04 มีนาคม 2565
4,761

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ลงทุนในหุ้นบริษัทค้าอาวุธสงคราม!

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ลงทุนในหุ้นบริษัทค้าอาวุธสงคราม!
Highlight

นับตั้งแต่รัสเซีย บุกยูเครน ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนไปตามสถานการณ์ ยกเว้นหุ้นเกี่ยวกับการผลิตน้ำมัน และถ่านหินที่ราคายังพุ่งสวนตลาด แต่ก็นับว่าราคาปรับขึ้นมามากแล้ว บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส มองว่ายังมีบางกลุ่มธุรกิจ อย่างบริษัทค้าขายอาวุธสงคราม ที่ยังคงได้รับผลประโยชน์จากสถานการณ์ช่วงนี้ หากสงครามยังยืดเยื้อ ก็เป็นโอกาสในการสร้างกำไรในหุ้นกลุ่มนี้ได้


ในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งโจมตียูเครนอย่างหนัก และดูเข้าใกล้ที่หมาย กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนมากขึ้นทุกที

ทำให้หลายประเทศในกลุ่มองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) อย่าง สหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น และเยอรมัน เริ่มออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นการระงับธุรกรรมธนาคารและระงับการอนุมัติท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nordstream 2 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดีดตัวสูงขึ้นกว่า 110 เหรียญต่อบาร์เรลไปแล้ว และตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนสูงในช่วงหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา 

บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส มองว่ายังมีบางกลุ่มธุรกิจ อย่างกลุ่มบริษัทค้าขายอาวุธสงคราม ที่ยังคงได้รับผลประโยชน์จากสถานการณ์ช่วงนี้ ตัวอย่างเช่น

Lockheed Martin (LMT US) เป็นบริษัทค้าอาวุธที่มีรายได้อันดับหนึ่งของโลก มีการให้บริการผลิตภัณฑ์ด้านอากาศยาน อวกาศ และการป้องกันที่ทันสมัย อาทิ เครื่องบินรบ Missile System เรดาร์และเซนเซอร์ในการตรวจจับตำแหน่ง สัดส่วนรายได้หลัก 27% มาจากการเครื่องบินรบ F-35 Joint Strike Fighter ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีราคาแพงที่สุดในโลกมูลค่ากว่า 78 ล้านดอลลาร์ต่อลำ 

โดยในปี 2021 ที่ผ่านมาสามารถส่งมอบเครื่องบินนี้ได้ 142 ลำ ในขณะที่มี ยอดจองมากกว่า 3,100 ลำยาวไปจนถึงปี 2035 จากลูกค้าหลักกว่า 9 ประเทศทั่วโลกรวมถึง รัฐบาลสหรัฐฯผู้เป็นลูกค้าหลักเป็น 70% ของรายได้ นอกจากอาวุธสงครามแล้วบริษัทยังร่วมพัฒนายานอวกาศ Orion ให้กับ NASA อีกด้วย

Boeing (BA US) ผู้ผลิตเครื่องบินเชิงพาณิชย์รายใหญ่ของสหรัฐฯ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าบริษัทผลิตเครื่องบินรบด้วยเช่นกันและมีสัดส่วนรายได้ถึง 40% มีเครื่องสำหรับขนส่งพลกำลังและอพยพชื่อดังอย่าง C-17 Globemaster III เป็นหนึ่งในรุ่นเครื่องบินที่มีความต้องการที่สุดในโลก เคยใช้ในการอพยพประชาชนจากอัฟกานิสถานในช่วงที่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองและยังใช้อพยพผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเฮติเมื่อปี 2010 ทั้งนี้จากความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายของเครื่องบินนี้ 

ล่าสุดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯได้ตกลงทำสัญญาเพิ่มเติมกับบริษัทในการดูแลรักษาเครื่องบินและสนับสนุนภาคสนามให้แก่เครื่องบิน 275 ลำของรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่า 23.8 พันล้านดอลลาร์ ระยะเวลา 10 ปี
 
นอกจากนี้มีการขยายธุรกิจสู่การผลิตเรือดำน้ำสำหรับใช้ในการรบและยังมีการร่วมกับ Nasa ในการพัฒนาโครงการใหญ่ 2 โครงการ อย่างโครงการพัฒนาแคปซูลอวกาศ CST-100 Starliner สำหรับขนส่งนักบินอวกาศสู่สถานีอวกาศ และการสร้าง Space Launch System (SLS) ที่จะกลายเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดในประวัติการณ์

Northrop Grumman (NOC US) บริษัทที่โด่งดังด้านการผลิตเครื่องบินทิ้งระเบิด มีความเชี่ยวชาญในการผลิตระบบและชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับการนำไปใช้เป็นในเครื่องบินรบ อีกทั้งยังเป็นผู้รับเหมาช่วงในการผลิตเครื่องบิน F-35 ของ Lockheed Martin ด้วย บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิด B-21 ที่คาดว่าจะเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ล้ำสมัย สามารถบินระยะทางไกลขึ้น ทั้งยังมีความสามารถในการยิงระเบิดจากระยะไกล 

โดยกองทัพอากาศสหรัฐฯได้สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้จำนวนมากกว่า 100 ลำเพื่อแทนที่เครื่องบินที่จะเกษียณอายุ และกองทัพอากาศสหรัฐฯได้มอบหมายให้บริษัทเป็นผู้สร้างและพัฒนาระบบฐานขีปนาวุธใหม่ Air Force's Ground Based Strategic Deterrent (GBSD) เพื่อทดแทน LGM-30 Minuteman III intercontinental nuclear ballistic missiles (ICBM) มูลค่าโครงการระหว่าง 85 พันล้านดอลลาร์ถึง 100 พันล้านดอลลาร์

Leidos Holdings (LDOS US) บริษัทผู้ให้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่หลากหลาย ทั้งด้านการทหาร สาธารณูปโภคและสุขภาพ โดยมีลูกค้าหลักคือรัฐบาลสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 87% ซึ่งใช้บริการทางด้านการป้องกันภัยทางไซเบอร์ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลป้องกันภัย และระบบขีปนาวุธ 

สิ่งที่น่าจับตามองคือโครงการ Defense Enclave Services(DES) ซึ่งเป็นข้อตกลงระยะเวลา 10 ปี มูลค่ารวมกว่า 11 พันล้านดอลลาร์ เพื่อดูแลระบบ IT ให้แก่หน่วยสนับสนุนการรบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DISA) 

นอกจาก Leidos Holdings แล้วอีกหนึ่งบริษัทที่เข้าข่ายได้แก่บริษัท General Dynamics (GD US) โดยจะประกาศผู้ได้รับมอบหมายโครงการในไตรมาสที่ 2 นี้  ซึ่งโครงการนี้เรียกได้ว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนของบริษัท โดยจะช่วยเร่งผลักดันให้รายได้ต่อปีแตะระดับ 1 พันล้านดอลลาร์ได้

General Dynamics (GD US) บริษัทค้าอาวุธที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก มีมูลค่าทางการตลาดใหญ่ 60 พันล้านดอลลาร์ ประกอบธุรกิจที่ครอบคลุมตั้งแต่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบเกี่ยวข้องกับการป้องกันและการรบ ผลิตเครื่องบินรบและเรือดำน้ำเป็นต้น 

เรียกได้ว่าเป็นผู้นำด้านการผลิตเรือรบ รถถัง และระบบการรบภาคพื้นดิน โดยในปี 2020 ได้รับสัญญาการจ้างผลิตเรือดำน้ำนิวเคลียร์ Columbia-Class จำนวน 2 ลำ จากหน่วยนาวิกโยธินขอกสหรัฐฯ มูลค่าราว 9.5 พันล้านดอลลาร์ 

บริษัทยังเป็นหนึ่งในสองบริษัทผู้นำการให้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการทหาร ทำให้รายได้ของบริษัททรงตัวแม้ในยามที่รัฐบาลสหรัฐฯตัดงบประมาณสำหรับการอุปกรณ์การรบก็ตาม นอกเหนือจากด้านการรบ บริษัทยังเป็นผู้ผลิตเครื่องบิน Gulfstream ซึ่งเป็นเครื่องบินหรูที่นิยมในหมู่อภิมหาเศรษฐีระดับโลก 

Raytheon Technologies (RTX US) ที่บางคนอาจคุ้นหูเนื่องจากเป็นผู้พัฒนาระบบนำทางให้ยาน Apollo  ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ทั้งนี้บริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มด้านการรบที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบยิง Missile เป็นอย่างมาก มีผลงานเด่นอย่างระบบ Patriot Missile ที่เป็นขีปนาวุธลูกแรกที่สามารถหาและกำหนดเป้าหมายการยิงอย่างอัตโนมัติได้ 

โดยถูกมาใช้ในเหตุการณ์การรบที่สำคัญหลายครั้ง อาทิ สงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 และสงคราอิรักในปี 2003  อีกหนึ่ง ระบบ Missile ที่เป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมากคือ Tomahawk Missile ซึ่งสามารถยิงได้ระยะทางไกลกว่า 1,500 กิโลเมตร 

โดยล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินอ้างว่าสหรัฐฯได้ติดตั้งฐานยิง Tomahawk Missile ในประเทศโรมาเนียและโปแลนด์ และสามารถยิงมาที่กรุงมอสโกวได้ในระยะเวลา 4-5 นาทีเท่านั้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลสหรัฐฯได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้แล้ว

นอกจากนี้ยังมีกอง ETF ที่กระจายการลงทุนในบริษัทเหล่านี้ คือ กอง iShares U.S. Aerospace & Defense (ITA US) ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอยู่ 2.6 พันล้านดอลลาร์ โดยลงทุนใน Raytheon Technologies (RTX US) มากที่สุดสัดส่วนถึง 22% และมีสัดส่วนในการลงทุน Boeing (BA US) กว่า 18%

เอเชีย พลัส ระบุว่าในสถานการณ์สงครามอันตึงเครียดนี้ การลงทุนในบริษัทค้าอาวุธ ถือเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยเอเชีย พลัส และหลายๆ บริษัทหลักทรัพย์ก็มีบริการการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ที่นักลงทุนไทยสามารถลงทุนได้ผ่านแพลตฟอร์มการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ติดต่อโฆษณา!