10 พฤษภาคม 2565
7,990

เงินบาทอ่อนในรอบ 5 ปี เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าในรอบ 20 ปี เพราะอะไร?

เงินบาทอ่อนในรอบ 5 ปี เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าในรอบ 20 ปี เพราะอะไร?
Highlight

ค่าเงินบาทอ่อนค่าในรอบ 5 ปี ค่าเงินเยนอ่อนค่าในรอบ 20 ปี เช่นเดียวกับค่าเงินในหลายๆประเทศก็อ่อนค่าเช่นกัน ในขณะที่ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐแข็งค่า ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากสหรัฐเตรียมขึ้นดอกเบี้ยและลดวงเงิน Quantitative Tightening (QT) คืv นโยบายดึงสภาพคล่องออกจากระบบด้วยการปล่อยให้พันธบัตรที่ซื้อมาครบอายุ ในขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ค่าเงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าเกือบทั่วโลก


เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าในรอบ 5 ปี เหตุดอลลาร์แข็งค่าหนัก นักเศรษฐศาสตร์ชี้หากประเทศใดไม่ขึ้นดอกเบี้ยต้องรับผลกระทบเรื่องค่าเงิน ความท้าทายการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทุกประเทศในปีนี้ ด้านเยนอ่อนค่าหนักในรอบ 20 ปี นโยบายการเงินสวนทางสหรัฐหวังกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโต

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก ถึงเงินบาทที่อ่อนค่าช่วงนี้ว่า “ทำไมบาทอ่อน ? เพราะฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้ ความท้าทายของนโยบายการเงิน ในวันที่เศรษฐกิจฟื้นไม่เท่ากัน”

สังเกตว่าช่วงนี้เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับค่าเงินแกว่งบ่อยขึ้น ทั้งค่าเงินเยนที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบหลายสิบปี ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ไปแล้ว ค่าเงินหยวนของจีนที่เริ่มอ่อนค่าลง 

ส่วนหนึ่งมาจากแนวนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐที่ส่งสัญญาณแตะเบรกเศรษฐกิจ ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยและดูดสภาพคล่องออกขึ้นเพื่อจัดการกับแรงกดดันเงินเฟ้อ สิ้นปีนี้อาจจะเห็นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ จาก 0.5% ขึ้นไปเกิน 3% ก็ได้ 

“ส่งให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมาก สวนกระแสดอลลาร์ล่มสลาย เหมือนกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก”

ดร.พิพัฒน์ชี้ว่าหากประเทศใดพยายามไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามเพื่อรักษานโยบายภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาคือความเสี่ยงที่อาจจะต้องเจอกับค่าเงินที่อ่อนค่าลง ซึ่งค่าเงินที่อ่อนค่าลง จะเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และกดดันให้หลายประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม แม้จะขัดแย้งกับเป้าประสงค์ของนโยบายภายในประเทศก็ตาม

“ประเทศไทยก็เช่นกัน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทบต่อค่าเงิน ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แบงก์ชาติไม่อยากปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแน่ ๆ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น หนี้ครัวเรือนสูง NPL ยังแก้ไม่หมด แต่แบงก์ชาติอาจจะถูกกดดันให้ขึ้นดอกเบี้ยก่อนที่ต้องการ หรืออัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจจะขยับขึ้น

20220510-b-01.jpg

ทำไมเงินเยนอ่อนค่าในรอบ 20 ปี

1. ความแตกต่างของนโยบายการเงิน (Monetary policy divergence)  

การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เป็นผลให้ยังคงใช้นโยบายการเงินขยายตัวต่อไป ซึ่งสวนทางกับสหรัฐที่ต้องการถอนสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ สกัดความรุนแรงของภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาจากทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและภาวะสงคราม ซึ่งต้องใช้หันไปใช้นโยบายการเงินหดตัว ความแตกต่างของนโยบายการเงิน (Monetary policy divergence) ตรงนี้เองคือ ปัจจัยทำเงินเยนอ่อนค่าลงในรอบ 20 ปี 

ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ได้ประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยจาก 0 - 0.25% สู่ระดับ 0.25 - 0.5% ต่อปี ซึ่งมีการส่งสัญญาณที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยฯ อีก 6 ครั้งในปีนี้ โดยจะเป็นการปรับขึ้นครั้งละ 0.25% นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ว่า จะมีการถอนมาตรการ QE หลังจากอัตราดอกเบี้ยถูกปรับขึ้นแล้ว 

โดยทาง Goldman Sachs คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี  ซึ่งทิศทางนโยบายดังกล่าว ทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจลดลง ความร้อนแรงของเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อจึงชอละตัวลงตาม ขณะเดียวกันก็ทำให้ผลตอบแทนในการฝากเงินและลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐนั้นปรับเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย แต่ในทางตรงข้าม ญี่ปุ่นไม่ได้เผชิญสถานการณ์เช่นเดียวกับสหรัฐ 

โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ตลอดทั้งปี 2565 นั้นอยู่เพียงระดับ 0.5% ต่อปี ต่ำกว่าสหรัฐราว 3% ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นจึงยังเร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีก แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต่ำมากที่ระดับ -0.1% และยังคงดำเนินมาตรการทางการเงินอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วก็ตาม อีกทั้งรัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี 2565 ด้วยวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์ ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย   

ดังนั้น เมื่อนำสถานการณ์ของสหรัฐและญี่ปุ่นมาเทียบกัน ก็พบว่าผลตอบแทนของสินทรัพย์สหรัฐนั้นเข้าสู่ช่วงขาขึ้น และมีทิศทางว่าปรับตัวสูงขึ้นต่อไปอีก สวนทางกับสินทรัพย์ญี่ปุ่นที่ยังอยู่ในขาลง  จึงเกิดความต้องการเทขายเงินเยนญี่ปุ่นเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวนมาก นำมาสู่การไหลออกของเงินทุนสุทธิ (Net Capital Outflow) และยิ่งการไหลออกของเงินทุนสุทธิมีขนาดใหญ่มากเท่าไร ก็เป็นผลให้เกิดการอ่อนค่าของเงินเยนนั่นเอง 

2. ความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น  

ด้วยความแตกต่างของสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น จึงทำให้การดำเนินนโยบายมีทิศทางตรงกันข้ามกัน  โดยสหรัฐ เป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 อย่างรวดเร็ว ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ กระตุ้นการจับจ่าย หนุนราคาสินค้าและบริการปรับตัวขึ้นสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐเดือนธ.ค. 2564 พุ่งทำสถิติในรอบ 40 ปี มาอยู่ที่อัตรา 7% จึงเป็นเหตุให้เฟดส่งสัญญาณในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

ต่อมาในปี 2565 ระดับเงินเฟ้อของสหรัฐก็ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อเดือนม.ค. และก.พ. ก็ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี มาแตะที่ 7.5% และ 7.9% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลกระทบของภาวะสงคราม แต่เป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ 

ดังนั้น ภาวะเงินเฟ้อในจะรุนแรงขึ้นอีก จากการถูกซ้ำเติมจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในภาวะสงคราม ทำให้วาระสำคัญของเฟดคือการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หรือควบคุมระดับเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ตรงนี้จึงเป็นผลให้สหรัฐมีความจำเป็นต้องถอนสภาพคล่องออกจากระบบด้วยการปรับทิศทางนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี 

ขณะเดียวกัน จากวิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี 2533 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะซบเซายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ หรือที่เรียกกันว่า “Lost Decades” แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นในแต่ละสมัยจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ

20220510-b-02.jpg

แต่ก็เกิดภาวะที่เรียกว่า กับดักสภาพคล่อง (Liquidity trap) และภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ที่ทำให้การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถสร้างการเติบโตได้เท่าที่หวัง

และที่สำคัญก็คือ งบประมาณในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมีที่มาจากการก่อหนี้สาธารณะ โดยญี่ปุ่นมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีแตะ 100% ตั้งแต่ปี 2544 และทะลุตัวเลข 200% ต่อจีดีพีในปี 2553 

ซึ่งก็เป็นที่มาว่าทำไม เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังอยู่ในภาวะซบเซาเช่นเดิม และยิ่งมาเจอวิกฤติโควิด-19 ซ้ำเติมลงไป จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลยังต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดในปี 2564 ที่ผ่านมา “หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่ 270% ต่อจีดีพี ทำสถิติสูงที่สุดในโลก” ดังนั้นญี่ปุ่นจึงมีความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แม้จะสวนทางกับประเทศอื่นๆ 

ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาในข้างต้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเยนร่วงลงหนักในรอบ 20 ปี และยังคงอ่อนค่ามาตลอดเดือนเมษายน และแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในเดือนพฤศภาคมนี้ เป็นไปได้ว่า  ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี หลังยุคโควิดคลี่คลาย 

อ้างอิง : บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ ,ธนาคารกรุงเทพ

ติดต่อโฆษณา!