สงครามเศรษฐกิจจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน
Highlight
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโต 3-4% บนพื้นฐานการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ลุกลาม รุนแรง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้างมากกว่านี้ โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวยุโรป รัสเซีย และที่อื่นๆ เดินทางมาไทยและอยู่ยาวมากขึ้น
สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นสงครามยืดเยื้อกว่าที่ทุกคนคิด และผลกระทบในวงกว้างมากกว่าที่ทุกคนคิดไว้พอสมควร ธนาคารกรุงเทพประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3-4%
วิกฤตครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะมีคนเดินทางมาอยู่นานขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายการเดินทาง และได้รับอานิสงส์จากผลพวงสงครามครั้งนี้
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 เป็นสงครามที่ยืดเยื้อกว่าที่คิดไว้มาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นกว้างไกลกว่าที่ทุกคนคิดไว้พอสมควร
เศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา มีความเปราะบางอยู่แล้ว เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้คนต้องลงทุนในสินทรัพย์เพิ่มขึ้น และราคาสินทรัพย์เสี่ยงเหล่านั้นก็ปรับตัวขึ้นไปเยอะในช่วงที่ผ่านมา เช่น หุ้น ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐกำลังจะขึ้นดอกเบี้ย การเตรียมดึงสภาพคล่องกลับ ทำให้ทุกคนอยู่ในฐานะกระสับกระส่ายไม่แน่ใจว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น
ทั้งหมดนี้ถูกซำ้เติมโดยเศรษฐกิจและผลพวงจากสงครามจากรัสเซีย-ยูเครน ระหว่างที่ทางที่เกิดสงครามที่ยูเครนนั้น ทางฝั่ง สหรัฐ นาโต และพันธมิตรประเทศต่างๆพากันประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งก็ได้เห็นว่าเกิดผลกระทบสูงมากต่อรัสเซีย ทำให้ฝั่งสหรัฐและพันธมิตรยิ่งฮึกเหิม เพราะมาตรการคว่ำบาตรแต่ละอย่างที่ออกมา ส่งผลมากกว่าที่คิดไว้
เศรษฐกิจรัสเซียได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการคว่ำบาตร
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย อ่อนค่าจาก 70 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 177 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายในเวลาไม่กี่วัน เพิ่มขึ้นสองเท่ากว่า มันน่ากังวลใจมาก ลองคิดดูว่าถ้าหากเป็นประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์นี้คงลำบากมาก
สหรัฐและพันธมิตรคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินดูว่าการตอบโต้รัสเซียโดยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจนั้นได้ผลมากน้อยเพียงใด และคงเห็นว่าได้ผลดี
โดยอีกหนึ่งตัวอย่าง เช่น รัสเซียต้องปิดตลาดหลักทรัพย์หนีไปตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 เวลาล่วงเลยเกือบ 1 เดือนแล้ว ก็ยังไม่สามารถเปิดตลาดได้ ซึ่งอาจกังวลใจว่าราคาหุ้นจะร่วงต่อไปอีก โดยก่อนที่จะประกาศปิดตลาดนั้นตลาดหุ้นรัสเซียปรับตัวลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง จาก 4,000 กว่าๆ เหลือประมาณ 2,000 จุด
แต่ถ้าไม่ปิดตลาดเขากลัวว่าดัชนีตลาดจะลดลงเหลือเพียงหลักร้อย ซึ่งถ้าหุ้นร่วงลงมากขนาดนั้น ก็หมายความว่า ความมั่งคั่งของคนรัสเซียจำนวนมากจะหายไปทันที เช่นจากเคยมีทรัพย์สิน 100 ล้าน ก็เหลือเพียง 10 ล้าน เป็นต้น
เมื่อสหรัฐ นาโต และพันธมิตร เห็นว่ามาตรการคว่ำบาตรที่ทำอยู่สามารถเขย่าเศรษฐกิจของรัสเซียได้กว้างขวางขนาดนี้ เริ่มฮึกเหิมขึ้นเรื่อยๆ เดิมอาจคิดว่าการคว่ำบาตรจะพยายามให้มีผลกระทบกับทางสหรัฐและพันธมิตรให้น้อยที่สุด โดยยังไม่ครอบคลุมด้านพลังงาน ก๊าซ ก็เลยไม่คว่ำบาตรในเรื่องนี้
จากนั้นสหรัฐเริ่มคิดได้ว่าทำให้มีช่องโหว่ จะต้องจัดการเรื่องน้ำมันให้ได้ จึงประกาศว่าจะต้องคว่ำบาตรเรื่องน้ำมันด้วย ก็เลยเจรจาฝั่งยุโรปให้ร่วมมือด้วย แต่บังเอิญว่าเยอรมันนั้นใช้ก๊าซจากรัสเซียเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ และถ้าเปลี่ยนจากท่อก๊าซที่มาจากรัสเซียไปเป็นแอลเอ็นจี และเปลี่ยนเป็นขนส่งทางเรือนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากปัจจุบันท่าเรือเต็มหมดแล้ว ถ้าหากผลีผลามไปคว่ำบาตรด้านนี้ด้วยก็จะทำให้มีปัญหาขึ้นได้
ราคาน้ำมันเคยขึ้นไปแตะ 130 เหรียญต่อบาร์เรล ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ระดับ 110 เหรียญต่อบาร์เรล สิ่งที่เกิดขึ้นก็มาจากการฮึกเหิมของกลุ่มพันธมิตรที่รู้สึกว่า ยาหรือมาตรการคว่ำบาตรนั้นได้ผล
จากเริ่มต้นที่ได้ตัดรัสเซียออกระบบ SWIFT การยึดเงินสำรอง การยึดทรัพย์ เช่นเจ้าของสโมสรฟุตบอลเชลซี เขาก็ต้องการจะขายออกไป แต่ขอเวลาอีก 5-6 วันแต่ก็จะยึดให้ได้ ผลกระทบที่คิดว่าจะอยู่ในวงแคบๆ แค่ 2 ประเทศ ซึ่งไม่น่าจะกระทบเศรษฐกิจโลกมาก เพราะรัสเซียมีขนาดเศรษฐกิจในตลาดโลกเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ยูเครนนั้นเล็กมาก แต่ขณะนี้เริ่มขยายวงกว้างจากมาตรการคว่ำบาตร
“เพราะฉะนั้น 2 ประเทศทะเลาะกันก็ไม่น่าจะกระทบเศรษฐกิจโลกหรือน่าจะอยู่ในวงจำกัด เราแทบไม่ต้องกังวลใจ แต่ปัจจุบันผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ก็กังวลใจขึ้นทุกวันว่าจะขยายผลไปถึงไหน” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
ไทยอาจได้อานิสงส์จากการเดินทางท่องเที่ยวที่อยู่นานขึ้น
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยที่ได้คาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจสูงกว่านั้น ซึ่งเป็นประมาณการก่อนเกิดสงคราม บนสมมุติฐานว่า โควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอนนั้นขึ้นเร็วและลงเร็ว หลังจากที่ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 หรือบางคนก็ได้รับเข็มที่ 4 แล้ว ซึ่งการระบาดที่เกิดขึ้นก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ ซึ่งคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะเข้ามาหนุนและสามารถฟื้นตัวได้ แต่พอมาเจอสงคราม และราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไป ก็กลับมาที่เดิม ก็คิดว่าปีนี้ถ้าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 3-4 เปอร์เซ็นต์ก็ดีมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม วิกฤตสงครามในครั้งนี้ อาจส่งผลให้คนที่อยู่ใน Eastern Europe กังวลใจมากขึ้น โดยยุโรปตะวันออก และคนรัสเซียเองบางกลุ่ม ต้องการเดินทางออกจากพื้นที่ขัดแย้ง เขาอาจจะต้องการหาที่อยู่พักชั่วคราว ซึ่งไทยก็อยู่ในเป้าหมายนั้น และนี่คือโอกาสที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤต
เช่นเดียวกับในช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ธุรกิจดิจิทัล ยา ถุงมือยาง ไปได้ดีมากๆ และวิกฤตสงครามในรอบนี้ ก็อาจจะส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวดีขึ้น คนอาจมาอยู่นานขึ้น ไทยเป็นเป้าหมายหนึ่งที่เขาจะเลือกเดินทางมา เราก็ได้อานิสงค์ในเรื่องนี้ ดร.กอบศักดิ์ กล่าว