เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ตามคาด หุ้น ทอง ตราสารหนี้ ปรับขึ้นถ้วนหน้า!
Highlight
ตลาดหุ้นทั่วโลกคึกคัก Dow Jone กลับมาบวกเกือบ 1,000 จุด ทองคำยืนเหนือ $1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศผลการประชุมและปรับดอกเบี้ย 0.5% เป็นตามคาด ปลดความกังวลนับจากต้นปี และย้ำว่า จะไม่ขึ้นรวดเดียว 0.75% ตามที่ตลาดวิตกก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นไทยในวันนี้ปรับขึ้นตามตลาดหุ้นโลก นักวิเคราะห์ชี้แนะลงทุนหุ้น Domestic Play เน้นหุ้นเปิดเมือง และกลุ่มท่องเที่ยว
ตลาดหุ้นไทยเช้าวันนี้ ยังผันผวนแต่ตอบรับเชิงบวกต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เป็นไปตามคาด โดยดัชนี SET Index ช่วงเช้าของวันที่ 5 พ.ค. ปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 1,667.12 เพิ่มขึ้น 14.83 จุด ล่าสุดเมื่อเวลา 11.25 น. ดัชนี ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1,654.86 จุด เหลือ +2.20 จุด
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5% และเป็นไปตามคาด และประกาศจะถอนสภาพคล่องกลับในอัตราเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์
สำหรับสิ่งที่ดีกว่าคาดเล็กน้อย ก็คือ "ไม่เริ่มเลย" แต่จะรอไปเริ่ม 1 มิถุนายน และช่วง 3 เดือนแรก เฟดจะลองดูดสภาพคล่องกลับประมาณ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือครึ่งหนึ่ง) ของระดับที่ตั้งใจไว้ก่อน
จากที่ออกมาดีกว่าคาดเล็กน้อย ตลาดจึงปรับตัวเล็กน้อยเช่นกัน แกว่งตัวบวกขึ้นไปอีกนิด
แต่เมื่อถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย และเป็นหมัดเด็ด เป็น Highlight ของเมื่อคืนนี้ ตอนตี 1 ครึ่ง คือ การแถลงข่าวของท่านประธานเฟด เจอโจม พาวเวล ตลาดก็กลับมาที่เดิม คือ บวกประมาณ 90 จุด
ระหว่างการแถลงข่าวของประธานเฟดทำตลาดหุ้นผวนขึ้น-ลงสลับกัน
จากนั้นก็ถึงช่วงสำคัญ และถึง "จุดเปลี่ยน" ที่ทำให้ตลาดกลับมาคึกคัก
ช่วง 7 นาทีแรกของการแถลงข่าว ที่เป็นกระดาษ 4 หน้า เป็นช่วงที่ตลาดฟังแล้วก็กังวลเพิ่มขึ้น, ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายพาวเวล ประธานเฟดเริ่มโดยการพูดว่า Inflation is much too high และพูดย้ำประโยคนี้ระหว่างอ่านคำแถลงอีกครั้ง พร้อมด้วยบอกว่า
"There is a broad sense on the Committee that additional 50 basis point increases should be on the table at the next couple meetings."
ซึ่งหมายความว่า กรรมการเฟดยังคิดจะขึ้น 0.5% อีก 2-3 ครั้งในช่วงการประชุมข้างหน้า
ไม่ใช่ขึ้นแค่ครั้งนี้และครั้งหน้า ตามที่ทุกคนคาดการณ์กัน
ไม่น่าแปลกใจ ด้วยคำพูดที่แรงและแนวการขึ้นดอกเบี้ยที่น่าจะมากกว่าตลาดคาดไว้เล็กน้อยเช่นกัน ในช่วงการอ่านแถลงการณ์ ตลาดก็ค่อยๆ ตก จากที่บวก 90 จุด ก็กลายมาเป็นลบเล็กน้อย
สิ่งที่น่าติดตามที่สุดระหว่างการแถลงข่าวเมื่อคืน อยู่ที่ช่วงถามตอบ
ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ที่เฟดเชิญนักข่าวมาที่อาคาร และได้ซักถามกันต่อหน้าเป็นเวลาเกือบ 40 นาที
“ประโยคทองของ พาวเวล”
"ประโยคทอง" ที่ทำให้ตลาดเปลี่ยนจากที่เคยซึมๆ กลายเป็นกระทิงเปลี่ยว ทำให้เหวี่ยงขึ้นมาประมาณ 1,000 จุด เป็นผลจากคำถามที่ 2 ที่นักข่าวจาก CNBC คุณ Steve Liesman ในนาทีที่ 5 ของการถามตอบ
คุณ Steve ถามถึงการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดว่า "มีโอกาสไหมที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.75%"
ท่านประธานเฟดตอบทันทีว่า "75 basis points increase is not something that the Committee is actively considering"
พูดง่าย 0.75% ที่ตลาดหรือนักวิเคราะห์พูดกันนั้น เป็นสิ่งที่ตลาดหรือนักวิเคราะห์พูดกันไปเอง เป็นเสือที่เขียนขึ้นมากันเอง แม้จะมีกรรมการ 1 ท่านที่มักชอบออกมาพูดกับสื่อว่า อยากให้ขึ้น 0.75% แต่สุดท้ายกรรมการท่านนั้นก็ Vote 0.5% กับคนอื่นๆ
คณะกรรมการเฟด "โดยรวม" ไม่ได้พิจารณาทางเลือกนี้
ท่านประธานเฟดบอกต่อว่า ขนาดยาที่กรรมการจะใช้ คือ 0.5% ในครั้งนี้ และหากเศรษฐกิจเป็นไปตามคาด กรรมการเห็นตรงกันว่าจะพิจารณาขึ้น 0.5% ในการประชุม 2-3 ครั้งข้างหน้าต่อไป โดยจะสื่อสารกับตลาดก่อนว่า คณะกรรมการคิดอะไรเป็นระยะ
นอกจากนี้บอกว่า เฟดเริ่มเห็นว่า เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) น่าเริ่มถึงจุดสูงสุดแล้ว
เมื่อตลาดได้ยินชัดๆ เช่นนี้ กระทิงก็กลับคืนมา ตลาดหุ้นเหวี่ยง 1,000 จุดก็เกิดขึ้น
ที่เหลือก็เป็นการถามตอบทั่วๆ ไป จะมีประเด็นที่น่าสนใจก็คือ
- เฟดคิดว่าดอกเบี้ยที่เป็นเกียร์ว่าง (Neutral rate) อยู่ที่ประมาณ 2-3%
- เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็ว (Expeditiously) เพื่อให้กลับไปที่ Neutral rate
- หลังจากนั้น เฟดพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยไปสูงกว่าอัตราดังกล่าว เพื่อชะลอเศรษฐกิจ เมื่อเห็นว่าเหมาะสม
- ในส่วนเศรษฐกิจสหรัฐ เฟดยังเห็นว่าเศรษฐกิจไปได้ดี ไม่มี Recession
ปีนี้เศรษฐกิจจะมี "Solid growth" แม้ว่าจะชะลอจากปีก่อนหน้า โดยขยายตัวสูงกว่า 2%
ทั้งหมดนี้ช่วยเสริมให้ตลาดสบายใจและปรับตัวตามที่เห็น
“จึงต้องสรุปว่า ทั้งหมดมาจาก "ประโยคทอง" ของท่านประธานเฟด คนเดียว”
ดร.กอบศักดิ์กล่าว
เฟดลดงบดุลไม่แรง หุ้นวิ่งต่อ เน้นกลุ่ม Value Domestic และ Reopening Play
บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) มองแนวโน้มตลาดวันนี้ คาด SET Index ฟื้นตัวระยะสั้นในกรอบ 1,650-1665 จุด บรรยากาศการลงทุนที่ผ่อนคลายขึ้นบ้างจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวแรงหลังผลการประชุม FED ออกมาตามคาดสำหรับการขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ส่วนการลดขนาดงบดุล โดยรวมไม่แรงตามที่ตลาดเคยประเมินในช่วง 3 เดือนแรก
นอกจากนี้กลุ่มพลังงานคาดได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งแรงหลัง EU เตรียมออกมาตรการแบนน้ำมันรัสเซียเพิ่มเติม แต่อาจกดดันภาคการผลิตอื่นๆ จากความกังวลเรื่องต้นทุน ระยะสั้นยังมอง Upside การฟื้นตัวระยะสั้นไม่กว้างและดัชนียังมีแนวโน้มพักตัวในเดือน พ.ค. อย่างไรก็ตามเรามองเป็นจังหวะ “สะสมหุ้นพื้นฐาน” ในกรอบ 1,600-1,650 จุด
โดยยังคงได้อานิสงส์ระยะกลาง-ยาวจากเศรษฐกิจในประเทศทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามการ Reopening โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประเทศเต็มรูปแบบใน 2H22 ซึ่งจะช่วยหนุนให้ Fund Flow ยังอยู่ในทิศทางไหลเข้า
“กลุ่มที่ชอบยังเป็น Value Domestic และ Reopening Play ที่มี PER/PBV ไม่สูงเทียบกับในอดีตก่อน COVID-19 ได้แก่ กลุ่มธนาคาร โรงกลั่น ค้าปลีก อสังหาฯ อาหารและเครื่องดื่ม การแพทย์ เป็นต้น ส่วนระยะสั้นเลือกเก็งกำไรหุ้นที่คาดผลประกอบการ 1Q22-2Q22 แข็งแกร่ง” บล.ฟินันเซียกล่าว
เก็งกำไรหุ้นที่คาดงบ 1Q22 แข็งแกร่ง และยังเน้นลงทุนหุ้น Value และ Domestic Play หุ้นเด่นเดือนพ.ค. ได้แก่ GFPT, ILINK, SAPPE, SMT, TH
บล.เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ประเมินดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นตามตลาดโลก แม้ว่าทาง Fed ยังไม่คิดเรื่องดอกเบี้ย 0.75% แต่ปัจจัยลบด้านสงครามยูเครน และ Covid จีน ยังกดดันตลาด
โดยการประชุม FOMC คืนวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% และเริ่มทำ QT เดือนหน้า ตามที่ตลาดคาด และยังไม่มีการพิจารณาในการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% (ในครั้งหน้า) ทำให้ตลาดคลายความกังวล ราคาพันธบัตร รวมทั้งตลาดหุ้นเอเซียส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น
ฝ่ายวิจัย บล. KTBST มองผลประชุมครั้งนี้ว่า ไม่ได้ถือว่าดีต่อตลาดมาก และน่าจะช่วยตลาดแค่ 1-2 วัน จากนี้ต้องรอดูการแสดงความเห็นกรรมการ Fed ที่จะทยอยออกมา ซึ่งจะมีผลต่อตลาดในวันต่อๆไป (FOMC ประชุมครั้งต่อไป 14-15 มิ.ย.)
สำหรับสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ขณะที่ EU จะมีการสั่งระงับน้ำมันในปลายปี “เรามองว่าจะกระทบต่อกลุ่มปิโตรเคมี-โรงไฟฟ้า แต่จะบวกต่อกลุ่มน้ำมัน (PTTEP) และราคาถ่านหิน อย่างไรก็ตาม การที่ EU ประกาศไม่นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียตั้งแต่ปลายปีนี้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น 5%
ส่วนจีนยังดูน่าเป็นห่วงเรื่องของการล็อกดาวน์ในปักกิ่ง หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจจีน คาดหุ้นกลุ่ม Logistic จะยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้
ตัวแปรในประเทศในช่วงนี้ยังเป็นเรื่องของการเก็งงบผลประกอบการไตรมาสแรก อาจจะมีแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นรายตัวที่คาดว่าจะมีผลประกอบการออกมาดี
กลยุทธ์การลงทุน การที่ FOMC ไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยมากนัก คาดจะทำให้หุ้นกลุ่มธนาคาร เป็นบวกช่วงสั้นๆ จะเริ่มเห็นธนาคารกลางหลายแห่งทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยกันแล้ว โดยของไทยอาจมีการปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาดก็ได้
หุ้นในพอร์ตวันนี้ KTBST นำ SCC ออก และนำ CPN, NYT เข้ามาใหม่ หุ้นในพอร์ตประกอบด้วย TIDLOR(10%), NER(10%), TQM(10%), WICE(10%), SCB(10%), JMART*(10%)
ราคาทองคำผันผวน และปรับขึ้น 250 บาท
สมาคมผู้ค้าทองคำในประเทศ ปรับราคาทองคำขึ้น 250 บาทในการประกาศครั้งแรกในวันนี้ (5 พ.ค.) โดยราคาทองแท่งรับซื้ออยู่ที่ 30,550 บาท ขายออกอยู่ที่ 30,650 บาท ส่วนราคาทองรูปพรรณ รับซื้ออยู่ที่ 30,001.64 บาท ขายออกอยู่ที่ 31,150 บาท
บทวิเคราะห์จาก บจ.ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส ระบุว่า ราคาทอง Spot เมื่อคืนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นแรง เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่าลง หลังจากดอลลาร์แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปี จากที่เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ตามคาด และเฟดจะทยอยปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน
ทั้งนี้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า แต่ได้ปฎิเสธแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง 0.75% ทางด้านกองทุน SPDR Gold Trust ถือครองทองคำเท่าเดิม
ทิศทางในระยะสั้น แนวโน้มราคาทองคำคาดปรับตัวขึ้น โดยราคาทองคำมีแนวรับ 1,880 ดอลลาร์ และแนวรับถัดไป 1,870 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,920 ดอลลาร์ และ 1,930 ดอลลาร์
เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะ 34.04 บอนด์ยิลปรับขึ้น
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.04 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.53 บาทต่อดอลลาร์ (จากระดับปิด ณ วันที่ 3 พฤษภาคม)
ตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างที่ตลาดได้กังวลในช่วงก่อนหน้า โดยเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ตามคาด
ทางด้านตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวผันผวนพอสมควร โดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 3.00% ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ก่อนที่จะย่อตัวลงแตะระดับ 2.94% หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่า จุดสูงสุดของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ น่าจะอยู่แถว 3.00% และผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวมากขึ้น หากประเมินว่า เฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยไปมากและ Terminal Rate จะอยู่ในช่วง 3.00%-3.25%
ในฝั่งตลาดค่าเงิน ผลการประชุมเฟดที่เป็นไปตามคาดและเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปมาก ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ลง (Sell on Fact) กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 102.5 จุด จากที่แกว่งตัวเหนือระดับ 103.3 จุด ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ตาม แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทยังคงอยู่ อาทิ ความไม่แน่นอนของสงครามที่จะกดดันสกุลเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หากยุโรปตัดสินใจคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย หรือ รัสเซียยุติการส่งออกพลังงานไปยังยุโรป
นอกจากนี้ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ก็มีโอกาสที่จะกดดันสกุลเงินฝั่งเอเชียและทำให้ นักลงทุนยังไม่รีบกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น EM Asia ในระยะสั้น ทำให้
“เรามองว่า เงินบาทยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะเริ่มกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยและบอนด์ไทยมากขึ้นหรือไม่ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยง” นายพูนกล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง คงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.15 บาท/ดอลลาร์
ขอบคุณภาพ : Kobsak Pootrakool