31 มกราคม 2565
1,605

สรุปภาษีคริปโทฯ สรรพากรยอมให้นำผลขาดทุนหักออกได้ และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

สรุปภาษีคริปโทฯ สรรพากรยอมให้นำผลขาดทุนหักออกได้ และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
Highlight

ภาษีคริปโทเคอเรนซีได้ข้อสรุปหลังจากที่มีข้อถกเถียงมานานถึงการจัดเก็บที่ไม่มีความชัดเจน ล่าสุดกรมสรรพากร ยอมให้นำผลขาดทุนจากการซื้อขาย มาหักออกจากกำไรได้ และให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้านภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นยังไม่ได้ข้อสรุป ล่าสุดนายไพบูลย์ นลินทรางกรู ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เตรียมถกด่วนกระทรววการคลังก่อนเคาะสรุปในเร็วๆ นี้ กับข้อเสนอขอให้ยกเว้นภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นต่อไป เพื่อให้ตลาดหุ้นไทยมีศักยภาพและประสิทธิภาพในการแข่งขันในระดับภูมิภาคและเติบโตในอนาคต


นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากการที่กรมสรรพากร ได้ทำงานร่วมกับผู้แทนสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งได้มีการส่งแบบสอบถามให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในเรื่องการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามกว่า 3,000 ราย โดยร้อยละ 82 เป็นผู้มีเงินได้จากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มีเงินได้จากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ซื้อมาเพื่อเก็งกำไร โดยเกือบร้อยละ 90 ทราบมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลของตนเองอย่างชัดเจน

จากผลการรับฟังความคิดเห็น และการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการต่างๆ โดยยึดแนวทางการถือเอาผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง (Taxpayer - Centric) รวมถึงการทำให้ชัด ผ่อนปรน และมองอนาคต

อย่างไรก็ตาม การประกอบธุรกิจและการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากโดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาท เป็น 4,839 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 9,600 ล้านบาท เป็น 114,539 ล้านบาท และมีจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนราย เป็น 1.98 ล้านราย รวมถึงวิวัฒนาการเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และรูปแบบการทำธุรกรรมต่างๆ มีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนรวดเร็วมากตลอดเวลา

กรมสรรพากรจึงได้ดำเนินการในส่วนที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการและจะดำเนินการนำเสนอเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนในบางประเด็นเพื่อรองรับกับรูปแบบธุรกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น กรมสรรพากรได้ยึดแนวทาง ทำให้ชัด ผ่อนปรน และมองอนาคต โดยมีข้อสรุปดังนี้

ทำให้ชัด

สำหรับการกำหนดรูปแบบของภาษีเงินได้ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ทางกรมสรรพากรได้มีแนวทาง ดังนี้

  • การจัดเงินได้ให้ชัดเจน โดยระบุประเภทเงินได้และผลประโยชน์ให้ครอบคลุมกำไร/รายได้จากการโอน/ผลประโยชน์อันใดจากสินทรัพย์ดิจิทัล

วิธีการ

  • วิธีการคำนวณต้นทุนโดยใช้วิธีมาตรฐานการบัญชีรับรอง โดยสามารถทำได้ ๒ วิธี คือ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) โดยสามารถเปลี่ยนวิธีคำนวณในปีถัดไปได้
  • การวัดมูลค่าสินทรัยพ์ดิจิทัล ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา

ทั้งนี้ รายละเอียดต่างๆ จะมีอยู่ในคู่มือการชำระภาษีของผู้มีเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทางกรมสรรพากรกำลังพิจารณาร่วมกับ สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และสมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และจะดำเนินการเผยแพร่ในวันจันทร์ที่ 31 ม.ค 2565

ผ่อนปรน

กรมสรรพากรได้มีแนวทางในการดำเนินการผ่อนปรนหลายๆ ประการ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน และยังอยู่ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากรที่สามารถดำเนินการได้ โดยแบ่งออกเป็นในเรื่องของภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามรายละเอียด ดังนี้

  • การคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมิน (กำไร) นั้น ทางกรมสรรพากรจะดำเนินการเสนอให้มีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน ซึ่งจะสามารถเข้าเงื่อนไขนี้เฉพาะ ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เท่านั้น
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น กรณีธุรกรรมที่กระทำผ่าน Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรม ที่กระทำผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

มองอนาคต

กรมสรรพากรจะพิจารณาหารือร่วมกับชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้เชิงนโยบายในอนาคต เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม อาทิ การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือ Exchange เป็นผู้หัก และนำส่งกรมสรรพากร การเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Financial Transaction Tax) สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมและบริบทต่างๆ โดยรอบอีกครั้ง”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การทำงานร่วมกับ ชุมชนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้กรมสรรพากรได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นและนำผลของข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาการบริหารการจัดเก็บภาษีที่ตอบสนองต่อความต้องการของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการร่วมกันที่จะทำให้กฎหมายภาษีอากรไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และยังคงรักษาหลักการจัดเก็บภาษีอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยยึดถือประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ”

นายศุภกฤษฏ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิตอลไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่อยู่ภายใต้อำนาจของกรมสรรพากร เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดเก็บภาษีการเทรดคริปโต ส่วนประเด็นที่เป็นเรื่องระดับนโยบาย ที่จำเป็นต้องแก้ไข การหารือในวันนี้กับกรมสรรพากรก็จะเป็นประโยชน์ที่ระดับนโยบายจะนำไปเป็นข้อมูล

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า จะเตรียมเข้าพบกระทรวงการคลังในเร็วๆ นี้  เพื่อขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาผ่อนปรนยก้ว้นภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นต่อไป ทั้งนี้ หากคลังยืนยันตามแนวทางเดิม ก็อต้องกลับมาหารือกันในเรื่องของอัตราภาษีที่เหมาะสม รวมทั้งรูปแบบการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีการหารือกันระหว่างสมาชิก 

ก่อนหน้านี้ FETCO ได้ชี้แจงเกี่ยวกับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขาย หุ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของนักลงทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ใช้โปรแกรมในการซื้อขาย เนื่องจากปริมาณการซื้อขายถี่มาก จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก และอาจทำให้นักลงทุนประเภทนี้ หันไปลงทุนในตลาดหุ้นประเทศอื่นหรือในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ แทนได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันนักลงทุน HIgh Frequently Trading (HFT) ประมาณ 30% ของตลาดรวม หากมีการน้ายไปซื้อขายตลาดอื่นอาจจะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยเสียโอกาสและสภาพคล่องการซื้อขายลดลง 

ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นแหล่งระดมทุนหลักของภาคธุรกิจ สร้างรายได้ให้ประชาชน และส่งเสริมระบบเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งคลังเองก็จะสามารถจัดเก็บภาษีนิติบุคคลได้เพิ่มขึ้น จึงมองว่ากลไกด้านการระดมทุนนี้มีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างรายได้ให้ภาครัฐ เห็นได้จากผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลมากขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเข้าตลาด และในแต่ละปี 30% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่รัฐบาลจัดเก็บได้มาจากเพียง 800 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เทียบกับนิติบุคคลทั้งประเทศกว่า 1.6 ล้านบริษัท

ติดต่อโฆษณา!