16 มีนาคม 2565
16,597

รู้จัก “LiVE Exchange หรือ LiVEx” กระดานเทรดหุ้น SME และ Startup ทางเลือกใหม่การลงทุน

รู้จัก “LiVE Exchange หรือ LiVEx” กระดานเทรดหุ้น SME และ Startup ทางเลือกใหม่การลงทุน
Highlight

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดตัว LiVE Exchange (LiVEx) กระดานเทรดแห่งใหม่ สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) รวมทั้ง Startup เพื่อเป็นแหล่งระดมทุน และเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนที่สนใจการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ โดยเกณฑ์ของหลักทรัพย์ที่จะเข้าจดทะเบียนใน LiVEx มีผลตั้งแต่ 31 มี.ค. 65


ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดีเดย์เกณฑ์ของหลักทรัพย์ที่จะเข้าจดทะเบียนใน “ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์” หรือ LiVEx มีผล 31 มี.ค. 65 สร้างโอกาส SMEs และ Startups เติบโต รวมทั่งการกำหนดคุณสมบัตินักลงทุนที่สามารถเข้าลงทุนในกระดาน LiVEx 

พร้อมกันนี้ตลาดหลักทรัพย์ได้แต่งตั้งนายประพันธ์ เจริญประวัติ” เป็นผู้จัดการตลาด LiVEx เพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่ง จากปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ มีผล 15 มีนาคม 2565

ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เกิดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสและสนับสนุนการเติบโตให้ผู้ประกอบการ SMEs และ Startups เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุน หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ 31 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

20220316-a-08.jpg
 
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนกลยุทธ์สำคัญในการเชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนสำหรับ SMEs และ Startups 

ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องวิสัยทัศน์ตลาดหลักทรัพย์ฯ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” โดยที่ผ่านมา ได้เปิดให้บริการ LiVE Platform เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ความรู้ เพิ่มศักยภาพและสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ผ่านบริการต่าง ๆ อาทิ ห้องเรียนผู้ประกอบการ, โครงการ Incubation และ Acceleration Program และได้ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. พัฒนาหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับ SMEs / Startups เพื่อให้สามารถระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้
 
“ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกเกณฑ์การจดทะเบียนและการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ซึ่งมีความแตกต่างจาก SET และ mai ทั้งในส่วนของคุณสมบัติของผู้ออกหลักทรัพย์ และหน้าที่ภายหลังการเข้าจดทะเบียน รูปแบบและวิธีการลงทุนสำหรับกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความรู้ ประสบการณ์ และฐานะการเงินในระดับที่สามารถรับความเสี่ยงได้ ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด รวมถึงบทบาทการกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้แนวคิด Light-touch Supervision” นายแมนพงศ์ กล่าว
 
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มอบหมายให้นายประพันธ์ เจริญประวัติ เป็นผู้จัดการ LiVEx เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่นายประพันธ์ เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ซึ่งนายประพันธ์มีส่วนขับเคลื่อนและพัฒนา LiVEx ตั้งแต่เริ่มแรก โดยมีผลตั้งแต่ 15 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป
 
นายประพันธ์  ผู้จัดการ LiVEx กล่าวว่า LiVEx ออกแบบขึ้นเพื่อธุรกิจ SMEs และ Startups ที่ต้องการเติบโต แต่ยังขาดโอกาสต่อยอดธุรกิจ ได้เข้ามาสร้างการเติบโตและก้าวไปสู่เส้นทางตลาดทุน ภายใต้เงื่อนไขที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และเมื่อธุรกิจสามารถสร้างการเติบโตยกระดับไปจนถึงการเข้าจดทะเบียนใน SET และ mai โดยตลาดหลักทรัพย์พร้อมที่จะสนับสนุนผลักดันไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น 

นอกจากนี้ LiVEx เป็นอีกทางเลือกในการเพิ่มโอกาสลงทุนสำหรับผู้ลงทุนในตลาดทุนไทยอีกด้วย โดยสรุปสาระสำคัญของเกณฑ์การจดทะเบียนและการซื้อขายหลักทรัพย์ใน LiVEx มีดังนี้

20220316-a-02.jpg

เกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเข้าจดทะเบียนและการเป็นบริษัทจดทะเบียน

  • เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นในวงกว้างจาก ก.ล.ต. และเป็น SMEs ขนาดกลางขึ้นไป ตามนิยาม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
  • Startups ที่มี VC (Venture Capital) หรือ PE (Private Equity) 
  • ผู้บริหารบริษัทต้องผ่านหลักสูตรอบรมการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดทุนด้วย 
  • ภายหลังเข้าจดทะเบียนแล้ว บริษัทมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลตามรอบระยะเวลา ปีละ 2 ครั้ง  และตามเหตุการณ์

20220316-a-03.jpg

เกณฑ์ที่เกี่ยวกับการซื้อขาย

  • กำหนดให้ซื้อขายผ่านสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ 
  • อนุญาตซื้อขายเฉพาะผู้ลงทุนที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด 
  • ต้องเป็นบัญชีในรูปแบบ Prepaid โดยต้องมีหุ้น หรือเงินเพียงพอสำหรับการซื้อขาย •โดยเปิดให้ซื้อขายแบบ Auction ด้วยวิธีจับคู่อัตโนมัติ (Automatic Order Matching : AOM) วันละ 1 รอบ ระหว่าง 9.30–11.00 น. 
  • ชำระราคาและส่งมอบแบบ Gross Settlement ภายในวันเดียวกันกับวันที่ซื้อขาย (วันที่ T) 
  • ไม่มีการกำหนด Ceiling & Floor และ Circuit Breaker

“เกณฑ์ดังกล่าวได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว โดยจะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565 สำหรับ SMEs และ Startups ที่สนใจสามารถยื่นแบบไฟลิ่ง ได้ที่     www.live-platforms.com 

โดยคาดว่าจะมีบริษัทยื่นไฟลิ่งในไตรมาส 2 ปีนี้ และจะเริ่มซื้อขายใน LiVEx ประมาณไตรมาส 3 เป็นต้นไป 

และสำหรับ SMEs และ Startups ที่เข้าจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2565 - 2567 ยังจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการเข้าจดทะเบียนอีกด้วย

นอกจากนี้ LiVEx จะเดินสายให้ข้อมูลผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก 31 มีนาคม 2565 จัดสัมมนาออนไลน์ “เจาะเกณฑ์เข้าจดทะเบียน และการลงทุนตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx)” สำหรับผู้ประกอบการและผู้สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.live-platforms.com” นายประพันธ์กล่าว

20220316-a-04.jpg

SME ในไทยมีราว 2 ล้านราย 

ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก (SME) หรือ Startup ในประเทศไทยในปัจจุบัน ยังเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้น้อย ส่วนใหญ่พึ่งพาเงินลงทุนจากการกู้เงินจากธนาคารเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน  หรือกู้เงินนอกระบบ จากญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูงที่รู้จัก ทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างช้าๆ หรือมีอุปสรรคเมื่อธนาคารไม่ปล่อยกู้ 

ปัจจุบัน SME หรือ Startup มีทางเลือกในการระดมทุนเพิ่มขึ้น ด้วยการใช้เครื่องมือการระดมทุนในรูปแบบใหม่ๆ เช่นผ่านการลงทุนของ กองทุนส่วนบุคคล หรือ Private equity หรือผ่านการระดมทุนที่เรียกว่า Crowdfunding ซึ่งหมายถึงการระดมทุนจากบุคคลทั่วไปผ่านแพลตฟอร์มการระดมทุนที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.

สำหรับการระดมทุนในกระดาน LiVEx เป็นการระดมทุนในระดับ Series A ซึ่งเป็นการต่อยอดการระดมทุนในรอบ Seed Fund 

20220316-a-05.jpg

การลงทุนระดับ Series A  คือการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อรับกับรูปแบบของธุรกิจที่เหมาะสม (กับตลาดจริงๆ) สำหรับระดับการสนับสนุนรอบที่เรียกว่า Series A นั้น จะเห็นได้ในกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการด้านเงินทุนที่สูงขึ้น เพื่อจุดประสงค์ต่างๆ อย่างเช่น Startup ต้องการที่จะออกผลิตภัณฑ์หรือขยายการกระจายตัวเข้าสู่ฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น หรือจะขยายตัวไปสู่ตลาดใหม่ รวมไปถึงการปรับรูปแบบทางธุรกิจเพื่อให้เหมาะสมกับตลาดที่จะใหญ่ หรือกว้างขึ้นเป็นต้น

ข้อมูลจากบรรษัทอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ระบุว่า จำนวนผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยเป็น SMEs ประมาณ 99.5% ซึ่งมีประมาณ 2,000,000 ราย กลุ่มขับเคลื่อน GDP คือธุรกิจรายใหญ่มีประมาณ 2,000 ราย แต่ SMEs มีความเกี่ยวข้องกับคนมากกว่าซึ่งรองรับการจ้างงานประมาณ 70% การผลิตของ SMEs ส่วนใหญ่ขายในประเทศ 70% ส่งออก 30% ตลาดของ SMEs ส่วนใหญ่อยู่ภายในประเทศ

ปัจจุบันกิจการประเภท SMEs ของไทย คิดเป็น 95 %  ของธุรกิจทั้งหมด และมีการจ้างงานกว่า 50 % ของธุรกิจทั้งหมด SMEs จึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาธุรกิจขนาดใหญ่ต่อไป

กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดเกณฑ์ของธุรกิจ SME ดังนี้

  • ขนาดเล็ก ไม่เกิน 50 คน ไม่เกิน 20 ล้าน
  • ขนาดกลาง ระหว่าง 50-200 คน ระหว่าง 20 ถึง 200 ล้าน

อย่างไรก็ตามธุรกิจ SMEs บ้านเราก็ยังมีปัญหาหลายประการ เช่น ด้านการตลาด ขาดแหล่งเงินทุน ด้านแรงงาน เทคโนโลยีการผลิต

20220316-a-06.jpg

สตาร์ทอัพ มีกว่า 1,700 ราย 

จากสถิติของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) พบว่ามีสตาร์ทอัพไทยจำนวนกว่า 1,700 ราย ซึ่งแนวโน้มตลาด Digital Economy ก็กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ 

บริษัทสามารถระดมทุนจากประชาชนเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจได้โดยง่ายและรวดเร็ว ก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้มีโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมต่อการดำเนินกิจการ มีโอกาสในการเลือกระดมทุนผ่านการออกหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นภายหลังการเข้าจดทะเบียน เช่น หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น

20220316-a-01.jpg

ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) นั้น ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะกับบริษัทที่เข้าจดทะเบียนเท่านั้น ผู้ถือหุ้นของบริษัทก็จะได้รับประโยชน์ด้วย

ประโยชน์ของการเป็นบริษัทจดทะเบียน : ต่อบริษัท

ประการที่ 1 แหล่งเงินทุนระยะยาวที่ปราศจากภาระดอกเบี้ย

การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ช่วยให้บริษัทสามารถระดมเงินทุนจากประชาชนทั่วไปได้โดยตรง เพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจของบริษัทได้โดยไม่มีภาระที่ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามงวดเวลาที่กำหนดเหมือนการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการบริหารเงินมากขึ้น

ประการที่ 2 เพิ่มช่องทางระดมทุนเพื่อช่วยในการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สามารถระดมทุนเพิ่มเติมเมื่อมีความต้องการใช้เงินเพิ่มขึ้นได้ โดยการออกตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ ได้หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน และตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน เช่น หุ้นสามัญเพิ่มทุน หุ้นกู้ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ เป็นต้น ช่วยให้บริษัทสามารถจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้

ประการที่ 3 เสริมสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท

การเป็นบริษัทจดทะเบียนจะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีในการบริหารงานและมาตรฐานการดำเนินงานของบริษัทมากขึ้น ผ่านกลไกการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนสนใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทมากขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างความเชื่อถือให้แก่ลูกค้า คู่ค้า ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

ประการที่ 4 สร้างความภักดี และผลตอบแทนที่ดีให้แก่พนักงาน

พนักงานของบริษัทนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ การให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ จะช่วยสร้างความภักดีและความภูมิใจให้แก่พนักงาน มีความทุ่มเทความสามารถอย่างเต็มที่ในการสร้างความก้าวหน้าให้แก่บริษัท การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นช่องทางหนึ่งที่บริษัทสามารถเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของบริษัทได้ ผ่านโครงการเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่กรรมการหรือพนักงานของบริษัท (Employee Stock Option Program หรือ ESOP)

ประการที่ 5 สร้างความรับผิดชอบและการบริหารงานแบบมืออาชีพ

การที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูล ข่าวสาร และความเคลื่อนไหวต่างๆ ผ่านช่องทางและระบบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของตลาดหลักทรัพย์ ช่วยทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักของผู้ลงทุนมากขึ้น ช่วยสร้างความสนใจของผู้ลงทุนในบริษัทมากขึ้นและกระตุ้นให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมีความรับผิดชอบในการบริหารงานมากขึ้นด้วย

ประการที่ 6 การดำรงอยู่ของธุรกิจในระยะยาว

การเป็นบริษัทจดทะเบียนจะช่วยให้บริษัทที่มีการบริหารงานแบบธุรกิจครอบครัวก้าวเข้าสู่การบริหารงานแบบมืออาชีพมากขึ้น มีผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพเข้ามาร่วมบริหารกิจการ และเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวของเจ้าของกิจการที่มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตหรือมีความถนัดที่แตกต่างกันไปสามารถเลือกประกอบอาชีพที่ต้องการโดยยังคงมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทและได้รับผลตอบแทนจากการถือหุ้นอยู่เช่นเดิม

20220316-a-07.jpg
 
ประโยชน์ของการเป็นบริษัทจดทะเบียน : ต่อผู้ถือหุ้น / ผู้ลงทุน

ประการที่ 1 เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ถือหุ้น

การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ช่วยให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทมีศูนย์กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ถือไว้เป็นเงินสดได้ง่ายและสะดวก ซึ่งจะช่วยให้เกิดสภาพคล่องให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้

ประการที่ 2 ลดภาระค้ำประกันของผู้ถือหุ้นและกรรมการ

การเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนจะช่วยให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทจะต้องปรับปรุงให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์กำหนด นอกจากนี้การเป็นบริษัทจดทะเบียนและเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้หลักทรัพย์ของบริษัทมีราคาอ้างอิง และมีสภาพคล่อง เป็นหลักทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถนำไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ หรือเพื่อใช้ลดการค้ำประกันการกู้ยืมเงินที่ทำไว้ก่อนการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้

ประการที่ 3 ได้รับยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหุ้น

บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำกำไรที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อ้างอิง : ตลาดหลักทรัพย์ฯ, Pattanakit Business Accounting, บรรษัทอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, ธนาคารไทยพานิชย์, ก.ล.ต.

ติดต่อโฆษณา!