เงินบาทแข็งค่าในรอบ 7 เดือน เงินทุนไหลเข้าทะลัก! ถือครองพันธบัตรสูงสุดในรอบ 3 ปี หุ้นไฟฟ้าได้ประโยชน์
Highlight
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดี บริษัทจดทะเบียนมีกำไรดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ เป็นปัจจัยดึงดูดเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นต่อเนื่องจากปลายปีก่อน โเยมีแรงซื้อสุทธิหุ้นไทยสะสม 64,580 ล้านบาท พร้อมๆ กับเพิ่มการถือครองพันธบัตรไทยอีก 127,778 ล้านบาท ทำให้ยอดถือครองพันธบัตรไทยโดยนักลงทุนต่างชาติขยับสูงขึ้นไปแตะ 1.15 ล้านล้านบาท โดยต่างชาติที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี บาทแข็งค่า หุ้นใหญ่มีหนี้ต่างประเทศสูงได้ประโยชน์ รวมทั้งธุรกิจนำเข้าสินค้าต่างๆ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่านับจากต้นปี 2565 เป็นต้นมา นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยอย่างต่อเนื่อง โดยใน ช่วงเวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง ต่างชาติพลิกจากที่ขายสุทธิหุ้นไทยสะสม 48,577 ล้านบาทในปี 2564 มาเป็นซื้อสุทธิหุ้นไทยสะสม 64,580 ล้านบาท
พร้อมๆ กับเพิ่มการถือครองพันธบัตรไทยอีก 127,778 ล้านบาท ทำให้ยอดถือครองพันธบัตรไทยโดยนักลงทุนต่างชาติขยับสูงขึ้นไปแตะ 1.15 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7.67% ของยอดคงค้างพันธบัตรไทยโดยรวม นับเป็นสถิติสัดส่วนการถือครองพันธบัตรไทยโดยต่างชาติที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี
กระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยดังกล่าว กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในปีนี้ (หลังจากที่อ่อนค่าลงไปถึง 10.4% ในปี 2564) ท่ามกลางมุมมองที่ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าปีก่อน
ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 17 ก.พ. 2565 เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนที่ 32.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ หรือแข็งค่าขึ้นมาแล้วประมาณ 3.8% เมื่อเทียบกับระดับสิ้นปี 2564 และกลายเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชีย
นอกจากนี้ แรงหนุนเงินบาทในระยะนี้ยังน่าจะมาจากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ที่เชื่อมโยงกับการส่งออกทองคำในช่วงที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาตินั้น นอกจากจะคาดหวังผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทางการเงินที่เข้ามาลงทุนแล้ว คงคาดหวังอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน (ในกรณีที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น) ด้วยเช่นกัน
ซึ่งทำให้คงต้องรอติดตามว่า สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจไทย และเงื่อนไขอื่นๆ ที่ทำให้ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนจะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณการลดงบดุลในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์นี้ (21-25 ก.พ.) ที่ 31.80-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 และข้อมูลการส่งออกเดือนม.ค.ของไทย ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/การใช้จ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนม.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 (prelim.) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามสถานการณ์ในยูเครน การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน รวมถึงข้อมูลเบื้องต้นของดัชนี PMI เดือนก.พ. ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(21ก.พ.) ที่ระดับ32.16บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 32.18 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.00-32.40 บาทต่อดอลลาร์และกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.10-32.20 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก แม้ตลาดจะปิดรับความเสี่ยง เนื่องจากเงินบาทยังคงได้แรงหนุนด้านแข็งค่าจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ อย่างไรก็ดี ต้องติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะเริ่มขายทำกำไรหุ้นไทยมากขึ้นหรือไม่ หลังจากในช่วงที่ผ่านมาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้ไหลเข้าสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
ทั้งนี้ ในระยะสั้น เรามองว่า แนวรับสำคัญยังคงเป็นโซน 32.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าก็ต่างรอซื้อเงินดอลลาร์และนักลงทุนต่างชาติบางส่วนก็อยากขายทำกำไร ณ โซนดังกล่าว ส่วนแนวต้านที่สำคัญนั้น เราคาดว่าผู้ส่งออกจะรอขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงใกล้ช่วง 32.40-32.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โซนดังกล่าวจะเป็นแนวต้านสำคัญในระยะนี้
ส่วนเงินดอลลาร์ยังคงมีแรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนโดยเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและพร้อมปิดรับความเสี่ยงอย่างรวดเร็ว หากรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน ซึ่งจะหนุนให้สินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับราคาทองคำที่อาจปรับตัวขึ้นต่อได้
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนหนักและปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลว่ารัสเซียจะบุกโจมตียูเครน
สำหรับสัปดาห์นี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน/นาโต้ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดโดยทิศทางของความขัดแย้งดังกล่าวอาจส่งผลต่อแนวโน้มตลาดการเงินในระยะสั้นได้
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าในหุ้นกลุ่มเกษตรและอาหาร โดยอิงสมมติฐานค่าเงินบาท 35 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์ พบว่าถ้าเงินบาทแข็งค่าทุกๆ 1 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์ ส่งผลให้กำไรสุทธิของหุ้นกลุ่มนี้ปรับลดลง 4.4% และทำให้กำไรสุทธิหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ลดลง 5.8%
ดังนั้น หากนักลงทุนมีหุ้นทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ในพอร์ตอาจจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงจากปัจจัยการแข็งค่าของเงินบาท ถ้าประเมินแล้วจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานและต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น อาจจะพิจารณาการปรับพอร์ตลงทุนเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์
โดยทั่วไปนั้นเงินบาทแข็งค่าจะได้ประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริษัทที่มีการกู้ยืมเงินเงินต่างประเทศสูง เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า เพราะทำให้ภาระหนี้ลดลง จากเงินบาทแข็งค่า หุ้นที่นำเข้าเครื่องจักร และสินค้าเข้ามาในประเทศ
หุ้นที่ได้ประโยชน์ชัดเจน เช่น กัลฟ์ เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ (GULF) และ หุ้น GPSC
ส่วนหุ้นที่เสียประโยชน์ คือกลุ่มส่งออก
เพราะการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ทำให้ปริมาณการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น สุดท้ายแล้วก็ทำให้หุ้นส่งออกเติบโตได้ เพียงแต่ในระยะสั้นการที่ค่าเงินบาทแข็งค่า มีผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้
บทความจาก SET Invest Now ของตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า เงินบาทไทยมีอัตราการแข็งค่ามากที่สุดและเร็วที่สุดในเอเชีย และแข็งค่าสูงเป็นอันดับต้นๆ สกุลหนึ่งของโลก ในช่วงปลายปีก่อน เรื่อยมาจนถึง 1-2 เดือนแรกของปี 2565
สถานการณ์ดังกล่าว มีการตั้งคำถามว่า หากเงินบาทแข็งค่าไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลานาน เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร และคนไทยได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน จึงได้รวบรวมปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินอ่อนค่าและแข็งค่า ไว้ดังนี้
ผลกระทบกับราคาสินค้าที่ต้องจ่าย
เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นที่รู้จักกันดีว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีผลกระทบโดยตรงต่อราคาสินค้านำเข้า หากค่าเงินในประเทศผู้นำเข้าสินค้า “แข็งค่า” ราคาสินค้านำเข้าจะปรับลดลง หมายความว่า หากซื้อสินค้าดังกล่าวก็จะได้ราคา “ลดลง” ตรงกันข้ามหากค่าเงินในประเทศผู้นำเข้าสินค้า “อ่อนค่า” ราคาสินค้านำเข้าที่ผู้ซื้อต้องจ่ายจะ “เพิ่มขึ้น”
กระทบกับอัตราเงินเฟ้อ
ประเทศที่อยู่ในภาวะค่าเงิน “อ่อนค่า” และเป็นประเทศนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจำนวนมาก อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้อาจทำให้ธนาคารกลางตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรับกับภาวะอัตราเงินเฟ้อและป้องกันไม่ให้ค่าเงินอ่อนค่าลงไปมากกว่านี้
ตรงกันข้ามหากค่าเงิน “แข็งค่า” สามารถกดดันอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างรวดเร็วอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเงิน หากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวเครื่องมือที่ช่วยลดแรงกดดันคือ การใช้นโยบายการเงินด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวและให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้น
กระทบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้
ค่าเงิน “แข็งค่า” อย่างรวดเร็วและเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงินลดลงตาม สถาบันการเงินจึงสามารถลดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจกู้ยืมเพื่อนำไปลงทุนสูงขึ้นจากต้นทุนกู้ยืมลดต่ำลง ขณะเดียวกัน ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำลงจะช่วยลดแรงจูงใจ ผู้ออมเงินที่นำมาฝากเอาไว้ อาจนำไปลงทุนในช่องทางอื่นๆ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น หรือนำไปใช้แทน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้คึกคักมากขึ้น
กระทบกับพอร์ตลงทุน
บริษัทที่มีฐานรายได้ในรูปสกุลเงินดอลล่าร์และยังมีบริษัทย่อยในต่างประเทศอีก เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มว่าจะแข็งค่าต่อไปอีก อาจมีผลต่อยอดขายและกำไรที่ได้รับเข้ามา เพราะเมื่อแลกเป็นเงินบาทจะได้รับน้อยลง เช่น ต้นปี 1 ดอลล่าร์ แลกได้ 35 บาท วันนี้แลกแล้วเหลือ 33 บาท
กระทบกับผู้ประกอบการ
หากเงิน “แข็งค่า” ขึ้น ธุรกิจที่ต้องนําเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตจากต่างประเทศจะซื้อวัตถุดิบหรือเครื่องจักรได้ถูกลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ตรงกันข้ามผู้ส่งออกจะได้รับผลเสียจากการได้รับรายได้และผลกำไรจากการส่งออกลดลง และเมื่อมีรายได้ลดลงอาจนำไปสู่การตัดสินใจลดกำลังการผลิต และอาจจะส่งผลกระทบต่อการลดการจ้างงานลง