงว่า เฟดเห็นว่าเศรษฐกิจแข็งแกร่ง Omicron ไม่มีผลมาก ตลาดแรงงานไปได้ดี หาคนงานยาก เงินเฟ้อสูงกว่าเป้า ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเร็วสุดในรอบหลายปี 

ทั้งหมดนี้ ชี้ว่าเศรษฐกิจไม่ต้องการนโยบายการเงินที่มาช่วยสนับสนุนอีกต่อไป และจะจบการทำ Tapering และขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ 

เฟดจะเฝ้ามองว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อเนื่องไหม และจะใช้เครื่องมือที่มีที่จะจัดการป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อฝังรากลึก (อยู่ยาว) 

ส่วนการดึงสภาพคล่องกลับ คณะกรรมการได้ตกลงในหลักการเรียบร้อย โดยจะทะยอยทำ ตามแผนที่กำหนด ด้วยการให้พันธบัตรที่ถือไว้หมดอายุไป และระยะยาวจะเหลือแค่ Treasury Securities เท่านั้น โดยขณะนี้ ยังไม่กำหนดเวลา ขนาด และความเร็วของการลดงบดุลลง และจะคุยกันในการประชุมครั้งต่อๆ ไป 

แต่ที่แย่ไปกว่านั้น ก็คือ การถามตอบปกติแล้ว ร่างคำกล่าวที่เตรียม จะเป็นภาษาที่กลั่นกรองไว้ดีแล้ว

แต่ในช่วงการถามตอบ ที่นักข่าวถามอะไรก็ได้ จะสะท้อนสิ่งที่ท่านผู้ว่าการคิดและหลุดปากออกมา 

ซึ่งต้องบอกว่า เมื่อคืนนี้ ยิ่งฟังช่วงถามตอบ ก็ยิ่งเข้าใจมุมมองเฟด  ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมตลาดยิ่งหนักใจ ครับ

ท่านผู้ว่าการฯ พูดว่า

- เศรษฐกิจรอบนี้ต่างจากปี 2015 มาก เศรษฐกิจเข้มแข็งกว่า ตลาดแรงงานเข้มแข็งกว่ามากมาก เงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมายไปพอสมควร ข้อมูลเหล่านี้ จะมีนัยไปถึงการปรับเปลี่ยนดอกเบี้ย และการลดสภาพคล่อง

- คณะกรรมการเห็นตรงกันว่า "ใกล้ถึงเวลาขึ้นดอกเบี้ยแล้ว"

- ตลาดแรงงานตอนนี้เข้มแข็งมากมาก มีความต้องการแรงงานมากกว่าคนงานหลายล้านตำแหน่ง สูงเป็นประวัติการณ์ (อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน) ค่าจ้างที่เพิ่มสูงสุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงมีช่องให้ขึ้นดอกเบี้ยอีกมาก 

- เงินเฟ้อยืดเยื้อกว่าที่คิด คณะกรรมการพร้อมใช้นโยบายและเครื่องมือที่มีที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับลงมา โดยคาดว่า เงินเฟ้อจะค่อยๆ ดีขึ้นจาก แรงสนับสนุนด้านการคลังที่ลดลงปีนี้ และสถานการณ์การผลิตที่ดีขึ้น 

- ด้านการลดงบดุล ได้ออกหลักการมาแล้ว จะคุยในรายละเอียดเพิ่มขึ้นในการประชุมครั้งต่อๆ ไป แต่งบดุลครั้งนี้ใหญ่กว่าครั้งที่แล้วมาก เศรษฐกิจดีกว่ามาก เงินเฟ้อสูงกว่า หมายความว่า อาจจะเริ่มการลดงบดุลเร็วกว่าที่คิด ลดขนาดลงในอัตราที่เร็วกว่าเดิม ในรูปแบบที่ Predictable โดยจะแจ้งตลาดก่อนล่วงหน้า

- ดอกเบี้ยจะเป็นหัวใจหลัก การปรับงบดุลจะอยู่ข้างหลังให้สอดรับ 

- สำหรับความผันผวนของตลาดล่าสุด เป้าหมายของเฟดคือการดูแลเศรษฐกิจจริง ไม่ใช่ตลาด ตลาดจะสำคัญก็ต่อเมื่อ การเปลี่ยนแปลงของตลาดส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงอย่างมีนัยสำคัญ (การผลิต การลงทุน) โดยเฟดไม่ดูตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นสำคัญ

- การสื่อสารของเฟดช่วงที่ผ่านมา ทำงานดี ตามที่ควรเป็น ตลาดเริ่มคิดเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น ลดงบดุลเร็วขึ้น ในปีนี้  

- เฟดจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม โดยกรรมการส่วนมากคิดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเดือนมีนาคม ถ้าสถานการณ์ไม่เปลี่ยนจากนี้

นี่เป็นแค่ตัวอย่างจาก 6 คำถามแรก เพราะพูดอย่างนี้ ตลาดเลยกังวลใจ หลายคำถามตอบสั้นๆ ได้ แต่ท่านผู้ว่าการฯ เลือกที่จะอธิบายต่อ และแต่ละอย่างที่ออกมา ล้วนทำให้ตลาดมีข้อสรุปเดียวกันว่า เฟดจะเดินเครื่องแน่ และโดยเร็ว

ซึ่งหมายความว่า  “The party will be over soon.”

ติดต่อโฆษณา!