ทองคำ น้ำมัน ดอกเบี้ย พาเหรดกันขึ้น หลังสงครามเดือด ยืดเยื้อ
Highlight
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำ น้ำมัน ปรับขึ้นสูงอีกครั้งตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากสถานการณ์สงครามเริ่มรุนแรงขึ้น รวมทั้งยุโรปเตรียมคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมโดยหยุดนำเข้าน้ำมันและพลังงาน ด้านราคาทองคำพุ่งขึ้นอีกครั้งหลังเฟดรายงานภาวะเงินเฟ้อสูง และส่งสัญญาณอาจปรับดอกเบี้ยสูงกว่า 0.25% กลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นปันผลสูง ทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดี และธุรกิจ New Economy
YLG ชี้โอกาสทองโลกทะลุไฮเดิมสู่แนวต้านใหม่ 2,200 เหรียญฯ หลังสงครามยังเดือด-เงินเฟ้อพุ่ง
นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) คาดว่า ราคาทองคำในปีนี้มีโอกาสปรับขึ้นทะลุจุดสูงสุดเดิมที่ 2,075 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ โดยมองแนวต้านถัดไปที่ 2,200 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ส่วนแนวรับที่ 1,800 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ หากยังไม่หลุดแนวรับดังกล่าวถือว่าภาพยังดูดี
ขณะที่ราคาทองคำในประเทศ ทั้งจากราคาทองในตลาดปรับสูงขึ้น และเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากแตะ 32,000 บาท/บาททองคำแล้ว โดยหากราคาทองคำตลาดโลกขึ้นไปถึงจุดสูงสุดเดิม 2,075 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ จะทำให้ราคาทองในประเทศสูงขึ้นไปถึง 34,000 บาท/บาททองคำ (ประเมินจากค่าเงินบาทที่ 33.40 บาท/เหรียญสหรัฐ)
ปัจจัยสนับสนุนราคาทองคำมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กลับมาตึงเครียดขึ้น เนื่องจากรัสเซียถือเป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และหลายประเทศเริ่มเข้ามาเก็บทองคำมากขึ้น อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เก็บทองคำเพิ่มขึ้น เพราะเริ่มมีความกังวลกับเสถียรภาพของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบค่อนข้างมาก ดังนั้น ทองคำจึงเป็นทางเลือกให้กับธนาคารกลาง และนักลงทุน
แม้ว่าที่ผ่านมาคริปโตเคอร์เรนซีเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่คึกคักมาก โดยเฉพาะสถานการณ์ในยูเครนทวีความร้อนแรงในช่วง 1 เดือนที่ผานมา แต่คนก็ยังเชื่อมั่นในทองคำมากกว่า เพราะทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่ซื้อง่ายขายคล่อง จึงเลือกเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ต้องมีไว้ในพอร์ต นอกจากนี้ ยังมาจากปัจจัยที่ธนาคารกลางหลายประเทศมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยยิ่งสนับสนุนราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น
นางสาวฐิภา แนะนำถือทองคำในพอร์ตราว 5-10% เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Save Haven) และเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุน จะเห็นได้ว่าในช่วง 3-4 ปีตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดโควิด-19 คนหันมากลงทุนทองคำมากขึ้น
และรอบนี้มาจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนก็ดันให้ราคาทองคำพุ่งไปที่ 2,069 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ซึ่งทองคำในประเทศปรับขึ้นไปชน 32,000 บาท/บาททองคำ ปรับตัวขึ้นไปอย่างรวดเร็วจากต้นปี 65 ที่ราคาทองคำอยู่ที่ประมาณ 26,500 บาท/บาททองคำ
ที่เห็นได้ชัดจากกองทุน SPDR ที่ขายทองคำในช่วงปลายปีหลังสถานการณ์การระบาดโควิด-19 คลี่คลาย ตลาดหุ้นก็เริ่มกลับมาคึกคักขึ้น แต่เมื่อมีสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนในเดือน ม.ค.-มี.ค.65 กองทุน SPDR ก็กลับเข้ามาซื้อทองคำเพิ่มขึ้น ดังนั้น จะเห็นว่าเมื่อคนเกิดความกังวล ทองคำก็จะกลับมามีบทบาท หรือหากมีภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นและยิ่งมีความกังวล ก็จะมีแรงซื้อทองคำมากขึ้น โดยในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าหากเงินเฟ้อสูงกว่าระดับ 3% ราคาทองคำจะเพิ่มขึ้น 14% โดยเฉลี่ย
นอกจากนี้ จากที่ราคาน้ำมันรอบนี้ปรับตัวขึ้นเหนือ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็ทำให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นด้วย เพราะคนกังวลเรื่องเงินเฟ้อสูงขึ้นมากก็มีการลงทุนทองคำเพื่อป้องกันเงินเฟ้อด้วย
ราคาทองคำล่าสุด (23 มี.ค.) เวลา 10.25 น. อ้างอิงจาก goldprice.com เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 1,915-1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์
น้ำมันดิบ WTI ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 7% ในวันจันทร์ รับยุโรปคว่ำบาตร
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 7% ในวันจันทร์ (21 มี.ค.) หลังมีรายงานข่าวว่า ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) กำลังพิจารณาคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียตามรอยสหรัฐ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ (23 มี.ค.)
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 7.42 ดอลลาร์ หรือ 7.09% ปิดที่ 112.12 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 7.69 ดอลลาร์ หรือ 7.12% ปิดที่ 115.62 ดอลลาร์/บาร์เรล
รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป (EU) กำลังพิจารณาว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียหรือไม่ โดยในสัปดาห์นี้บรรดาผู้นำใน EU จะร่วมหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เกี่ยวกับนโยบายที่จะใช้ตอบโต้รัสเซียซึ่งใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครนเมื่อเดือนที่แล้ว
เจ้าหน้าที่ทูตอาวุโสของ EU เปิดเผยว่า EU กำลังอยู่ในระหว่างกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรอบที่ 5 ต่อรัสเซีย โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของ EU ได้ร่วมหารือกันเมื่อวันจันทร์
ก่อนที่จะเปิดฉากการประชุมร่วมกับ ปธน.ไบเดนในวันพฤหัสบดีที่ 24 มี.ค. รวมถึงชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) 30 ประเทศ, ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น
บริษัทไทยออยล์ ได้วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันล่าสุดในวันนี้ (23 มี.ค.) ว่าราคาน้ามันดิบปรับตัวลดลงเล็กน้อย หลังมีรายงานว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) มีความคิดเห็นต่างกันเรื่อง การคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียเพื่อลงโทษกรณีรุกรานยูเครน โดยเฉพาะเยอรมนีที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม แม้รัสเซียจะถูกคว่าบาตรไปแล้วถึง 4 รอบ แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะถอนกำลังออกจากยูเครน ทำให้อียูเริ่มพิจารณาว่าอาจต้องใช้ทางเลือกที่รุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ ราคาน้ามันยังถูกกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณถึง ความเป็นไปได้ที่จะยกระดับนโยบายการเงินเชิงรุกมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 18 มี.ค. 65 จะทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.1 ล้านบาร์เรล เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบยังคงตึงตัวในหลายพื้นที่
ราคาน้ำมันดิบล่าสุด อ้างอิงจาก Investing.com ณ เวลา 10.25 น.(23 มี.ค.) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 108-112 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
พาวเวล ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้น ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดเงินเฟ้อ
นายพาวเวลกล่าวในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐเมื่อคืนวานนี้ตามเวลาไทยว่า “ตลาดแรงงานของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมาก และอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับสูงเกินไป ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง เราก็จะทำ และหากเราพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินนโยบายแบบคุมเข้มมากกว่าที่เคยดำเนินการมา เราก็จะทำเช่นกัน”
นายพาวเวลระบุว่า สถานการณ์ด้านเงินเฟ้อย่ำแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ก่อนที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะปะทุขึ้นก็ตาม พร้อมกับเตือนว่า ผลกระทบของสงครามและการที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
นอกจากนี้ นายพาวเวลกล่าวว่า ผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นทั่วโลก รวมทั้งสงครามและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในต่างประเทศและจะยิ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานตกอยู่ในภาวะชะงักงันมากขึ้นอีก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะลุกลามบานปลายมาถึงเศรษฐกิจสหรัฐด้วย
โกลด์แมนแซคส์คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5% เดือนพ.ค.-มิ.ย.
โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ค.และเดือนมิ.ย. หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายพาวเวลกล่าวในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐเมื่อคืนวานนี้ตามเวลาไทยว่า
“ตลาดแรงงานของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมาก และอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับสูงเกินไป ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ตัวเลขเงินเฟ้อจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง เราก็จะทำ”
ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์ระบุว่า “การที่เฟดเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในการส่งสัญญาณจากเดือนม.ค. มาเป็นการส่งสัญญาณที่แข็งกร้าวมากขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นการบ่งชี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในไม่ช้านี้”
ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50% พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 6 ครั้ง ๆ ละ 0.25% ในช่วงที่เหลือของปีนี้
นายลอยด์ แบลงค์ไฟน์ ประธานอาวุโสของธนาคารโกลด์แมน แซคส์แสดงความเห็นว่า การที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวน 7 ครั้ง ๆ ละ 0.25% ในปีนี้นั้น ไม่ถือว่าเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรง เมื่อพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งยังคงอยู่ในระดับติดลบ
บลจ.วรรณ แนะทยอยสะสมหุ้นเติบโตสูงช่วงผันผวน-กลุ่ม New Economy เสริมพอร์ต
นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดหุ้นโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นในระยะสั้น นำโดยหุ้นเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยี หลังจากที่ถูกเทขายอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมาเนื่องจากมองว่า ปัจจัยเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีการประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ สู่ระดับ 0.25%-0.50%
โดยแนวโน้มของดอกเบี้ย (Dot plot) ชี้ว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 6 ครั้งในปีนี้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับความกังวลระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มผ่อนคลาย หลังประเทศยูเครนประกาศจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องจากทางประเทศรัสเซีย และทั้งสองฝ่ายต่างเดินหน้าเจรจากันอย่างต่อเนื่อง
แม้โดยรวมความขัดแย้งของทั้งสองชาติจะยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่บลจ.วรรณคาดว่า ตลาดรับรู้ข่าวร้ายจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์มาแล้วบางส่วน แต่หากมองในเชิงของปัจจัยพื้นฐานหุ้นในกลุ่มเติบโตและเทคโนโลยียังมีศักยภาพในการเติบโต และยังได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ
อย่างไรก็ดี หากมองไปในระยะข้างหน้า บลจ.วรรณคาดว่า ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวผันผวนในปีนี้ ดังนั้น การกระจายการลงทุนและใช้โอกาสจากความผันผวนเป็นจังหวะเพื่อทยอยเข้าลงทุนในระยะยาว โดยเน้นการลงทุนแบบ Selective มากขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักในการลงทุนของปีนี้
สำหรับนักลงทุน “ระยะสั้นที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก” ยังคงมองเป็นจังหวะที่จะกลับเข้าลงทุนบางส่วนเพื่อปิดความเสี่ยงหากตลาดกลับมาเป็นขาขึ้น (Upside risk) ในระยะสั้น ในกองทุนเปิดวรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ หน่วยลงทุนชนิดไม่จ่ายเงินปันผล สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป (ONE-UGG-RA) หรือ กองทุนเปิด วรรณ ดิสคัฟเวอรี่ หน่วยลงทุนชนิดไม่จ่ายเงินปันผล สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป (ONE-DISC-RA)
ส่วนนักลงทุนระยะยาว มองเป็นโอกาสในการเริ่มทยอยสะสมกองทุนเพิ่มเติม จากมูลค่าหุ้นในปัจจุบัน “มีความสมเหตุสมผล” สำหรับโอกาสการเติบโตในระยะยาว ขณะที่นักลงทุนที่มีการลงทุนแบบ DCA อยู่แล้วยังคงแนะนำให้ทำตามวินัยการลงทุนเดิม
นอกจากหุ้นในกลุ่มเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยีที่สามารถกลับเข้าทยอยลงทุนบางส่วนได้แล้วนั้น ภาพระยะยาว หุ้นกลุ่ม New Economy ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรได้อย่างต่อเนื่องและโดดเด่นจากศักยภาพในการแข่งขันและธุรกิจที่ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ อาทิ Robots, Artificial Intelligence, Drones, Blockchain, Virtual reality, 3D Printing รวมถึง Biotech และ Health-tech เป็นต้น
สำหรับตลาดหลักทรัพย์ในวันนี้ (23 มี.ค.) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเมื่อเวลา 11.03-น. เคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,682.28 จุด เพิ่มขึ้น 5.01 จุด หรือ +0.29% โดยหุ้นกลุ่มธนาคารและหุ้นขนาดใหญ่ฟื้นตัว หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันสถานะการเงินแข็งแกร่ง หลังจากเมื่อวานนี้ปรับลดลงทั้งกลุ่มจากกรณี S&P Global ปรับลดอันดับเครดิต เรทติ้ง ลงใน 4 ธนาคาร
นักวิเคราะห์ กล่าวว่าปัจจัยกดดันตลาด ยังคงมาจากต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น ยกเว้นหุ้นกลุ่มน้ำมันที่ได้ประโยชน์ และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากเดือนมีนาคมเป็นต้นไป