หุ้นร่วงต่อ กังวล เฟดกลับลำขึ้นดอกเบี้ย 0.75% รอบหน้า
Highlight
เพียงชั่วข้ามคืนสถานการณ์ก็เปลี่ยนแล้ว หุ้นสหรัฐกลับลำเป็นปักหัวลงกว่า 1,000 จุดหลังจาก FedWatch Tool ของ CME Group ที่รายงานเงินเฟ้อยังสูงและการปรับดอกเบี้ยขึ้นทีละ 0.5% อาจเอาไม่อยู่ ทำให้หุ้นทั่วโลกร่วงไปพร้อมๆ กันอีกครั้ง ธนาคารกลางยุโรป และอีกหลายแห่งเริ่มประกาศขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ ด้านตลาดหุ้นไทยเป็นช่วงรับข่าวลบ ล่าสุด JP Morgan ลดน้ำหนักการลงทุนเนื่องจากมองว่าการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า เงินเฟ้อในประเทศเร่งตัว
ตลาดหุ้นไทยวันนี้ (6 พ.ค.) โดยปิดภาคเช้าที่ 1,627.61จุด ร่วง 15.69 จุด ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ ตอบรับปัจจัยหลักคือตลาดหุ้นสหรัฐที่ดิ่งลงหนักกว่า 1 พันจุดเมื่อคืนนี้ หลังจากตลาดกลับมากังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงถึง 0.75% ในการประชุมรอบหน้า ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งแรง
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยเช้านี้ร่วงลงไปลึกกว่า 20 จุด สอดคล้องกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชีย เป็นผลมาจากความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูง ทำให้นักลงทุนมองว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับชึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดที่ 0.5% อาจไม่เพียงพอ
แม้เฟดส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% ในการประชุมอีก 2 ครั้งถัดไป สวนทางกับที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 75% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย.เพิ่มขึ้นจากระดับ 19% เมื่อเดือนที่แล้ว
ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.09% ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561 ขานรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟด รวมถึงดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับ 31.20 จุด
ให้แนวรับที่ 1,600 จุด และแนวต้าน 1,630-1,650 จุด แนะนักลงทุนชะลอการลงทุนไปก่อน เพื่อรอติดตามรายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐในวันที่ 11 พ.ค.ซึ่งจะเป็นยืนยันได้ว่าตลาดมีความกังวลมากเกินไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมาได้บ้าง
บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า หลังจากที่แนะนำชะลอการลงทุนมาตลอดก่อนหน้านี้ หากในวันนี้ดัชนีลงมาที่บริเวณแนวรับแรกที่ 1,630 จุด สามารถใช้เป็นจุดในการซื้อไม้แรกได้ แต่ต้องเป็นน้ำหนักที่ยังไม่มากนัก เนื่องจาก Valuation ของดัชนียังคงอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะดูจากมาตรวัด PE หรือ EYG ที่ล่าสุดถูกกระทบหนักมากขึ้นไปอีกจาก Bond yield สหรัฐฯ 10 ปีที่สูงขึ้นทะลุระดับ 3% ไปแล้ว
โดยการเข้าซื้อหุ้นในช่วงนี้นั้น ยังคงแนะนำโฟกัสไปยังกลุ่มที่สามารถ Hedging against เงินเฟ้อได้ นั้นก็คือกลุ่ม Healthcare และกลุ่ม Consumer staple เป็นสำคัญ รวมไปถึงกลุ่มหุ้นส่งออกที่มี PE ต่ำ ที่น่าจะได้อานิงส์จากการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่แนะนำไว้ตั้งแต่ต้นเดือน เช่น ASIAN, GFPT, KSL, SUN, XO เป็นต้น ทั้งนี้สำหรับแนวรับสำคัญของดัชนีประจำเดือนนี้ ยังคงมองไปที่บริเวณเดิม 1,580-1,600 จุด
บล.ไทยพาณิชย์ มองว่าความเสี่ยงภายนอกยังเป็นปัจจัยหลักกดดันการฟื้นตัวของตลาดหุ้น และมองตลาดมี Downside จากการปรับลดประมาณการกำไร เพื่อสะท้อนผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่ทรงตัวสูง กลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนำ “Selective Buy ไม่ไล่ราคา” ในหุ้นเชิงรับที่มีคุณภาพ และ/หรือ มีปัจจัยบวกเฉพาะ
JP Morgan ลดน้ำหนักลงทุนหุ้นไทย หลังท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า
ด้าน JP Morgan หรือ เจ.พี. มอร์แกน ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญของไทย ขณะที่กำลังซื้อในประเทศยังถูกกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ
เจ.พี. มอร์แกน ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเผชิญกับปัญหาหลายประการ ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
นอกจากนี้การกลับมาแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในจีน และนโยบาย Zero-COVID ยังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยอีกด้วย
“นโยบายปลอดโควิดของจีนและเงินทุนไหลออกเมื่อเร็วๆ นี้ มีแนวโน้มว่าจะชะลอการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีนขาออก” JPM กล่าว
จากเหตุผลดังกล่าว ฝ่ายวิจัยและแนะนำการลงทุนจึงปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย เป็น ‘Neutral’ จากเดิม ‘Overweight’
ทั้งนี้ ประเทศไทยหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของโลกก่อนเกิดโรคระบาด และเป็นหนึ่งในประเทศแรกในเอเชียที่เปิดให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว ภายใต้มาตรการกักตัวที่กำหนด
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นสัดส่วน 12% ของ GDP ประเทศ ในปีก่อนเกิดโรคระบาด โดยในปี 2562 นักท่องเที่ยวมากกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนที่มาเยือนประเทศไทยเป็นชาวจีน ขณะที่ในปี 2565 ประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศราว 5-10 ล้านคน เช่น มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้