บอนด์ยิลด์ขึ้น ลงทุนหุ้นอะไรดี
Highlight
Bond Yield ขาขึ้นแม้จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโดยรวม แต่เป็นการสะท้อนถึงภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และยังมีหุ้นที่ได้ประโยชน์ คือหุ้นที่มีรายรับจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึงกลุ่มธนาคารและประกันชีวิตที่มีพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้เป็นส่วนใหญ่นั่นเอง
จากแนวโน้มที่เงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง มีโอกาสปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในปีนี้ และการที่เครดิต เรทติ้งไทยมีโอกาสถูก downgrade ก็ส่งผลให้ bond yield สูงขึ้นอีกในอนาคต
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.54% ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในแง่ของการประเมินมูลค่าของตลาดหุ้น, ราคาเหมาะสมของหุ้นรายตัว รวมถึงเป็นปัจจัยกดดันทางด้านต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ
อย่างไรก็ดี Bond Yield ขาขึ้นเป็นการสะท้อนถึงภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และยังมีหุ้นที่ได้รับประโยชน์จาก Bond Yield ขาขึ้น โดยฝ่ายวิจัยได้วิเคราะห์เชิงปริมาณย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2553 และเลือกช่วงเวลาที่ Bond Yield เป็นขาขึ้นในการวิเคราะห์ ซึ่งได้คัดสรรหุ้นที่น่าสนใจในการลงทุนสำหรับการปรับขึ้นของ Bond Yield ในรอบนี้ ได้แก่ BLA, IVL, TOP, KKP และ KBANK
ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับขึ้นมาแตะระดับ 2.54%
ราคาพันธบัตรรัฐบาลไทยถูกกดดันจาก
1. แนวโน้ม GDP 2565 ของไทยมีโอกาสถูก Downgrade จากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น (ประเทศไทยเป็นผู้นาเข้าน้ำมันสุทธิ)
2. รัฐบาลไทยมีแนวโน้มที่จะต้องกู้เงินเพิ่มอีก 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ
3. ธนาคารไทยขนาดใหญ่ถูก Downgrade Credit Rating และ
4. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวขึ้นแตะระดับ 2.51%
ในเชิงทฤษฎี Bond Yield ขึ้น ... ตลาดทุนมักจะมีแรงกดดัน แต่ศก.ฟื้นตัว
3 เหตุผลหลักๆที่ Bond Yield ขึ้น ทำให้ตลาดทุนมีแรงกดดันเนื่องจาก
1. การประเมินมูลค่าตลาดหุ้นด้วยวิธี Earning Yield Gap ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากตลาดหุ้น เทียบกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล
2. การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี Discount Cash Flow (DCF) ซึ่งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลจะเป็นตัวแทนของ Risk Free Rate และจะเป็นตัวหารในสมการ
3. ต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯต่างๆ จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันกำไรของบริษัทฯ
อย่างไรก็ดี การที่ Bond Yield ปรับขึ้น เป็นภาพที่สะท้อนถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น และยังมีบางธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จาก Bond Yield ปรับตัวขึ้น มีหุ้นในกลุ่มใดที่ราคาปรับตัวขึ้นบ้าง
สถิติชี้ชัด Bond Yield ขึ้น หุ้นกลุ่มนี้จะปรับตัวขึ้นตาม
ฝ่ายวิจัยได้รวบรวมข้อมูลนับตั้งแต่ปี 2553 และได้เลือกช่วงเวลาที่พันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นชัดเจน ซึ่งมีทั้งหมด 2 ช่วงเวลา ได้แก่ 01/09/2553 – 14/07/2554 และ 04/07/2559 – 29/12/2559 และฝ่ายวิจัยได้ข้อสรุปดังนี้
1. ใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนอยู่ที่ +17.47% และ+13.36% ตามลำดับ
2. Sector ที่มีค่า (เฉลี่ย 2 ช่วงเวลา) กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี > 0.5 ได้แก่ พลังงาน (+ 0.73), ปิโตรเคมี (+ 0.72), เกษตร (+ 0.67), การเงิน (+ 0.64), ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์(+ 0.56), ค้าปลีก (+ 0.52), ประกัน (+ 0.5)
3. หุ้นใน SET 100 ที่มีค่า Correlation (เฉลี่ย 2 ช่วงเวลา) กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี > 0.5 ได้แก่ JMART (+ 0.78), AEONTS (+ 0.76), TOP (+ 0.76), PTT (+ 0.71), ESSO (+ 0.71), GLOBAL (+ 0.70), BCH (+ 0.70), STA (+ 0.69), TVO (+ 0.63), PTTEP (+ 0.59), BLA (+ 0.59) และ IVL (+ 0.56) ซึ่งหากนำปัจจัยพื้นฐานมาประกอบกับค่าสถิติ ฝ่ายวิจัยจึงได้ข้อสรุปว่าหุ้นที่น่าสนใจในการลงทุนในช่วงของการปรับตัวขึ้นของ Bond Yield ในครั้งนี้ ได้แก่ BLA, IVL, TOP , KKP และ KBANK
ถึงแม้ว่าในอดีตหุ้นกลุ่มธนาคารจะไม่ได้มี Correlation ที่เป็นบวกกับ Bond Yield มากนัก แต่หากพิจารณาถึงโครงสร้างธุรกิจจะพบว่าธุรกิจธนาคารมักได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ต่างชาติขายทิ้งพันธบัตรไทย ดันบอนด์ยิลด์พุ่งแรง ผลพวงสงคราม คาดไหลกลับครึ่งปีหลัง
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ช่วงนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ของไทยปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรง ทั้งบอนด์สั้นและบอนด์ยาว จากการเทขายของต่างชาติ โดยบอนด์สั้น รุ่นอายุ 2 ปี ปรับขึ้น 0.25% ต่อปี มาอยู่ที่ 0.95% รุ่นอายุ 5 ปี ปรับขึ้น 0.30% มาอยู่ที่ 1.7% และรุ่นอายุ 10 ปี ปรับขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ 2.46%
นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ตั้งแต่สงครามรัสเซียกับยูเครนเริ่มปะทุ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 จนถึงวันที่ 28 มี.ค. 2565 ต่างชาติขายบอนด์ไทยไปแล้วกว่า 123,000 ล้านบาท เฉพาะเดือน มี.ค. มีเงินไหลออกจากตลาดบอนด์ไทยแล้วราว 100,000 ล้านบาท
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ช่วงนี้มีแรงเทขายบอนด์ระยะยาว แต่ไม่ได้รุนแรง โดยคาดว่าภายหลังจากการประชุมเฟด หรือหลังวันที่ 5 พ.ค. 2565 หากเฟดมีความชัดเจนและตลาดรับรู้ เชื่อว่าจะเห็นนักลงทุนกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทย เนื่องจากส่วนต่างผลตอบแทน บอนด์อายุ 2 และ 10 ปี อยู่ที่ 1.3% เทียบค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 0.9% ถือว่าไม่เลวร้าย แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี จนถึงปลายปี
“ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาซื้อบอนด์ไทยอยู่” นายพูนกล่าว
นายพูนกล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2 จะยังคงเห็นกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกสุทธิอยู่ จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการดำเนินนโยบายของเฟด แต่เชื่อว่ากระแสเงินทุนไหลออกจะไม่รุนแรง และหลังจากนั้นในช่วงไตรมาส 3-4 ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดี และเฟดมีภาพที่ชัดเจนขึ้น สงครามไม่รุนแรง จะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นและบอนด์