14 มีนาคม 2565
2,287

บริษัทจดทะเบียนปี 64 กำไร 9.86 แสนล้านบาท ฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ

บริษัทจดทะเบียนปี 64 กำไร 9.86 แสนล้านบาท ฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ
Highlight

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) รายงานผลการดำเนินงานปี 2564 มียอดขายเติบโตสูง จากผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น และการปรับปรุงธุรกิจให้รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดี ทั้งนี้ส่งผลให้ดัชนีชีวัดการทำกำไร กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด สำหรับสถานการณ์การลงทุนระยะสั้น จับตารัสเซียยึดกรุงเคียฟ


นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 757 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) คิดเป็น 97.1% จากทั้งหมด 780 บริษัท  (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บจ. ในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC) นำส่งผลการดำเนินงานงวดปี 64 สิ้นสุด 31 ธ.ค.64 พบว่ามี บจ. รายงานกำไรสุทธิ 592 บริษัท คิดเป็น 78.1% ของ บจ. ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

20220314-b-01.jpg

บริษัทจดทะเบียนใน SET ปี 64 กำไรหรู +80%

สรุปผลการดำเนินงานของ บจ.ใน SET งวดปี 64 เทียบกับปี 2563 มียอดขายรวม 13,131,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.1% กำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit) 1,557,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.3% กำไรสุทธิ 985,699 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 

ทั้งนี้ บจ. มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานและอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 11.9% และ 7.5% ตามลำดับ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ สิ้นเดือนปี 64 บจ. มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ระดับที่ 1.54 เท่า คงที่เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 63

หากพิจารณาเทียบกับปี 62 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า บจ. มีผลการดำเนินงานดีขึ้น โดยมียอดขาย กำไรจากการดำเนินงานหลัก และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีอัตรากำไรกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 62

“ในปี 64 มี 3 ปัจจัยหลักที่เอื้อต่อการเติบโต ได้แก่ การปรับตัวของราคาน้ำมันส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น การปรับรูปแบบธุรกิจไปสู่วิถีแบบใหม่ (New Normal) ให้รับมือสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และการผ่อนคลายมาตรการโควิดของไทย 

ทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนสนับสนุนให้ บจ. มีกำไรจากการดำเนินงานหลักดีขึ้นในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น พลังงาน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เหล็ก ขนส่ง (ทางเรือ) 

นอกจากนี้ธุรกิจการแพทย์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง และธุรกิจภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการฟื้นตัวอย่างมาก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุอุตสาหกรรม และชิ้นส่วนยานยนต์” นายแมนพงศ์กล่าว

ด้านผลการดำเนินงานของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ปี 64 มียอดขายรวม 171,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% กำไรจากการดำเนินงาน 10,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.9% และกำไรสุทธิ 8,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 273.6%

20220314-b-03.jpg

ตลาดเอ็มเอไอ กำไร 73%

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนใน mai จำนวน 176 บริษัท คิดเป็น 96% จากทั้งหมด 184 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่ปิดงบไม่ตรงงวด) นำส่งผลการดำเนินงานปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 พบว่า บจ. ที่รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 128 บริษัท คิดเป็น 73% ของบริษัทที่นำส่งผลการดำเนินงานทั้งหมด
 
ผลประกอบการ บจ. mai ปี 2564 เทียบกับปี 2563 มียอดขายรวม 171,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% ต้นทุนขาย 132,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.5% ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 22.8% กำไรจากการดำเนินงาน (operating profit) 10,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.9% 

ส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 6.3% ขณะที่กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 8,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 273.6% ซึ่งหากพิจารณากำไรโดยไม่รวมรายการพิเศษ กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 3,498 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 29.8% และมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.0%
 
“ในปี 2564 บจ. ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม มาตรการควบคุมจากภาครัฐที่มีการผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2563 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับหลาย บจ. สามารถบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้ บจ. ใน mai มียอดขายและกำไรสุทธิเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำไรสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ กลุ่มบริการ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ตามลำดับ” นายประพันธ์กล่าว
 
ในส่วนของฐานะทางการเงิน บจ. mai มีสินทรัพย์รวม 282,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% จากสิ้นปี 2563 และโครงสร้างเงินทุนรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแรง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) อยู่ที่ 1.02 เท่า ลดลงจากสิ้นปี 2563 ที่เท่ากับ 1.10 เท่า
 
ปัจจุบันมี บจ. ใน mai 184 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565) ดัชนี mai ปิดที่ระดับ 612.37 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) อยู่ที่ 500,508 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 7,059 ล้านบาทต่อวัน

20220314-b-02.jpg

การลงทุนสัปดาห์นี้ จับตารัสเซียยึดกรุงเคียฟ ตลาดอาจมีตกใจบ้าง 

บล.เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ประเมินกรอบดัชนีฯ สัปดาห์นี้อยู่ที่ 1640-1680 จุด (สัปดาห์ที่ผ่านมา1658 จุด / -0.8%) เป็นสัปดาห์ที่สำคัญมาก เพราะกองทัพรัสเซียจะเข้ายึด Kiev ตลาดอาจมีความตกใจบ้างแต่ถ้าชาติ อื่นไม่ได้เข้าช่วยเหลือด้วยการใช้กำลังทางทหาร (Biden บอกแล้วว่าจะไม่ช่วยด้วยวิธีนี้) ตลาดจะ ค่อยๆ ดีขึ้น และไปสนใจกับเรื่อง Sanction อย่างเดียว

ทั้งนี้ ถ้าสถานการณ์ยูเครนผ่านจุด peak ไปแล้วจริงๆ คือแย่ที่สุดและพร้อมกลับมาดี นักลงทุนควรเตรียม ปรับพอร์ตอีกครั้ง โดยลดการถือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากสงคราม (น้ำมัน-ถ่านหิน) และหันกลับมาหาหุ้น ที่ราคาลงมาลึก อาทิ  KCE, SAT, HANA, IVL, OR, SCB, TTB, SCGP, GPSC, BGRIM, CPF, CBG... จังหวะเข้าซื้อจะเป็นช่วงที่เกิด panic sell ซึ่งมักจะเกิดในวันจันทร์

ตลาดหุ้นไทยตัวปัจจัยช่วยหนุนลดลง และหุ้นทยอยขึ้น “XD”

การส่งงบและ “XD” ที่ผ่านไปแล้ว นักลงทุนควรให้เวลากับการนำเสนอข้อมูลของบริษัทต่างๆ ว่า outlook ยังดีอยู่หรือไม่ 

ปีนี้ หุ้นกลุ่มที่ผลการดำเนินงานยังดี กลุ่มหลักๆ จะเป็นธนาคาร (KBANK), ค้า ปลีก (CRC)และกลุ่มที่อิงการท่องเที่ยว (AOT, CENTEL, MINT)

copy trade หุ้นฝรั่ง วันศุกร์ หุ้นลำดับแรกที่ฝรั่ง net buy มากที่สุดคือ PTT, BDMS, HANA, INTUCH, ADVANC, SCC

ส่วนการประชุม FOMC ในสัปดาห์นี้คาดว่าไม่น่ามีอะไรเซอร์ไพรส์ การประกาศขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเป็นไปตามคาด 

ฝ่ายวิจัยยังคงหุ้นในพอร์ตไว้เหมือนเดิม พอร์ตหุ้นประกอบไปด้วย IMH*(10%), SCGP(10%), KCE(10%), KBANK(10%), JMART*(10%), TIDLOR(10%), ADVANC(10%), BAM(10%)

ติดต่อโฆษณา!