KBANK รับกำลังพิจารณา ขายบลจ. กสิกรไทย มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท
Highlight
ข่าวธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เตรียมขายกิจการบริษัทจัดการลงทุนกสิกรไทย หรือ KAsset มูลค่าสูงถึง 67,000 ล้านบาท นับเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงธนาคาร ที่มีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อปรับทิศธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน มีความคล่องตัวขึ้น หลังจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีหลายปัจจัยที่ท้าทายการทำธุรกิจธนาคารในอนาคตที่อาจเติบโตลดลง ทั้งการมาของ Fintech,Digital Asset,การแข่งขันที่สูงขึ้น
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัท รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ว่า ชี้แจงเรื่องกระแสข่าวเกี่ยวกับ บลจ.กสิกรไทย ตามที่มีข่าวว่า บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (ธนาคาร) กำลังพิจารณาทบทวนแผนกลยุทธ์ที่มีต่อธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) นั้น ธนาคารขอเรียนชี้แจงดังนี้
ธนาคารแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและแนวทางเพิ่มเติมที่จะสร้างประโยชน์ต่อลูกค้า และผู้ถือหุ้นในทุกธุรกิจของธนาคาร รวมถึงธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญของธนาคาร ทั้งนี้ในแนวปฏิบัติดังกล่าว ธนาคารอาจจะต้องมีการหารือร่วมกันกับหลายฝ่าย ซึ่งการหารือดังกล่าวนั้นอาจจะไม่ได้ส่งผลให้มีธุรกรรมเกิดขึ้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากมีธุรกรรมเกิดขึ้น ธนาคารจะเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเวลาที่เหมาะสม
บล.ฟิลลิป คาดกำไรสิ้นปี 65 ของ KBANK สูงราว 42,000 ล้านบาท
บล.ฟิลลิป วิเคราะห์ดีลธนาคารกสิกรไทย มีแผนขายธุรกิจ บลจ. คาดอาจขายหุ้นใหญ่หรือหุ้นส่วนน้อยก็ได้ หากเกิดจริงส่งผลดีต่อการรับรู้กำไร KBANK เสริมแกร่งธุรกิจ รอความชัดเจนของดีล คาดปีนี้ธนาคารยังคงทำกำไรสิ้นปีที่ 42,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8%
นายอดิศร มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์ลงทุนด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ Bloomberg ได้รายงานข่าว ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีแผนที่จะหา Strategic Partner ในธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)
ซึ่งกสิกรไทยถือหุ้น 100% ในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย (KAsset) และมีมูลค่าการลงทุนอยู่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 66,000 ล้านบาท) โดยอาจจะขายหุ้นใหญ่หรือหุ้นส่วนน้อยก็ได้
หากเป็นจริงจะส่งผลดีต่อ KBANK ทั้งในแง่มีพันธมิตรที่จะมาเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ นอกจากนี้ การขายหุ้นออกไปจะทำให้ KBANK สามารถรับรู้กำไรจากการขายหุ้นได้ด้วย
บล ฟิลลิป ยังคงประมาณการกำไรปี 2565 ไว้ที่ 42,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (ประมาณการไม่รวมรายการพิเศษจากการขาย บลจ.) และยังคงราคาพื้นฐานไว้ที่ 176 บาท
โดยมองว่า KBANK มีความโดดเด่นทางด้านสินเชื่อ SME ซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ยังคงแนะนำ “ทยอยซื้อ”
สำนักข่าว Bloomberg ตีข่าว KBANK กำลังพิจารณาที่จะขาย KAsset ที่มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 67,000 ล้านบาท ช่วงต้นเดือนเม.ย.
สำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานว่า ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กำลังพิจารณาที่จะขายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย หรือ KAsset ที่มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 67,000 ล้านบาท
ด้วยมูลค่าดังกล่าว หากเทียบกับกำไรที่ KAsset ทำได้ในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุดที่ 2,800 ล้านบาท หมายความว่าธุรกิจ KAsset ถูกประเมินมูลค่าด้วย P/E สูงถึง 24 เท่า ซึ่งมากกว่า P/E ของธนาคารกสิกรไทยเองที่ซื้อขายกันอยู่ที่ 10 เท่า สำหรับแนวทางการขายกิจการอาจจะเป็นได้ทั้งขายทั้งหมด หรือ ขายหุ้นบางส่วนใน KAsset
ซึ่งเหตุผลสำคัญเพื่อต้องการหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบัน KAsset มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอยู่ราว 1.6 ล้านล้านบาท
ปัจจุบัน KAsset มีส่วนแบ่งตลาดในด้านทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (AUM) อยู่ที่ 18% ของตลาด ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของประเทศ
โดย KAsset มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในประเภทกองทุนรวม อันดับ 2 ในประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ทั้งนี้ สำนักข่าว Bloomberg ได้ระบุว่าการพิจารณาขายกิจการ KAsset ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายแต่อย่างใด
ซึ่งดีลที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันก่อนหน้านี้ คือดีลที่ Eastspring ได้ซื้อหุ้น 65% ของ TMBAM จากธนาคารทหารไทย เมื่อ 4 ปีก่อน ก่อนที่ธนาคารทหารไทยจะควบรวมกับธนาคารธนชาตเป็น TTB
นับเป็นมิติใหม่ของวงการธนาคารในการปรับใหญ่โครงสร้างทางธุรกิจ หลังจากก่อนหน้าที่เห็น ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ใช้วิธีคล้ายกัน โดยได้ขายธุรกิจประกันชีวิต SCB Life ให้บริษัท FWD มูลค่า 92,700 ล้านบาท แล้วผันตัวเองเป็นเพียงนายหน้าประกัน หลังจากนั้น SCB ก็แปลงร่างเป็นยานแม่ SCBX เพื่อโฮลดิ้ง คัมปะนี คอยลงทุนในธุรกิจอื่นๆ นอกจากธนาคาร
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อปรับทิศทางและตอบโจทย์ลูกค้า น่าจะเป็นคำตอบที่ธนาคารขายบางธุรกิจออกไป และกลับมาเปิดใหม่ โดยเป็น Selling Agent ขายทุกผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝากและกลุ่ม Wealth เอาไว้ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด อาศัยฐานลูกค้าและเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ธนาคารมีอยู่ ในที่สุดก็จะสร้างกลุ่มลูกค้าขึ้นมาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพมากกว่า