01 เมษายน 2565
1,315

หุ้นผันผวน ราคาน้ำมันร่วง รัสเซียยื่นคำขาด 1 เม.ย. ซื้อพลังงานรับชำระเป็นรูเบิลเท่านั้น

หุ้นผันผวน ราคาน้ำมันร่วง รัสเซียยื่นคำขาด 1 เม.ย. ซื้อพลังงานรับชำระเป็นรูเบิลเท่านั้น
Highlight

ตลาดยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน และธนาคารกลางสหรัฐอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงหลังสหรัฐแทรกแซงโดยจะปล่อยน้ำมันดิบออกมา 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากรัสเซียยื่นคำขาดรับชำระค่าพลังงานเป็นรูเบิลเท่านั้น เคทีบีเอสที แนะนำลงทุนหุ้นโรงกลั่น เลือก SPRC TOP PTTEP


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.)ปิดที่ 34,678.35 จุด ลดลง 550.46 จุด หรือ -1.56%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,530.41 จุด ลดลง 72.04 จุด หรือ -1.57% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,220.52 จุด ลดลง 221.76 จุด หรือ -1.54%  เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี

เมื่อพิจารณาตลอดเดือนมี.ค. ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 2.3%, ดัชนี S&P500 ปรับขึ้น 3.6% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 3.4% แต่เมื่อพิจารณาตลอดทั้งไตรมาส 1/2565 ดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีดิ่งลงรุนแรงสุดในรอบ 2 ปี โดยดาวโจนส์ร่วงลง 4.6%, S&P500 ร่วงลง 4.9% และ Nasdaq ดิ่งลง 9.1%

บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งการที่ชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรรัสเซียกรณีใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน ซึ่งส่งผลให้รัสเซียใช้มาตรการตอบโต้ โดยล่าสุด ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ลงนามในกฤษฎีกาซึ่งระบุว่า ต่างชาติที่ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะต้องชำระเงินเป็นสกุลรูเบิลเท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. และสัญญาการซื้อก๊าซจะถูกระงับ หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากความกังวลที่ว่า เฟดอาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2526

นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.ของสหรัฐในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวดาวโจนส์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 460,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งน้อยกว่าในเดือนก.พ.ที่พุ่งขึ้น 678,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนมี.ค.จะลดลงสู่ระดับ 3.7%

ราคาน้ำมันดิบร่วง 7%

วันนี้ (1 เม.ย.65) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 7% ในวันพฤหัสบดี (31 มี.ค.) หลังสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะระบายน้ำมันในคลังสำรองจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 7.54 ดอลลาร์ หรือ 7% ปิดที่ 100.28 ดอลลาร์/บาร์เรล สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 5.54 ดอลลาร์ หรือ 4.9% ปิดที่ 107.91 ดอลลาร์/บาร์เรล

สหรัฐออกแถลงการณ์เมื่อคืนนี้ตามเวลาไทยว่า สหรัฐฯจะระบายน้ำมันในคลังสำรองจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วันเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน และบรรเทาภาวะเงินเฟ้อในประเทศ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ แถลงในวันพฤหัสบดี ตามเวลาท้องถิ่น ว่า เริ่มเดือนพฤษภาคมนี้ สหรัฐฯจะปล่อยน้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันนาน 6 เดือนจากคลังสำรองน้ำมันด้านยุทธศาสตร์ หรือเอสพีอาร์ (SPR) พร้อมระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน และยังโจมตีบริษัทน้ำมันต่าง ๆ โดยกล่าวว่า นี่ไม่ใช่เวลาที่จะนั่งอยู่บนผลกำไรมากมายเป็นประวัติการณ์ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ดีเพื่อประเทศชาติ

นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังต้องการให้รัฐสภาสหรัฐฯ มีมาตรการลงโทษทางการเงินกับบริษัทพลังงานที่ไม่ผลิตเชื้อเพลิงเพื่อรองรับความต้องการในปัจจุบัน รวมทั้งผลักดันการขุดเจาะแร่ธาตุเพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อผลักดันพลังงานสะอาดและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีกทางหนึ่ง

ท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ สะท้อนว่าเรื่องน้ำมันยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวของสหรัฐฯ และประเด็นราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ได้กระทบต่อคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีไบเดน โดยที่ผ่านมา ไบเดน ได้สั่งระบายน้ำมันดิบจากคลังสำรองมาแล้วสองครั้ง แต่กลับไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ตลาดน้ำมันโลกมากเท่าใดนัก ซึ่งในครั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาคาดว่าราคาน้ำมันอาจลดลงได้ “อย่างค่อนข้างมีนัยสำคัญ”

หลังมาตรการดังกล่าวออกมา ราคาน้ำมันดิบโลกร่วงลงร้อยละ 5 ในการซื้อขายเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ระดับต่ำกว่า 104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ยังถือว่าสูงกว่าระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อปีก่อน

เศรษฐกิจโลก-กิจกรรมโรงงานในเอเชียชะลอตัว แรงผลักเงินเฟ้อพุ่ง-วิกฤติยูเครน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ว่า โรงงานในเอเชียส่วนใหญ่เห็นกิจกรรมที่ชะลอตัวในเดือนมีนาคมเนื่องจากดีมานด์ของจีนที่ตกต่ำและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ขณะที่วิกฤติในยูเครนได้เพิ่มความเครียดให้กับบริษัทที่ประสบปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน โดยค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงและธัญพืชที่พุ่งสูงขึ้นทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียจำนวนมากต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน

โดยญี่ปุ่นได้รับประโยชน์จากการควบคุมการติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่กิจกรรมโรงงานของจีนลดลงอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 2 ปีในเดือนมีนาคม ตามดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของภาคเอกชน (PMI) เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติยูเครนและการฟื้นตัวของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกและในประเทศ สอดคล้องกับข้อมูลอย่างเป็นทางการของวันพฤหัสบดีที่แสดงกิจกรรมในการผลิตและบริการของจีนที่หดตัวพร้อมกันในเดือนมีนาคมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 ในประเทศในปี 2563

นักวิเคราะห์กล่าวว่าการชะลอตัวของจีนส่งผลร้ายต่อเอเชีย ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ต้องพึ่งพาการบริโภคในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก กิจกรรมโรงงานของเกาหลีใต้ชะลอตัวลงในเดือนมีนาคม โดยมีคำสั่งซื้อส่งออกใหม่ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เนื่องจากบริษัทต่างๆ ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าตั้งแต่น้ำมัน โลหะ และเซมิคอนดักเตอร์

ขณะที่กิจกรรมโรงงานยังชะลอตัวในไต้หวันและเวียดนาม และหดตัวในมาเลเซีย เนื่องจากภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น 
“ช่องทางหลักสำหรับการส่งผ่านจะมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้นพลังงาน น้ำมัน ก๊าซ และอาหาร” Tai Hui หัวหน้านักยุทธศาสตร์การตลาดเอเชียของ JP Morgan Asset Management กล่าว และว่า “สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือผู้ผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตปลายน้ำบางราย พวกเขากำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนอีกเล็กน้อย” 

ในทางตรงกันข้ามญี่ปุ่นเห็นว่ากิจกรรมการผลิตขยายตัวเร็วขึ้นจากเดือนก่อนในเดือนมีนาคม เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดที่ลดลง แต่คำสั่งซื้อส่งออกของญี่ปุ่นลดลง เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศได้รับผลกระทบจากการควบคุมโรคระบาดในจีน และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากสงครามของรัสเซียในยูเครน

KTBST ชูหุ้นกลุ่มโรงกลั่น SPRC, TOP, PTTEP เด่น คาด Q1/65 กำไรแกร่ง

บล.เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) (KTBST) ส่องหุ้น "กลุ่มโรงกลั่น" คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” สำหรับกลุ่มพลังงาน โดยมีมุมมองเป็นบวกน้อยลงต่อหุ้นพลังงานต้นน้ำ ซึ่งฝ่ายวิจัยเชื่อว่าราคาพลังงานน่าจะผ่านจุดสูงสุดของปีไปแล้ว หลังสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มค่อยๆ ดีขึ้น แต่ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มโรงกลั่น ซึ่งเชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากการพิจารณาการคว่ำบาตร (sanction) พลังงานของรัสเซียโดยสหภาพยุโรป (EU)

ทั้งนี้การ sanction พลังงานจากรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์รายใหญ่ไปยังทวีปยุโรป อาจจะจะทำให้อุปทานน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปหายไปรวมประมาณ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (mbd) ทำให้ตลาดน้ำมันโลกตึงตัวมากยิ่งขึ้น จากระดับปริมาณน้ำมันสำรองคงคลังที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวอยู่แล้ว อีกทั้งฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในภูมิภาค (โดยเฉพาะจีน) ที่ใกล้เข้ามาจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่สนับสนุนส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และราคาน้ำมันดิบ (crack spread) ให้โรงกลั่นในไทยที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวของอุปสงค์การใช้น้ำมันในประเทศในปี 2565 

ทั้งนี้ในขณะที่ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไร 2565 ไว้เท่าเดิม แต่เชื่อว่าผลประกอบการ Q1/65 ที่จะออกมาแข็งแกร่งของหุ้นกลุ่มโรงกลั่น จากแนวโน้ม crack spread ที่สูงขึ้นจะทำให้ค่าการกลั่นตลาด (market GRM) ออกมาแข็งแกร่ง (โดยประเมินเบื้องต้นว่าจะสูงขึ้น 25%-35% QoQ) 

อีกทั้งฝ่ายวิจัยเชื่อว่าโรงกลั่นจะเห็นกำไรจากสต๊อกน้ำมัน (stock gain) ที่สูงตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวดีขึ้น จากสองปัจจัยนี้ ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าจะทำให้มี upside ต่อประมาณการกำไรทั้งปี ของฝ่ายวิจัย ดัชนีกลุ่มพลังงานปรับตัวสอดคล้องกับ SET ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ตามความผันผวนสูงของราคาพลังงานจากความกังวลจากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน 

ทั้งนี้มองว่าหุ้นพลังงานต้นน้ำอย่าง PTTEP ได้รับรู้ปัจจัยบวกไปก่อนหน้านี้แล้ว (outperform SET 17% ในระยะเวลา 6 เดือน) และมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบที่ยังคงสูงอยู่ จึงชอบหุ้นโรงกลั่นที่มีปัจจัยภาพรวมอุตสาหกรรมยังคงแข็งแกร่งอยู่มากกว่าและเลือก SPRC (ซื้อ/เป้า 11.50 บาท) และ TOP (ซื้อ /เป้า 70.00 บาท) เป็น Top pick ของกลุ่มพลังงาน โดยมองว่าทั้ง สองบริษัทจะรายงานกำไร Q1/65 ที่แข็งแกร่งซึ่งเป็นผล

อ้างอิง : https://www.reuters.com/world/asia-pacific/global-economy-asias-factory-activity-slows-ukraine-crisis-inflation-bite-2022-04-01/ 
KTBST Research, Reuters

ติดต่อโฆษณา!